KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ชวนดู !! เหตุผลที่ควรศึกษาการป้องกันคอร์รัปชันของ ฮ่องกง เดนมาร์ก เยอรมนี

ชวนดู !! เหตุผลที่ควรศึกษาการป้องกันคอร์รัปชันของ ฮ่องกง เดนมาร์ก เยอรมนี 

 

การคอร์รัปชันมีอยู่ในทุกโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ก็จะเป็นที่หมายตาของนักการเมือง ข้าราชการ หรือเอกชนที่จ้องจะทุจริต เพราะมีเงินลงทุนสูง โอกาสเรียกรับสินบนหรือหักเงินทอนก็สูงตามไปด้วย ทำให้หลายครั้งโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จึงเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและความไม่โปร่งใส ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่มีประสิทธิภาพตามมาด้วย ตัวอย่างเช่น การลงทุนแต่ได้ผลลัพธ์ไม่คุ้มค่า ต้องแก้งานเยอะจนงบบานปลาย ใช้งานไม่ได้จริง ไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเงินที่จ่ายไปก็ไม่ใช่เงินของใคร แต่เป็นเงินภาษีของประชาชนอย่างเรา ๆ นี่เอง 

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะมาเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันการคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ โดยงานวิจัย เรื่อง “ธุรกิจ รัฐ และคอร์รัปชัน” (2543) ของผาสุก พงษ์ไพรจิต และคณะ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันและการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการ รวมถึงนำเสนอกรณีศึกษาจากต่างประเทศเพื่อเป็นตัวอย่างของแนวทางการป้องกันคอร์รัปชันที่นำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยเอาไว้ด้วย KRAC Corruption จึงได้หยิบประเด็นบางส่วนของงานวิจัยเกี่ยวกับแนวทางป้องกันการคอร์รัปชันจากต่างประเทศเป็นกรณีศึกษาทั้งหมด 2 ประเทศ กับ 1 เขตบริหารพิเศษ ได้เเก่ ฮ่องกง เดนมาร์ก และเยอรมนี มาเล่าให้ฟัง 

ฮ่องกงกับระบบคณะกรรมการกลาง (Tender Board) :

ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษที่อยู่ภายใต้อำนาจของประเทศจีน ซึ่งมีมาตรการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันสูง จึงมีความน่าสนใจที่จะเป็นตัวอย่างในการศึกษาเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันการคอร์รัปชันในกระบวนจัดซื้อจัดจ้าง โดยงานวิจัยนี้ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของ ICAC หรือ Independent Commission Against Corruption ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการอิสระเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันของฮ่องกง  

การป้องกันการคอร์รัปชันในกระบวนจัดซื้อจัดจ้างของฮ่องกง ประกอบด้วยคณะกรรมการกลาง (Tender Board) ที่จะเข้ามาดูแลและบริหารการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความเป็นธรรม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 คณะหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่  

  1. คณะกรรมการพิจารณาประมูลกลาง (Central Tender Board)
  2. คณะกรรมการพิจารณาการประมูลหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Supplier Department tender Board)
  3. คณะกรรมการพิจารณาการประมูลสาธารณะ (Public Works Tender board)
  4. คณะกรรมการพิจารณาการประมูลทางทะเล (Marine Department Tender Board)
  5. คณะกรรมการพิจารณาการประมูลหน่วยงานสิ่งพิมพ์ (Printing Tender Board)

แต่ละคณะจะมีหน้าที่การทำงานตามประเภทและมูลค่าโครงการแตกต่างกันออกไป เทียบกับประเทศไทยซึ่งเป็นแบบคณะกรรมการแต่งตั้งจากหัวหน้าส่วนราชการในแต่ละโครงการเป็นครั้ง ๆ ไป การมีคณะกรรมการกลางแบบฮ่องกงจะมีความเป็นอิสระ ทำให้คณะกรรมการมีความโปร่งใสมากกว่า อีกทั้งยังไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นราชการ การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจึงมีความรวดเร็วเพราะมีการแยกประเภทและวงงบประมาณ ทำให้เกิดความชำนาญและมีข้อมูลที่แน่นอน ถือเป็นการช่วยลดการคอร์รัปชันเพราะไม่มีความเสี่ยงจากการสมยอมกับบริษัทรับเหมาที่เป็นพรรคพวก 

เดนมาร์กกับระบบใบรับรองการแข่งขันจัดซื้อจ้าง :

ประเทศเดนมาร์กมีพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เป็นแม่แบบให้กับกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่มประเทศยุโรป (EU Procurement Directives) เดนมาร์กจึงเป็นหนึ่งประเทศที่มีความสำคัญในการนำมาศึกษา สิ่งที่น่าสนใจของประเทศเดนมาร์กคือระบบ ใบรับรองการให้บริการ (Service Certificate)” ที่ออกโดยตัวแทนบริษัทพาณิชย์ Commerce and Company Agency หรือ CCA โดยบริษัทที่จะได้รับใบรับรองนี้ต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือการช่วยยืนยันตัวตนบริษัทที่เข้าร่วมประมูล  

นอกจากนี้ เดนมาร์กยังมีกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลได้จากหลายสาเหตุ เช่น ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมประมูลมีหนี้สินมากกว่า 100,000 DDK หรือประมาณ 5 แสนบาทไทย หรือผู้ประมูลที่ละเลยการแจ้งข้อมูลให้กับหน่วยงาน ระบบจะบังคับให้ผู้ประมูลต้องแจ้งรายละเอียดของผู้ร่วมหุ้น หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีการจ้างรับเหมาอีกต่อหนึ่ง ทำให้เกิดความโปร่งใส เพราะหากไม่ทำตามระเบียบก็จะถูกถอดถอนจากการประมูลแข่งขัน ถ้าหากประเทศไทยมีระบบเดียวกันนี้ ก็จะช่วยลดโอกาสการเข้ามาประมูลของบริษัทที่มีหนี้ หรือขาดสภาพคล่อง อาจจะเกิดปัญหาระหว่างดำเนินโครงการได้ เช่น กรณีราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและบริษัทจัดการไม่ไหวจนเดือดร้อนมาถึงรัฐที่ต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แทน  

เยอรมนีกับระบบการตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมแข่งขันการจัดซื้อจ้าง :

ประเทศเยอรมนีหรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับการป้องกันการคอร์รัปชัน และมีกฎหมาย Lorenz Bölinger (2543) ที่มีเนื้อหาครอบคลุม ในการตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลที่มีการกระทำผิด ที่ไม่ใช่แค่การกระทำทุจริตแต่รวมไปถึงการกระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งกันเสนอราคาอย่างอิสระของผู้ยื่นประมูลรายใดรายหนึ่ง หรือการที่ผู้มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ภายใต้การชี้นำของผู้เข้าร่วมประมูล  

โดยกฎหมายการตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลจัดซื้อจัดจ้างของเยอรมนีมีสองกรณี กรณีแรกคือผู้ประมูลต้องโทษอาญา เช่น โทษที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน โทษที่เกิดจากการคุกคามคู่แข่งขันรายอื่น หรือโทษจากการใช้แรงงานเถื่อน สองคือกรณีผู้ประมูลไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเข้าร่วมประมูล โดยจะถูกตัดสิทธิ์ไม่เกิน 2 ปี ระบบการตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมนี้จะมีการสอบสวนอย่างละเอียด และช่วยคัดผู้ร่วมประมูลที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้โครงการเกิดความเสียหายออก พร้อมทั้งมีการบันทึกข้อมูลผู้เข้าแข่งขันการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้กระบวนการจัดซื้อจ้างเป็นระบบมากขึ้น และสามารถป้องกันการคอร์รัปชันจากผู้เข้าร่วมแข่งขันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากการดำเนินโครงการ 

3 ระบบจาก 2 ประเทศ 1 เขตบริหารพิเศษที่กล่าวไป มีความน่าสนใจของระบบ และมีจุดเด่นในการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่แตกต่างกันออกไป ที่น่าเอามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย แต่หากจะนำมาใช้ในประเทศไทยก็อาจจะต้องปรับไปตามบริบทให้เหมาะสม ถ้าหากทำได้จริง นอกจากจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสจากการมีระบบควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถคัดกรองผู้แข่งขันที่ทุจริตออกจากระบบได้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของหน่วยงานรัฐ และลดการสูญเสียงบประมาณของประเทศไทยไปอย่างเปล่าประโยชน์จากการคอร์รัปชันอีกด้วย  

#จัดซื้อจัดจ้าง #ข้าราชการ #เดนมาร์ก #เยอรมนี #ฮ่องกง #คอร์รัปชัน #ทุจริต #ต้านโกง #โกง #KRAC #KRACCorruption 

——————

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

ผาสุก พงษ์ไพรจิต และคณะ. (2543). รายงานผลวิจัย เรื่อง ธุรกิจ รัฐ และคอร์รัปชัน. สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I ในสังคมที่มีความร่วมมือหรือความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง รัฐจะสร้างประโยชน์จากข้อค้นพบนี้อย่างไร ?

มุมมองของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ หนึ่งกลุ่มจ่ายภาษี อีกกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาบริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์ แต่มีหลายครั้งที่โครงการไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น ศาลาสร้างทิ้งไว้ไม่มีคนใช้ จนบางครั้งประชาชนต้องลงแรงทำกันเอง

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | หลังฉากความสำเร็จการพัฒนาโครงการ งบประมาณถึงมือชาวบ้านหรือมือใคร ?

ทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกหลายโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการพัฒนาชุมชน แต่กลับสูญเปล่า หรือไม่คุ้มค่ากับที่ตั้งใจไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ฝันไกลว่าอยากให้ชุมชนพัฒนาแค่ไหน แต่งบประมาณกลับไปไม่ถึง

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ลดการโกง ผ่านการสร้างวัฒนธรรมชุมชนที่ดี

หากกล่าวถึง “สาเหตุของคอร์รัปชัน” สิ่งแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงอาจเป็น นักการเมืองที่จ้องจะโกงหรือตัวกฎหมายที่มีช่องว่างให้คนโกง แต่จริง ๆ แล้วเรื่องใกล้ตัวอย่าง “วัฒนธรรมชุมชน” ก็เป็นหนึ่งในกลไกที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันได้เช่นกัน

You might also like...

KRAC Insight | รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน

รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน จากทีม Open Data ของเครือข่าย “SEA-ACN”

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้