คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : รักต้องเปิด : ถ้าแน่นอกคงต้องเปิด(ข้อมูล)ออก

“ขอดูเธอหน่อย ฉันเองก็เปิดแล้ว…” ท่อนหนึ่งในเพลงดัง รักต้องเปิด(แน่นอก) ของศิลปิน 3.2.1 และใบเตย อาร์สยาม เนื้อเพลงข้างต้นอาจจะเป็นความในใจของใครหลายๆ คนที่พยายามจะเปิดเผยอะไรบางอย่างที่อาจไม่ใช่หน้าที่ของตน บางคนเปิดเพราะรู้สึกว่าต้องทำ หรือบางคนก็เปิดเพราะต้องการสร้างอะไรใหม่ๆ และเมื่อพวกเขาพยายามจนเปิดมันออกมาได้แล้ว ก็ขอให้อีกฝ่ายเปิดหรือทำบ้าง หลายครั้งก็มักไม่ได้การตอบรับหรือทำอะไรกลับมาเลย เรื่องราวทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นจากความรัก และเพราะว่าความรักนั้นสวยงาม หลากหลาย และเจ็บปวด จึงทำให้เราต่างเลือกที่จะทำตามรูปแบบความรักที่เรา(คิดว่า)เข้าใจ และเนื่องในโอกาสวันแห่งความรักเช่นนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอมุมมองแห่งความรักที่อยู่ภายใต้การกระทำทุกๆ อย่าง ซึ่งรวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่อาจเป็นความรักที่กระทบต่อชีวิตของเราทุกคนในทุกมิติ

ความรัก เป็นหนึ่งในคำที่คนมักผูกมันไว้กับเรื่องสวยงาม ความสบายใจ หรือความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งจริงหรือไม่จริงคงไม่ต่างกับเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไหน ความรักคงเป็นหนึ่งในแรงผลักดันหรือฉุดรั้งที่สำคัญต่อการกระทำอะไรหลายๆ อย่าง และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐก็เช่นกัน โดยหลังจากนี้ ผู้เขียนขอใช้คำว่า “การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ” แทนการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เพราะ หนึ่งในหลักการของ Open Government โดย Open Government Partnership (OGP) ได้พูดถึงการทำข้อมูลเปิด (Open Data) และการเปิดเผยข้อมูลให้สามารถใช้ได้เป็นสาธารณะที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่ต้องการทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มความร่วมมือนี้ และพัฒนาไปสู่ความเป็นสากล

ก่อนจะไปไกล ผู้เขียนขอวนกลับไปที่เรื่องความรักที่พูดถึงไปช่วงแรก ที่หลายๆ คนหรือหลายๆ องค์กรต่างใช้ความรักขับเคลื่อนความพยายามที่จะเปิดเผยข้อมูลหลายๆ ชุดที่พวกเขาไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง หากแต่เป็นความรักที่ทำให้พวกเขายังคงพยายามจนสำเร็จในหลายๆ ครั้ง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้ให้ทุกคนเข้าถึงความรักของพวกเขาไปพร้อมๆ กัน อย่างเครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน หรือ ACT Ai (actai.co) โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ใช้ความรักต่อสังคมปลอดการทุจริตคอร์รัปชันในการพยายามสร้างโอกาสให้ประชาชนมีเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐผ่านการเปิดเผยและเชื่อมโยงชุดข้อมูลเข้าด้วยกันรวมถึงเปิดเผยเป็นสาธารณะ หรือจับตารัฐสภาไทย (parliamentwatch.wevis.info) โดย WeVis ที่ใช้ความรักต่อกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยสร้างช่องทางให้ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐสภามากขึ้น และหวังให้เกิดประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมไปจนถึงการติดตามตรวจสอบในที่สุด

ตอนนี้ทุกคนคงพอเข้าใจมุมมองความรักกับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะจากภาคประชาชนขึ้นมาบ้างแล้ว แต่อย่างที่บอกในตอนแรกว่า เมื่อมีความพยายามเปิดเผยจนสำเร็จแล้ว เกิดการขอหรือทวงถามกลับไปที่หน่วยงานเจ้าของข้อมูลแล้วกลับกลายเป็นความรักที่น่าผิดหวัง ฝ่ายหนึ่งพยายามใช้ความรักเพื่อสร้างอะไรบางอย่าง แต่อีกฝ่ายอาจไม่เป็นแบบนั้น ทำไมผู้เขียนถึงบอกเช่นนี้ ลองไปดูมุมมองของอีกฝ่ายไปด้วยกัน

เริ่มจากข้อมูลที่อาจอยู่ในความสนใจของหลายๆ คนในช่วงนี้อย่างข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้มีหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 (3) ประกอบกับมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ 2561 ต้องยื่นให้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อป้องกันและปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่เกิดหรืออาจจะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการเปิดเผยอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือสำนักงาน ป.ป.ช. (asset.nacc.go.th/dcs-app) และขอให้ทุกคนหายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ และกดเข้าไปสำรวจดูไปพร้อมๆ กัน พอเข้าไปทุกคนคงเห็นเว็บไซต์ที่มีลักษณะคล้ายๆ Google ที่ไว้ค้นหาชื่อผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน มีการแยกประเภทของบุคคลไว้ทางซ้ายและมีช่องใส่ข้อมูลสำหรับการค้นหาอยู่ทางด้านขวา ก่อนที่จะลองหาข้อมูล ผู้เขียนอยากให้ทุกคนลองใช้ความรักในความโปร่งใสและการไม่ทำการทุจริตจินตนาการถึงรูปแบบที่อยากจะเห็นว่าข้อมูลควรออกมาให้เราเห็นแบบไหน แล้วลองพิมพ์ชื่อ สส. สักคนที่รู้จักและรอการประมวลผลสักครู่ หรือกดไปที่ชื่อของคนที่ขึ้นอยู่ในหน้าแรกสักคนแล้วมาดูกันว่าความรักของเราจะผิดหวังหรือไม่

หลังจากทุกคนได้เปิดข้อมูลดูแล้วก็คงรู้สึกต่างกันออกไป แต่ก็คงจะมีคนที่รู้สึกผิดหวังกับความรักที่ส่งผ่านมาสู่การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะอย่างข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอยู่บ้าง เพราะข้อมูลที่เห็นกลับเหมือนเอกสารรายงานที่หลายคนเคยอ่านกันในกระดาษ จะคัดลอก ลากคลุม หรือแม้แต่จะดาวน์โหลดมาเพื่อเก็บไว้ดูในภายหลังก็ทำไม่ได้ แล้วความรักแบบนี้คือความรักในอะไร ความรักในวิธีดั้งเดิม หรือความรักในสิ่งใด สิ่งนี้ผู้เขียนขอทิ้งไว้ให้ทุกคนตัดสินด้วยความรักในการเป็นพลเมืองในประเทศประชาธิปไตยแห่งนี้แล้วกัน และขอพาไปสำรวจสิ่งที่คล้ายๆ กันอีกสักหน่อยอย่างฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง (poldata.actai.co) ที่เป็นหนึ่งในฟังก์ชันของ ACT Ai ที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้ ที่เมื่อเข้าไปคงเห็นหน้าตาอีกแบบหนึ่งผู้เขียนจะขอรบกวนให้ทุกคนสูดหายใจเข้าและออกลึกๆ ช้าๆ อีกครั้ง นึกถึงจินตนาการที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า และขอให้ทุกคนลองหาชื่อสักคนขึ้นมาดู ครั้งนี้อาจจะเห็นอะไรที่ต่างออกไปไม่ว่าจะตรงกับที่ทุกคนหวังหรือไม่ แต่คงได้พอเห็นถึงความรักที่ถูกใส่เข้าไปในข้อมูลเหล่านั้นที่พยายามเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างประวัติของแต่ละคนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความรักแบบใดแต่คงสร้างความมั่นใจให้ทุกคนได้บ้างว่า ยังมีคนที่ใช้ความรักทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อยู่

สิ่งที่ผู้เขียนพยายามเล่าให้ทุกคนได้เห็นมุมมองของความรักไปพร้อมๆ กันนี้ เป็นเพียงความพยายามในการพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงเหตุผลของการทำในสิ่งเดียวกันอย่างการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะด้วยรูปแบบความรักที่ต่างกันออกไปผู้เขียนไม่ขอตัดสินว่าใครดี ไม่ดี ถูก หรือผิด เพราะเราต่างใช้ความรักเป็นแรงผลักดัน แต่อยากชวนทุกคนลองมองให้ลึกไปมากกว่าสิ่งที่ถูกแสดงให้เห็น แต่มองไปถึงความรักที่ถูกใส่เข้ามาในข้อมูลที่เปิดหรือไม่เปิดเผยว่า พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจความรักแบบไหน ให้ค่ามันแบบไหน แล้วมันตรงกับสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ ในทางกลับกัน ผู้เขียนก็อยากใช้ช่องทางนี้สื่อสารกับผู้มีอำนาจให้ใช้ความรักอย่างสร้างสรรค์ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก และหากบทความนี้ทำให้รู้สึกแน่นอก ก็ขอให้ยกมันออกมา และบางทีความรักคุณที่กำลังใช้อยู่นั้นคงไม่เหมาะกับสิ่งที่กำลังทำ เพราะว่าถ้ารักก็ต้องเปิด(ข้อมูล)ออก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงที่เต็มไปด้วยความรักในการสร้างแรงผลักดันให้แก่สังคมของผู้เขียนในครั้งนี้จะทำให้ทุกคนได้ใช้ความรักกันอย่างคุ้มค่าในทุกวินาที

สุขสันต์วันแห่งความรัก

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

วสุพล ยอดเกตุ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

You might also like...

องค์กรอิสระกับการสร้างประชาธิปไตยที่ตรวจสอบได้: กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

การศึกษาผลการดำเนินงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พบว่า ทั้งสองหน่วยงานยังมีงบประมาณและบุคลากรที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณงาน และอำนาจหน้าที่ที่ยังไม่ครอบคลุม ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | สำนักงาน ป.ป.ช. ตรวจสอบหน่วยงานรัฐ แล้วใครตรวจสอบ สำนักงาน ป.ป.ช.

ถ้าสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่โปร่งใส (ปชช) ทำอะไรได้บ้าง ? และหากประชาชนจะตรวจสอบสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องทำอย่างไร ? มีเงื่อนไขอะไรบ้าง ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ชวนถอดรหัส “วัฒนธรรมองค์การต้านโกง” จาก ฮ่องกง สิงคโปร์และฟินแลนด์

ชวนส่องแนวทางสร้างค่านิยมสุจริตจาก 3 ชาติที่โปร่งใส ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และฟินแลนด์ ซึ่งแต่ละประเทศมีวิธีการที่น่าสนใจที่ไทยสามารถนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้