การสังเคราะห์การทุจริตเชิงนโยบายเพื่อการออกแบบระบบและพัฒนกลไกการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายของไทย

เมื่อการทุจริตเชิงนโยบายเริ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการก่อตัวของนโยบาย การตัดสินใจนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ การติดตามตรวจสอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ และการประเมินผลนโยบาย ดังนั้น การสกัดกั้นปัญหาจึงต้องวิเคราะห์ และสังเคราะห์ อย่างรอบด้าน

การทุจริตเชิงนโยบาย (Policy Corruption) เป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีกลไกเพื่อการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย

ยกตัวอย่าง การออกแบบมาตรการทางกฎหมายและอื่น ๆ ในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย อันเกิดจากกระบวนการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความโปร่งใส การออกแบบกฎหมายเกี่ยวกับเกณฑ์ความรับผิดทางกฎหมายอันเกิดจากคณะรัฐมนตรีในการเสนอโครงการ หรือดำเนินโครงการใด ๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ การออกแบบและเสนอแนะมาตรการ กลไกเพื่อการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคม ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบโครงการอันเกิดจากการดำเนินงานของรัฐ เป็นต้น

จากสาเหตุดังกล่าว จึงนำมาสู่วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ 

  1. ศึกษา วิเคราะห์และสังเคราะห์วงจร และกระบวนการเกิดการทุจริตเชิงนโยบายในระดับชาติ

  2. จัดทำข้อเสนอแนะ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำนโยบายสาธารณะ กลไกการตรวจสอบในขั้นตอนต่าง ๆ และหน่วยงานที่รับผิดชอบและกำหนดความรับผิดทางกฎหมาย

  3. ศึกษา ออกแบบระบบ มาตรการ กลไกทางกฎหมายและอื่น ๆ เพื่อการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในขั้นตอนการก่อตัวของนโยบาย การตัดสินใจนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ การติดตามตรวจสอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ การประเมินผลนโยบาย เสนอแนะการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย โดยการจัดทำร่างแบบจำลอง (Model) ของกระบวนการทุจริตเชิงนโยบายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปัจจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษา พบว่า การทุจริตเชิงนโยบายมีที่มาจากกระบวนการทางนโยบายตั้งแต่การก่อตัวของนโยบาย การกกำหนดนโยบาย การตัดสินนโยบาย ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของฝ่ายบริหารทั้งในระดับชาติและระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งฝ่ายบริหารมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการทางนโยบาย อย่างไรก็ดี การจะถือว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบายได้นั้นจะต้องปรากฏว่ามีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติแล้วเกิดผล กล่าวคือมีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือพวกพ้อง  

สรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัย

  • จากการศึกษาพบว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อีกทั้งยังเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 3 “สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล 
  • ความพยายามในการสร้างกลไกการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย นอกจากวิธีถ่วงดุลตรวจสอบระหว่างองค์กรทางการเมืองตามระบบรัฐสภา หรือโดยองค์กรอิสระต่าง ๆ แล้ว พบว่าแนวทางดังกล่าว ยังคงมีช่องว่างหรือข้อจำกัดอยู่ ดังนั้น กระบวนการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายต้องมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้การสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 สรุปข้อเสนอแนะจากงานวิจัย

  • ขั้นตอนการก่อตัวเชิงนโยบาย ควรให้อำนาจ ก.ก.ต. กำหนดกติกาในการใช้นโยบายพรรคการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้งและมีอำนาจควบคุม แจ้งเตือนเท่าที่จำเป็นโดยไม่กระทบต่อหลักประชาธิปไตย และภาคประชาสังคมควรตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้ง  
  • ขั้นตอนการกำหนดนโยบาย ควรกำหนดให้การแถลงนโยบายต่อสภา มีการลงมติในรายประเด็นเพื่อใช้กลไกทางรัฐสภาในการตรวจสอบการกำหนดนโยบายของฝ่ายบริหาร และให้สำนักงบประมาณของรัฐสภามีหน้าที่ในการวิเคราะห์นโยบาย  
  • ขั้นตอนการตัดสินใจนโยบาย รัฐสภาควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำโครงการของรัฐ และควรให้สำนักงบประมาณของรัฐสภาทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลต่อรัฐสภาในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณและการควบคุมตรวจสอบงบประมาณ อีกทั้ง ภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลในการจัดทำโครงการที่ครบถ้วน ถูกต้อง ปราศจากอคติเพื่อให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ 
  • ขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ควรมีการใช้กลไกทางรัฐสภาในการถ่วงดุลอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบาย และองค์กรตรวจสอบทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเมื่อพบโอกาสในการนำนโยบายไปก่อให้เกิดการทุจริต ส่วนภาคประชาสังคมต้องมีบทบาทในการสอดส่อง ตรวจสอบและนำเสนอต่อสาธารณะถึงการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย 
  • ขั้นตอนการประเมินนโยบาย ควรใช้กลไกรัฐสภาในการติดตามและประเมินผลการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ และฝ่ายบริหารควรจัดให้มีการประเมินการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นช่วงเวลา โดยอาจกำหนดให้มีการประเมินในระหว่างดำเนินการเป็นรายไตรมาส หรือติดตามความก้าวหน้าเป็นระยะ เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ทันท่วงที นอกจากนี้ สำนักงบประมาณ ควรนำผลการประเมินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานในปีงบประมาณต่อไป 
เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

พัชรวรรณ นุชประยูร, อมรรัตน์ กุลสุจริต, สุปรียา แก้วละเอียด, ศักดิ์วุฒิ วิบูลสมัย และกวินา กิจกำแหง. (2563). การสังเคราะห์การทุจริตเชิงนโยบายเพื่อการออกแบบระบบและพัฒนากลไกการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายของไท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2563
ผู้แต่ง
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัชรวรรณ นุชประยูร 
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรรัตน์ กุลสุจริต 
  • รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด 
  • พันตำรวจโท ดร.ศักดิ์วุฒิ วิบูลสมัย 
  • นางสาวกวินา กิจกำแหง 
หน่วยงาน

หัวข้อ
Related Content

โครงการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตจากนโยบายและโครงการของรัฐ

งานวิจัยนี้ จะพาไปทำความเข้าใจรูปแบบ คุณลักษณะ และวิธีการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือโครงการของรัฐเพื่อหาวิธีการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตที่เกิดขึ้น

โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยใช้อำนาจรัฐ

ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

เพื่อประมาณการต้นทุน รายรับ การขาดทุน ต้นทุนสวัสดิการสังคมของโครงการรับจํานําข้าวเปลือก และประมาณการผลตอบแทนส่วนเกินที่ตกแก่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์การแสวงหาค่าเช่า และศึกษาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง

You might also like...

KRAC Hot News I เมื่ออคติทางเพศเปิดทางให้เกิดการคอร์รัปชัน ทางออกอยู่ที่ธรรมาภิบาล

บทความนี้จะพาทุกท่านไปเจาะลึกในสถานการณ์การเลือกปฏิบัติทางเพศของไทย การคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ และแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยธรรมาภิบาล

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : องค์กรย้อนแย้งลักลั่นและเกมผักชีโรยหน้าในดินแดนมัชฌิมา

“ถึงทุกท่านที่ผ่านมาพบโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าท่านเป็นใคร ข้าขอให้จดหมายฉบับนี้เป็นคำเตือนจากดินแดนมัชฌิมา ดินแดนของข้าที่ความจริงและความลวงถูกพร่ามัวไปด้วยหมอกแห่งอำนาจและความย้อนแย้งได้โปรดพิจารณาจดหมายฉบับนี้อย่างถี่ถ้วน และอย่าได้ซ้ำรอยดินแดนแห่งนี้ด้วยเถิด”

ยุุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชน

จากการวิเคราะห์ TOWS Matrix 4 ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐ สามารถพัฒนาเป็นโมเดลยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชนได้