เทรนด์งานวิจัยต้านโกงระดับสากล เพิ่มความรู้สู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ

นานาชาติเขาต่อต้านคอร์รัปชันกันอย่างไร ? KRAC ชวนดูเทรนด์งานวิจัยต้านโกงระดับสากล เพิ่มความรู้สู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้งานประชุมระดับชาติ ครั้งที่ 2 หัวข้อย่อยที่ 1 “Unveiling the Dynamics: Anti-Corruption Trends and Intriguing Research in 2024”
จากสถิติขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ในปีที่ผ่านมา พบว่ามีเพียง 58 จาก 180 ประเทศเท่านั้นที่ได้คะแนน CPI หรือ ดัชนีการรับรู้การทุจริตเกินครึ่งของคะแนนเต็ม สะท้อนภาพความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาคอร์รัปชันที่หลายประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันคือการค้นคว้าวิจัย ที่จะทำให้เกิดแนวทางใหม่ ๆ และนำไปสู่กระบวนการป้องกันและปราบปรามที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
โดยในปี 2024 เทรนด์การต่อต้านคอร์รัปชันสากลจะเป็นอย่างไร ? Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School จะมาพูดถึงเทรนด์ของวงการวิชาการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับนานาชาติ โดยมีทั้งหมด 3 ไฮไลต์สำคัญ ดังนี้
 
  1. การศึกษาวิจัยประเด็นคอร์รัปชันที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น : โดยมุ่งเน้นการศึกษาเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศมากขึ้น รวมถึงเน้นประเด็นที่เจาะลึกยิ่งขึ้น และสำหรับเทรนด์การศึกษาวิจัยในปัจจุบัน อาจจะทำการศึกษาโดยตั้งคำถามเจาะลึกไปที่ประสิทธิภาพของกระบวนการป้องกันการคอร์รัปชัน
  2. ความท้าทายในการวัดผลระดับการคอร์รัปชัน : เนื่องจากคอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมที่วัดยาก งานวิชาการยุคใหม่จึงใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบกับการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณที่จะช่วยให้การประเมินสถานการณ์มีความแม่นยำมากขึ้น รวมทั้งมีการนำนิติเศรษฐศาสตร์ (Forensic Economic) มาใช้เพื่อหาเบาะแสหรือหลักฐานของพฤติกรรมการคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และนำไปสู่ผลลัพธ์ของการต่อต้านคอร์รัปชันที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในแต่ละสังคม
  3. การอนุมานเชิงสาเหตุผ่านการออกแบบการวิจัย : แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการคอร์รัปชันกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เสรีภาพของทางการเมืองและสื่อในในประเทศ หรือเรื่องอื่น ๆ แต่การออกแบบตัวชี้วัดการคอร์รัปชันยังเป็นเรื่องที่ยาก เพราะแม้จะได้ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) แต่ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน เช่น ข้อมูลพบว่าประเทศที่ร่ำรวยมีระดับการคอร์รัปชันที่ต่ำ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเพราะร่ำรวยจึงสามารถจัดการปัญหาคอร์รัปชันได้ หรือเพราะจัดการปัญหาคอร์รัปชันได้จึงร่ำรวย ซึ่งเป็นไปได้ว่าทั้งสองอาจสัมพันธ์กันหรืออาจจะมาปัจจัยด้านภูมิประเทศ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ 
ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการออกแบบวิธีการวิจัยใหม่ ๆ เช่น การทดลองสุ่มแบบมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trials หรือ RCT) ที่จะช่วยทำให้เห็นถึงการต่อต้านคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงกันระหว่างผลกระทบและผลลัพธ์ที่เกี่ยวเนื่อง และทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

วิดีโอนี้เป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนาของโครงการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ภายใต้งานประชุมระดับชาติ ครั้งที่ 2 เพื่อการส่งเสริมศักยภาพและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาค หัวข้อย่อยที่ 1 “Unveiling the Dynamics: Anti-Corruption Trends and Intriguing Research in 2024” ณ ห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

โดยการจัดประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอและหารือแนวโน้มและแนวทางการศึกษาและการวิจัยด้านคอร์รัปชันในระดับสากลในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งในงานประชุมจะมี 3 วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมาอย่างยาวนานมาร่วมบรรยาย ได้แก่

  1. Professor Matthew C. Stephenson, Professor of Law at Harvard Law School 
  2. ผศ. ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. คุณสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

You might also like...