KRAC Public Lecture | ปราบคอร์รัปชัน สู้ไปก็สิ้นพวก ไม่สู้ก็สิ้นชาติ: ปัญหาการทุจริตที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดย คุณบรรยง พงษ์พานิช

จะทำอย่างไรหากเราต้องอยู่ในสังคมที่การคอร์รัปชันเชื่อมโยงใกล้ชิดจนเหมือนเป็นเรื่องวัฒนธรรมทั่วไป ที่สำคัญแตะไปตรงไหนก็อาจมีคนในครอบครัวหรือคนรู้จักพัวพันกับเรื่องเหล่านี้ ทำให้บางครั้งการลุกขึ้นมาต่อต้านการคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องที่น่าท้อแท้ใจ จนหลายคนอาจยอมจำนนกับมัน

 
KRAC Corruption ชวนทุกคนมาติดอาวุธความรู้ เพิ่มทักษะในการต่อต้านคอร์รัปชัน ในคลาสบรรยายพิเศษในรายวิชา 2940316 เศรษฐศาสตร์ธรรมาภิบาล (ECONOMICS OF GOVERNANCE) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยได้รับเกียรติจาก คุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มาบรรยายในหัวข้อพิเศษ “ปราบคอร์รัปชัน สู้ไปก็สิ้นพวก ไม่สู้ก็สิ้นชาติ” 
 
โดยเปิดให้นิสิต อาจารย์ บุคลากร และบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ารับฟัง ซึ่ง KRAC ได้สรุปประเด็นสำคัญจากการบรรยายพิเศษครั้งนี้ มาให้ทุกท่านรับทราบข้อมูลแบบเจาะลึกเกี่ยวกับสถานการณ์คอร์รัปชันไทยไปพร้อม ๆ กัน

 “ปราบคอร์รัปชัน สู้ไปก็สิ้นพวก ไม่สู้ก็สิ้นชาติ” 

คุณบรรยง เริ่มด้วยการชวนพูดคุยและอธิบายถึงที่มาที่ไปของหัวข้อที่มาจากวลีของเจี่ยง จิ้งกว๋อ อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน และเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของนายพลเจียง ไคเชก โดยวลีนี้เกิดขึ้นเมื่อเขาถูกส่งไปบริหารเขตเซี่ยงไฮ้ และพบเหตุการณ์ทุจริตเป็นจำนวนมาก
 
แต่เมื่อเริ่มปราบปรามการทุจริตเหล่านี้ เขาก็พบว่าต้องเจออุปสรรคมากมาย เพราะหลายเรื่องเกี่ยวพันกับพรรคพวกและบรรดาญาติของเขา จึงทำให้เกิดเป็นวลีที่ว่า “ปราบคอร์รัปชัน สู้ไปก็สิ้นพวก ไม่สู้ก็สิ้นชาติ” ซึ่งคุณบรรยงมองว่าวลีนี้ดูจะเหมาะสมไม่น้อยกับสถานการณ์ต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยในปัจจุบัน

รื้อถอนมายาคติว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้

นอกจากการบอกเล่าที่ไปที่มาของหัวข้อแล้ว คุณบรรยงยังชวนผู้เข้าร่วมฟังการบรรยายทุกท่านพูดคุยถึงมายาคติเรื่องคอร์รัปชันของประเทศที่หลายคนยังคิดว่า การพัฒนาประเทศนั้นขาดการคอร์รัปชันไม่ได้ นักธุรกิจที่จ่ายสินบนเป็นคนชั่วร้าย ข้าราชการที่รับสินบนทั้งหลายทำเพื่อความอยู่รอด คอร์รัปชันมีได้แต่ต้องไม่มากจนเกินไป และมายาคติที่น่ากังวลที่สุด คือคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ได้ ซึ่งคุณบรรยงมองว่าทัศนคติเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม คุณบรรยงได้แสดงความเห็นอย่างมีความหวังว่า ถึงแม้คนไทยบางส่วนจะยังมีทัศนคติแบบนี้อยู่บ้าง แต่ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในอดีต สังคมไทยในวันนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมและให้ความสนใจกับสถานการณ์ปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น

 

โดยเฉพาะทัศนคติที่เริ่มปฏิเสธการคอร์รัปชัน ซึ่งจากเดิมที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากเคยระบุว่าตนเองยอมรับให้มีคอร์รัปชันได้หากมีการพัฒนาประเทศ แต่วันนี้คนรุ่นใหม่จำนวนมากกว่า 2 ใน 3 ต่างระบุว่ารับไม่ได้ที่จะยอมให้มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสังคม และนี่คือความหวังของสังคมในอนาคต

กลยุทธ์ของการคอร์รัปชันในประเทศไทย

คุณบรรยงได้จำแนกว่าการคอร์รัปชันอาจแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ (1) การคอร์รัปชันในภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่มีการกำกับดูแลกันภายในอยู่แล้ว (2) การคอร์รัปชันในภาครัฐ ซึ่งเป็นลักษณะที่ข้าราชการเลือกที่จะทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินโดยตรง และ (3) การคอร์รัปชันซึ่งภาคเอกชนทำกับภาครัฐ ซึ่งถือเป็นประเภทของการคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุด และมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดในปัจจุบัน
 
โดยคุณบรรยงยังชี้ชวนให้เห็นถึงกลยุทธ์ของการคอร์รัปชันในประเทศไทยเพิ่มเติมอีกด้วย อาทิ (1) ได้กระจุก เสียกระจาย เช่น ปัญหาการซื้อเสียงของนักการเมือง หรือการทุจริตโครงการพัฒนาต่าง ๆ (2) ได้วันนี้ เสียหายวันหน้า โดยการกู้ยืมเงินมาลงทุนแล้วมีการทุจริต ซึ่งความเสียหายในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นในรูปแบบของหนี้สาธารณะ หรือการทุจริตเอาเงินลูกหลานในอนาคตไป (3) ดำเนินการอย่างเป็นระบบ คือ การทุจริตที่ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้า และไม่ว่าผู้บริหารจะเปลี่ยนไปอย่างไร สุดท้ายก็ต้องดำเนินการตามระบบ และ (4) กุมอำนาจรัฐ คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกนโยบายของรัฐ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองหรือพรรคพวก
 
และแน่นอนว่าบรรดากลยุทธ์การคอร์รัปชันต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นโทษต่อประเทศชาติอย่างไม่ต้องสงสัย เช่น (1) บั่นทอนประสิทธิภาพนโยบายทางการคลัง คือ การที่เงินงบประมาณถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศลดต่ำลง (2) ลดคุณภาพและเพิ่มต้นทุนของบริการพื้นฐาน (3) บิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร (4) ทำลายศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และ (5) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม

การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันต้องดำเนินการไปด้วยกันกับการพัฒนาประชาธิปไตย

ทั้งนี้ คุณบรรยงมองว่าการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน จะต้องดำเนินการไปด้วยกันกับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยระบุว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ คือ ประเทศจะต้องเป็นประชาธิปไตย และมายาคติที่ว่าเผด็จการจะช่วยพัฒนาประเทศต้องเลิกไปเสีย เพราะส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเฉพาะ แต่สุดท้ายก็พบว่าผู้นำเผด็จการเป็นนักทุจริตตัวยง และที่สำคัญคือผู้นำเหล่านี้จะสร้างปัญหาที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ยากให้กับประเทศ
 
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากสมการคอร์รัปชันที่มองว่า คอร์รัปชัน = อำนาจผูกขาด (อำนาจรัฐและตลาด) + ดุลยพินิจ – ความรับผิดรับชอบ การลดอำนาจการผูกขาดผ่านการเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงการเพิ่มความโปร่งใสจากการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเพิ่มความรับผิดรับชอบของหน่วยงานภาครัฐ อาจช่วยทำให้สถานการณ์การคอร์รัปชันประเทศไทยดีขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย
 
เพราะในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน จะมีกฎหมายด้านการต่อต้านคอร์รัปชันโดยเฉพาะ เพื่อจัดการกับบรรษัทที่ดำเนินกิจการในประเทศเหล่านั้น และบรรดาบรรษัทลูกหรือคู่ค้าที่ไปจ่ายสินบนในต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ได้ส่งผลให้หลายบริษัทเกิดระบบการตรวจสอบภายในอย่างเข้มแข็ง โดยคุณบรรยงมองว่าต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น สอดคล้องกับที่คุณบรรยงบอกเล่าถึงที่ไปที่มาของโครงการ CoST ที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยในช่วงที่คุณบรรยงยังคงช่วยรัฐบาลดำเนินงานเรื่องการสร้างความโปร่งใส และการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
 
คุณบรรยงวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 คือ การเปิดให้หน่วยงานต่าง ๆ ทบทวนตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วทุกหน่วยงานต่างก็คิดว่าที่ดำเนินการกันอยู่ในการขออนุญาตนั้นดีอยู่แล้ว และยิ่งไปกว่านั้นคือมีการขออำนาจในการพิจารณาอนุญาตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินงาน ซ้ำยังทำให้การทำงานล่าช้ากว่าเดิม เช่น แต่เดิมเคยระบุว่าระยะเวลาในการขออนุญาต คือ อย่างน้อย 7 วัน แต่เมื่อต้องการให้มีการระบุวันที่ชัดเจน ก็ปรับให้เป็น 10 วัน และทำให้การดำเนินการล่าช้ากว่าเดิม เป็นต้น
 
คุณบรรยงยังชวนให้พวกเรานั้นได้กลับมาคิดทบทวนกันอีกครั้งว่า บรรดากิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการทุจริตของไทย ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนแล้วหรือยัง อย่างเช่นโครงการ “โตไปไม่โกง” ที่มุ่งเน้นเรื่องส่วนบุคคล คือ เราจะไม่โกง แต่ถ้าคนอื่นโกงแล้วเราจะทำยังไง ซึ่งคุณบรรยงแนะนำว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราเปลี่ยนการรณรงค์เป็น “โตไปไม่ให้ใครโกง” ซึ่งมีความครอบคลุมมากกว่า และจะช่วยให้สังคมช่วยกันสอดส่องและร่วมกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้มากขึ้น
 

สุดท้ายนี้ คุณบรรยงยังได้ฝากข้อคิดที่สำคัญว่า “การต่อต้านคอร์รัปชันต้องห้ามยอมแพ้” และต้องเลิกพูดคำว่า “สู้ไปก็เท่านั้น”

 
 
เรียบเรียงโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

You might also like...