แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งการศึกษาถึงสถาบันทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ จะช่วยทำให้สามารถเข้าใจถึงโครงสร้างทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป และจะเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในการต่อต้านคอร์รัปชัน
แนวคิดสถาบัน (Institutions) เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับมิติในเชิงสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดย North (1990) ได้ให้คำนิยามความหมายของสถาบันว่าหมายถึง กฎระเบียบหรือกติกาในสังคม (Rules of game) ที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ หรือค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตามช่วงเวลา เพื่อกำกับและควบคุมแนวทางการปฏิบัติ หรือพฤติกรรม มโนทัศน์ และวิธีคิดของมนุษย์ในสังคมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองว่าสิ่งไหนทำได้ และสิ่งไหนทำไม่ได้ ตลอดจนหล่อหลอมแนวความคิด และพฤติกรรมในทุกด้านของการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งสถาบันเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเกิดการรวมตัวกันและดำเนินต่อไปได้ รวมถึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้จากกระบวนการในสังคมต่าง ๆ เช่น กระบวนการทางการเมือง เป็นต้น
สำหรับการอธิบายถึงประเภทของสถาบัน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ สถาบันที่เป็นทางการ (Formal Institution) คือ กฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อตกลงทางกฎหมาย หรือสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งสถาบันทางการมีการบังคับใช้จากบุคคลหรือองค์กร ในฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน และ สถาบันที่ไม่เป็นทางการ (Informal Institution) คือ กฎระเบียบของสังคมที่ไม่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น บรรทัดฐานสังคม ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือจารีตประเพณี ซึ่งมักปลูกฝังผ่านวัฒนธรรมและอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิต ซึ่งหากผู้ที่มีพฤติกรรมที่ขัดกับสถาบันที่ไม่เป็นทางการจะได้รับการแทรกแซงหรือลงโทษจากสังคม โดยรูปแบบความสัมพันธ์ของสถาบันทั้งสองประเภท สามารถปรากฏได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคม โดยมีทั้งที่สามารถทำงานร่วมกันได้ ขัดแย้งซึ่งกันและกัน หรือในบางสังคมมีลักษณะของการทับซ้อนกัน (Jütting, Drechsler, Bartsch & Soysa, 2007)
นอกจากนี้ ในงานของ Leftwich & Sen (2010) ได้ชี้ให้เห็นถึงสถาบันในด้านต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ (Economic Institutions) ซึ่งมีสถาบันที่ทำงานในรูปแบบที่เป็นทางการ คือ การส่งเสริมการให้สิทธิในทรัพย์สิน และปกป้องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (Property Right) ของประชาชน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนและการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจของสังคม โดยจะทำงานร่วมกับสถาบันที่ทำงานในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ที่จะส่งเสริมสิทธิในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของคนบางกลุ่มในสังคมที่มีแนวทางการปฏิบัติตนทางด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างการกำหนดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในสังคม สอง ด้านการเมือง (Political Institutions) ซึ่งมีสถาบันที่ทำงานในรูปแบบที่เป็นทางการ คือ การกำหนดและควบคุมการใช้ และการกระจายอำนาจตามที่ระบุในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย ซึ่งมีหน้าที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของคนในสังคม โดยทำงานร่วมกับสถาบันการเมืองแบบไม่เป็นทางการในลักษณะที่ส่งเสริมกัน เช่น โครงสร้างทางสังคมที่มีลักษณะความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น และ สาม ด้านสังคม (Social Institutions) ซึ่งมักเป็นสถาบันแบบไม่เป็นทางการในรูปแบบกฎระเบียบทางสังคมที่ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น บรรทัดฐานสังคม ธรรมเนียมปฏิบัติ วัฒนธรรม ประเพณี ที่มีบทบาทต่อการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ความสัมพันธ์ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและกลุ่มทางสังคม
จะเห็นได้ว่า โครงสร้างทางสังคมที่กำหนดโดยสถาบันที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ในบริบทที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ในบางสังคมที่ยึดบรรทัดฐานสังคมและจารีตประเพณีเป็นสำคัญ จะทำให้สถาบันแบบไม่เป็นทางการมีอิทธิพลในการดำเนินชีวิตของประชาชนมากกว่าสถาบันที่เป็นทางการ ในทางกลับกัน บางสังคมที่ยึดถือหลักกฎหมายเป็นหลักในการจัดระเบียบทางสังคม ก็จะทำให้สถาบันแบบเป็นทางการมีอิทธิพลในการดำเนินชีวิตของประชาชนมากกว่าสถาบันที่ไม่เป็นทางการ
ดังนั้น การทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชัน จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาทั้งในมิติของสถาบันที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อจะนำไปสู่ความสำเร็จในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่ครอบคลุมประเด็นในเชิงวัฒนธรรมของผู้คน รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบที่สังคมยึดถือ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนพื้นฐานของการสร้างนโยบายที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในการต่อต้านคอร์รัปชัน
ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
- Anti-Corruption 101
แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน
การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…
หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่
แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …
รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน
ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …