เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) จัดการบรรยายสาธารณะ ในหัวข้อ “Corruption and Development: New Global Trends in Anti-Corruption Research” บรรยายโดย Professor Robert Gillanders อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ และผู้อำนวยการร่วมของ DCU Anti-corruption Research Centre (DCU ARC) มหาวิทยาลัย Dublin City University ประเทศไอร์แลนด์
จากการบรรยายได้กล่าวถึง “การคอร์รัปชันที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก” เห็นได้จากประเทศที่ยากจนจะมีอัตราการคอร์รัปชันสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการคอร์รัปชันนั้นส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและการลงทุนสาธารณะ โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคงของโลกและโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาสุขภาพจิตที่ชี้ให้เห็นว่า “คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียในหลากหลายมิติ”
จึงต้องมีมาตรการในการปราบปรามการคอร์รัปชัน ! โดย Professor Gillanders ให้ความเห็นว่า “ควรเริ่มต้นจากการบังคับใช้กฎหมายและเครื่องมืออย่างจริงจัง” ควบคู่กับการลงโทษอย่างเข้มงวด รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ในการปราบปรามคอร์รัปชัน เช่น การมีเสรีภาพสื่อและการใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยเปิดเผยข้อมูลและการมีบรรทัดฐานทางสังคมในการไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในสังคม
นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า “การศึกษาวิจัยมีประโยชน์ต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน” จากการนำข้อเสนอหรือผลลัพธ์จากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ เช่น ใน DCU Anti-corruption Research Centre ที่ได้ศึกษาประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชันในหัวข้อต่าง ๆ และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ เพื่อศึกษาประเด็นต่าง ๆ เช่น Police Corruption & Crime, Sextortion and Corruption, Sextortion and Female Entrepreneurship, Medical Corruption and Access to Health Care, Ukrainian Women’s Activism and Corruption
ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการต่อยอดและประยุกต์แนวโน้มประเด็นการศึกษาวิจัยด้านคอร์รัปชันระดับสากลสำหรับประเทศไทย” โดย Professor Gillanders ร่วมกับ คุณจุฑารัตน์ สุวารี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และ รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กรรมการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ซึ่งดำเนินการบรรยายโดย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ KRAC และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย คุณจุฑารัตน์ สุวารี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้เล่าถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่แม้ว่าจะมีการดำเนินงานตามแผนของยุทธศาสตร์ชาติ แต่ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ย้อนหลัง 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2565) มีระดับคงที่มาตลอด ซึ่งการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมาโครงการต่าง ๆ มักเป็นลักษณะของการฝึกอบรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ บุคลากรภาครัฐหรือภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตามสำนักงาน ป.ป.ช. มองว่างานวิจัยและโครงการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันไม่ควรเจาะจงศึกษาหรือทำงานกับหน่วยงานภาครัฐหรือภาคประชาสังคมเท่านั้น แต่ควรมุ่งเน้นไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชนและกลุ่มนักการเมือง
อีกทั้ง ยังกล่าวถึงการทำงานวิจัยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่ควรดูข้อมูลพื้นฐาน เช่น หน่วยงานใดที่มีคำกล่าวหา หรือได้รับข้อร้องเรียนมากที่สุด และควรกำหนดทิศทางการศึกษาจากการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประเภทความผิด หรือข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้การทำงานวิจัยด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ การติดตามผลในเรื่องของการนำผลจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง
รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กรรมการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ยังได้มีการกล่าวว่า “คอร์รัปชันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ” จึงต้องเร่งแก้ไข ! โดยไม่ควรจำกัดที่ประเด็นใด หรือภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น รวมถึงประเด็นที่คะแนน CPI ของไทยยังคงที่อยู่เท่าเดิม ทั้งที่หน่วยงานและภาคส่วนอื่น ๆ มีความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย หรือความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายที่ดี ซึ่งจะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับความผิด โดย รศ. ดร.นวลน้อย มีความเห็นว่า ควรมีการพิจารณาประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การปฏิรูปตำรวจที่มักดำเนินการโดยตำรวจมากกว่าครึ่งหรือคนในด้วยกันเอง ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของวงการตำรวจและสะท้อนถึงความไม่โปร่งใสที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญและปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชันอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ยังได้มีการเสนอว่าการจัดการปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้อง “อาศัยการศึกษาอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน” เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ มักดำเนินงานอย่างไม่ครอบคลุม เช่น เมื่อประเมินแล้วพบปัญหามักไม่ดำเนินการแก้ไข เนื่องจากกลัวว่าจะต้องแก้ไขประเด็นอื่น ๆ สืบเนื่องต่อไปด้วย และมีการเสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินงานหรือศึกษาประเด็นวิจัยอย่างครบวงจร ทั้งเรื่องการประเมิน หรือแก้ไขกฎหมายที่ยกมาในข้างต้นหรือประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษากระบวนการทางกฎหมาย ที่ไม่ควรศึกษาเพียงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ควรศึกษาครอบคลุมไปถึงกระบวนการรับโทษควบคู่ไปด้วย
เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้เข้าร่วม จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สอบถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ “สาเหตุใดที่ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีการปรับแก้กฎหมายและใช้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งในไทยและในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ซึ่ง Professor Gillanders ได้ให้ความเห็นว่า หากวัดความสำเร็จของการต่อต้านคอร์รัปชันจากค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) จำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดควบคู่ไปด้วย เนื่องจากค่าดัชนีดังกล่าวไม่สามารถชี้วัดถึงความสำเร็จได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญคือการมีกฎหมายและเครื่องมือที่พร้อมใช้งาน
นอกจากนี้ รศ. ดร. นวลน้อย ได้กล่าวเสริมว่า แม้ค่าดัชนีดังกล่าวจะมีข้อจำกัด แต่ก็ถูกใช้ประเมินมาอย่างยาวนานในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงสามารถเป็นเกณฑ์มาตรฐานได้ ส่วนสาเหตุที่การต่อต้านคอร์รัปชันยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรอาจเป็นเพราะในทางปฏิบัติยังมีช่องโหว่อยู่ เช่น การติดต่อราชการ ที่แม้ว่าจะมีความพยายามในการใช้เครื่องมือหรือมาตรวัดต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้าติดต่อราชการได้รับการบริการอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ที่รู้จักหรือคุ้นชินกับบุคคลภายในหน่วยงานราชการ มักได้รับอภิสิทธิ์ในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ได้รวดเร็วกว่า เป็นต้น
การบรรยายในครั้งนี้ จึงเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ! และแลกเปลี่ยนทรัพยากรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ! ซึ่งช่วยส่งเสริมแนวทางการศึกษาวิจัยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในประเทศไทยให้สอดคล้องกับแนวโน้มระดับสากล เพื่อยกระดับคะแนนผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพราะนอกจากจะเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันแล้ว ยังเป็นพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมอีกด้วย !
ถึงแม้ว่าการบรรยายสาธารณะจะจบลงแล้ว… เเต่ทุกท่านสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook KRAC corruption https://www.facebook.com/share/v/it7Qog9xXJffxmzr/?mibextid=w8EBqM
หัวข้อ
- Anti-Corruption
วันที่เผยแพร่
7 สิงหาคม 2567
Related Topic