ลงมือสู้โกง : บอลจบ คนไม่จบ โกงจะจบ?

มหกรรมบอลโลกที่เพิ่งจบไป ทีมที่ท่านผู้อ่านเชียร์ทำผลงานเป็นอย่างไรบ้างครับ? ในครั้งนี้ทีมที่ผมเชียร์มาตลอดอย่างทีมชาติอิตาลีไม่ได้ผ่านเข้ารอบมาเล่นกับเขาด้วย (และทีมชาติไทยที่ยังไม่ได้มาเล่นในรอบสุดท้ายเสียที) เลยต้องปันใจไปเชียร์ทีมอื่นแทน และทีมที่ผมเชียร์ในปีนี้ทั้งสองทีมก็มาเป็นคู่ชิงที่ 1 กัน ผมนั่งเขียนบทความนี้หลังจากดูฟุตบอลโลกนัดสุดท้ายเสร็จสิ้น หลายคนเห็นตรงกับผมและบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นฟุตบอลโลกนัดชิงแชมป์ที่สนุกที่สุด การพาทีมฟ้าขาวอาร์เจนตินาขับเคี่ยวกับทีมชาติฝรั่งเศสจนสามารถคว้าถ้วยฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กรุงโดฮาประเทศกาตาร์ ของชายที่ชื่อว่า ลีโอเนล เมสซี่ จะเป็นที่จดจำและกล่าวขวัญกันไปอีกนาน

ก่อนจะหลงชื่นชมแต่ความสำเร็จของเมสซี่อย่างเดียว ผมนึกขึ้นได้ว่าในฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่ค่อยจะโปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพหรือไร้ธรรมาภิบาลที่น่าสนใจที่พวกเราไม่ควรลืม โดยตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ 6 ข้อดังนี้ครับ

1) การคัดเลือกเจ้าภาพ ในปีค.ศ. 2010 หากนำชื่อประเทศมาให้ท่านผู้อ่านเลือกว่าชาติไหนควรเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 ระหว่าง กาตาร์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทุกท่านจะเลือกชาติไหนและเลือกด้วยเหตุผลอะไรบ้างครับ ทั้งที่เกิดคำถามมากมายเรื่องสภาพอากาศ ความพร้อมด้านสนาม ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและความพร้อมด้านวัฒนธรรมในการเป็นเจ้าบ้านที่จะต้องรองรับแขกที่มีความหลากหลายจากทั่วโลก ชาติสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หรือสมาชิกฟีฟ่ากลับโหวตให้กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก 2022 ท่ามกลางข่าวเรื่องการติดสินบนเจ้าหน้าที่และชาติอื่นให้โหวตกาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก พัวพันถึงอดีตตำนานนักเตะอย่าง มิเชล พลาตินีในฐานะ (อดีต) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ณ เวลานั้น

หลังจากการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพแล้วเนื่องจากต้องเนรมิตสนามแข่งที่รองรับความจุหลักหลายหมื่นคนทั้งหมด 8 สนาม ประกอบกับประชากรในประเทศมีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ทำให้ต้องอาศัยแรงงานต่างชาติจำนวนมาก และด้วยเวลาที่จำกัดจึงมีข่าวว่าแรงงานถูกใช้ให้ทำงานมากกว่า 84 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยมีรายงานข่าวว่าแรงงานที่มาช่วยเนรมิตสนามให้พร้อมแข่งหลักหลายพันคนต้องมาสังเวยชีวิต อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ว่าจริงหรือไม่

2) ไทยซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดช้าราคาแพง กลับมาที่บ้านเราครับ ผมเชื่อว่าหลายท่านเองก็คงจะลุ้นกันเหมือนผมว่าปีนี้จะได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือไม่ ลุ้นไปก็คงบวกกับความสงสัยด้วยว่าทำไมประเทศเราถึงเพิ่งมาดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาในช่วงสุดท้าย เรียกว่าเป็นชาติสุดท้ายในอาเซียน นั่นทำให้เราได้ซื้อลิขสิทธิ์ในราคากว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าประเทศในแถบอาเซียนเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซียที่ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 261 ล้านบาท ครอบคลุมการถ่ายทอดสด 27 นัด เวียดนาม (ประชากรราว 98 ล้านคน) ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 532 ล้านบาท ถ่ายทอดสดครบทุกเกม (64 นัด) สิงคโปร์ซื้อลิขสิทธิ์ราคา 670 ล้านบาท ถ่ายทอดสด 9 นัด ฟิลิปปินส์ (ประชากรราว 111 ล้านคน) ซื้อลิขสิทธิ์ราคา 1,306 ล้านบาท อินโดนีเซีย (ประชากรราว 276 ล้านคน) ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมูลค่า 1,456 ล้านบาท ถ่ายทอดสดครบทุกนัด คำถามคือทำไมประเทศเราถึงรอมาจนโค้งสุดท้าย? มีข้อมูลบางสายเป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่ามีผู้ต้องการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้กับบางท่านเนื่องจากในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งผมไม่คิดว่าจริงนะครับ ส่วนตัวยังเชื่อว่าเป็นเพราะกฎ MUST HAVE และ MUST CARRY มากกว่า

3) กฎ MUST HAVE และ MUST CARRY จะอยู่หลอกหลอนต่อไปจนฟุตบอลยูโรครั้งหน้า หรือฟุตบอลโลกครั้งหน้าหรือไม่ ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่ากฎนี้คืออะไร กฎมัสต์แฮฟ (MUST HAVE) คือ การกำหนดให้รายการแข่งขันกีฬา 7 ประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจะต้องออกอากาศผ่านฟรีทีวีเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับชม โดยประกอบด้วย รายการแข่งขันกีฬาซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์,เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก, และ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ส่วนกฎมัสต์แครี่ (MUST CARRY) คือการที่กำหนดให้รายการในฟรีทีวีต้องสามารถดูได้ผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นภาคพื้นดินหรือระบบผ่านดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวี ไม่ว่าจะมีค่าสมาชิกหรือไม่ก็ตาม ดูเผินๆ อาจจะดีครับ คือ กฎนี้ต้องการให้ทุกคนได้ดูกีฬา ได้เชียร์กีฬา เด็กๆ อาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากการดูกีฬา แต่กลายเป็นว่าหากรัฐไม่มีเงินที่จะซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดเองแล้ว กฎนี้กลับขัดขวางกลไกตลาด ทำให้แทบไม่มีใครอยากจะซื้อลิขสิทธิ์มาเพราะหากซื้อมาแล้วก็จะต้องถ่ายทอดฟรี เก็บได้เพียงแค่ค่าโฆษณาจากช่วงพักครึ่งเท่านั้น แถมด้วยว่าอาจจะเพราะกฎมัสต์แฮฟ(MUST HAVE) นี่เองที่ทำให้ประเทศไทยโดนโก่งค่าลิขสิทธิ์จนสูง จึงอาจจะเป็นต้องทบทวนกฎต่างๆ ให้เหมาะสมและจัดการให้เหมาะกับสภาพความเป็นจริง

4) การอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุน กทปส. เมื่อเวลางวดเข้ามาใกล้จะถึงการแข่งขัน แต่ประเทศยังไม่มีลิขสิทธิ์ถ่ายทอด รัฐจึงต้องเริ่มขยับ จึงได้มีการจัดสรรเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จำนวน 600 ล้านบาทมาประเดิมเป็นยอดแรก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจ่ายเงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ที่ว่า 1) ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน 2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 4) สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 5) สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 6) สนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสนับสนุนการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่มีผู้ได้รับอนุญาตไป เพื่อนำมาจัดสรรใหม่และสนับสนุนการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้คลื่นความถี่

ท่านผู้อ่านคิดว่าการนำเงินจากกองทุน กทปส. นี้มาใช้จ่ายค่าลิขสิทธิ์บอลโลกมันตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนนี้ไหมครับ พูดให้น่ากลัวเข้าไปอีกนิดคือ ปัจจุบันรัฐเรามีกองทุนทำนองนี้ที่บริหารโดยรัฐเองกว่าร้อยกองทุนเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับเรื่องต่างๆ หากกองทุนเหล่านี้มีผู้มีอำนาจนำเงินไปใช้ตามดุลยพินิจแต่ขาดกลไกการตรวจสอบและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะยังไม่ได้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกองทุนที่ตั้งมาเงินในกองทุนจะกลายเงินสร้างคะแนนนิยมให้กับผู้มีอำนาจ เป็นความเสี่ยงให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอีกด้วยครับ

5) การจัดสรรลิขสิทธิ์ หลังจากที่ได้ยอด 600 ล้านบาทจากกองทุน กทปส. ที่ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไปจัดสรรเป็นค่าลิขสิทธิ์แล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอกับค่าลิขสิทธิ์ ทำให้ต้องมีการ “ประสานประโยชน์” หรือ “ประสานสิบทิศ” กับภาคเอกชนให้มาร่วมสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ อีก 700 ล้านบาท โดยได้ 1) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 300 ล้านบาท 2) น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง100 ล้านบาท 3) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท 4) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 20 ล้านบาท5) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท 6) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 10 ล้านบาท 7) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท 8) ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาทและ 9) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท

คำถามคือ สัญญา MOU หรือข้อตกลงที่ระหว่างภาคีที่ร่วมกับซื้อลิขสิทธิ์เป็นอย่างไร? ทำไมถึงไม่มีการเปิดเผยทั้งที่ส่วนหนึ่งในนั้นมีเงินจากกองทุนของรัฐรวมอยู่ด้วย อีกทั้งการประสานประโยชน์นี้ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมลงขันหรือไม่ หรือเปิดโอกาสเฉพาะกลุ่มทุนที่รู้จักกันเท่านั้น? เหตุใดจึงปรากฏว่าผู้ที่ร่วมลงขันรายหนึ่งจึงมีสิทธิ์โดยลำพังในการกำหนดสิทธิ์การถ่ายทอด และแทบไม่มีโฆษณาจากองค์กรอื่นที่ร่วมทุนระหว่างการแข่งขันเลย ทั้งที่ FIFA ระบุไว้ชัดเจนว่าองค์กรที่ได้สิทธิ์ในการเผยแพร่ภาพฟุตบอลโลก 2022 ในประเทศไทยคือ กกท. ดังนั้น การกีฬาแห่งประเทศไทยควรออกมาชี้แจง เปิดเผยสัญญา MOU หรือข้อตกลงที่ทำระหว่างภาคีที่ลงขันร่วมกัน และทำให้เป็นมาตรฐานการทำงานที่โปร่งใส

6) จะต้องระวังสิ่งที่เรียกว่า Sportwashing หรือการฟอกด้วยกีฬา คือการปฏิบัติของบุคคล บริษัท นักการเมือง หรือรัฐบาลที่ใช้กีฬาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ สร้างคะแนนนิยม ปรับปรุงชื่อเสียงที่มัวหมองจากการกระทำผิด เป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อทางอ้อม (ว่าเป็นคนดี)การฟอกด้วยกีฬาสามารถทำได้ผ่านการจัดการแข่งขันกีฬา การเชิญนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมาแข่งขันในประเทศ การซื้อหรือสนับสนุนทีมกีฬา หรือการเข้าร่วมในกีฬา ไปจนถึงการอำนวยการให้เกิดการถ่ายทอดสดกีฬา ในเรื่องนี้สำหรับประเทศไทยผมว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่จะมีใครสังเกตและจับสัญญาณเรื่องการฟอกในลักษณะนี้ได้หรือไม่เท่านั้นเอง

ผมเองเข้าใจดีว่าหากประเทศไทยไม่ได้สิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลแล้ว คนพากย์บอลคงจะต้องว่างงานไปสักพัก เนื่องจากในช่วงดังกล่าวลีกของชาติต่างๆ ก็พากันหยุดให้นักฟุตบอลมาแข่งในรายการที่ใหญ่ที่สุดนี้ แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องถือเป็นบุญคุณกับผู้ประสานประโยชน์จนต้องมาเอ่ยชื่อขอบคุณกันเกือบทุกนัด เป็นการ Sportwashing ให้นักการเมืองเสร็จสรรพ แต่เหตุใดไม่เคยจะเอ่ยชื่อสปอนเซอร์หลายรายที่ร่วมลงขันเลย

ถึงแม้ฟุตบอลโลกปี 2022 จะจบลงแล้ว แต่บอลโลกครั้งนี้เปิดโลกทัศน์ของผมในเรื่องการโกงในวงการฟุตบอลอย่างสิ้นเชิง สมัยก่อนหากนึกถึงเรื่องการโกงในวงการฟุตบอล ก็คงนึกได้แค่เรื่องการติดสินบนกรรมการ การใช้สารกระตุ้น การล้มบอล การโกงพนัน ที่ไหนได้ มนุษย์เรานี้พอมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ผลประโยชน์ และการใช้ดุลยพินิจแล้ว การบริหารจัดการการแข่งขัน การบริหารจัดการสมาคมกีฬานั้นๆ การบริหารจัดการลิขสิทธิ์การถ่ายทอด ฯลฯ ล้วนมีโอกาสโกงได้ทั้งสิ้น ยิ่งผมได้ชมสารคดีที่เป็นซีรี่ส์จาก NETFLIX ที่ชื่อว่า FIFA UNCOVERED ฟุตบอล เงินตรา อำนาจ ยิ่งทำให้ทราบที่มาที่ไปมากขึ้น จึงขอชวนทุกท่านว่าถึงบอลจบ คนไม่ควรจบ มาลองศึกษา จับตา และตั้งข้อสังเกตเรื่องโกงในวงการนี้ดู อย่างน้อยก็เพื่อเป็นเสียงหนึ่งที่ได้โวยวายให้ผู้มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นธรรม และไม่ปล่อยให้การโกงหรือความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะฟุตบอลโลกก็มีแข่งทุก 4 ปี ไหนจะมีฟุตบอลยูโรฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า

สุดท้ายนี้ ไม่รู้ว่าวันที่สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเราจะดีขึ้นแบบเห็นได้ชัดหรือวันที่ทีมชาติไทยจะได้ไปแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะมาก่อนกัน แต่อะไรจะเกิดขึ้นก่อนก็คงดีทั้งนั้น ไทยแลนด์ ปู๊นๆ  

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

สุภอรรถ โบสุวรรณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption