หน่วยงานตรวจสอบทุจริตทำไมทำงานล่าช้า? แล้วภาคประชาชนรู้ไหมว่ามีกฎระเบียบมากมายที่ภาครัฐต้องปฏิบัติตาม?
ทั้ง 2 คำถามนี้ถือเป็นสิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เสมอเวลาเกิดปัญหาการทุจริตในประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งขั้วการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีกับประเทศเราเลย
เพราะการทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยมีภาครัฐทำหน้าที่ดำเนินคดีทางกฎหมาย และมีภาคประชาชนที่คอยเป็นหูเป็นตา รายงานปัญหาการทุจริต รวมถึงมีสื่อมวลชนที่ตีเเผ่ความผิดปกติให้สาธารณะได้รับรู้ ซึ่งความร่วมมือในลักษณะนี้ล้วนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการป้องกันการทุจริตในหลายประเทศ
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้เล็งเห็นถึงช่องว่างดังกล่าว จึงได้เริ่มดำเนินโครงการ “การเรียนรู้ร่วมกันในการออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการปราบปราม เเละบังคับใช้กฎหมายด้านการต่อต้านการทุจริตระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน” สนับสนุนการดำเนินงานโดยสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.)
โดยในวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อระดมความร่วมมือจากทั้งภาครัฐที่ทำงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย ภาคสื่อมวลชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม โดยมีหน่วยงานสำคัญที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 14 หน่วยงาน
โดยที่ประชุมได้เล็งเห็นร่วมกันว่าการทำงานเรื่องการต่อต้านการทุจริต จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และได้ร่วมออกแบบกรอบการดำเนินงานร่วมกันในอนาคตไว้ใน 4 ประเด็น ได้แก่
- การจัดจำแนกและระบุระดับชั้นของข้อมูลที่เปิดเผยได้
- ความเฉพาะเจาะจงของปัญหาคอร์รัปชันในแต่ละวงการ เช่น สิ่งแวดล้อม การศึกษา
- การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการทำงานของภาครัฐ
- การรณรงค์ปลูกฝังจิตสำนึกให้กับประชาชน
การประชุมโต๊ะกลมในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน จะได้ร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบข้ามภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานด้านการต่อต้านการทุจริต และในปีถัดไปคงจะได้มีกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นอีก
เพราะทุกคนคือกลไกสำคัญในการต่อต้านการทุจริต ฝากติดตามกิจกรรมของศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในอนาคตกันด้วย
- Corruption in Public Sector, Judiciary & Law Enforcement, Civic participation
20 ธันวาคม 2567