
ปัญหาคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงไทย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญระดับโลก โดยเฉพาะการผลิตและส่งออกอาหารทะเลที่สร้างรายได้มหาศาลและสร้างโอกาสการจ้างงานให้แก่แรงงานในประเทศ แต่อุตสาหกรรมประมงก็ยังขาดแคลนแรงงานเพราะคนไทยส่วนหนึ่งไม่ต้องการทำงานในกลุ่มแรงงานระดับล่าง จึงต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากเมียนมา
แต่การจ้างแรงงานข้ามชาตินี้กลับสร้างปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกับการคอร์รัปชันตั้งแต่ระดับนายหน้า แรงงาน จนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และการคอร์รัปชันนี้ไม่ใช่แค่การโกงในระบบ แต่ยังส่งผลเสียในวงกว้างที่กระทบทั้งเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ
จากปัญหาข้างต้นจึงเป็นที่มาของงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชันขบวนการเครือข่ายนายหน้าแรงงานข้ามชาติเมียนมาในอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องของประเทศไทย” โดย ศิริมา ทองสว่างและคณะ (2562) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขบวนการเครือข่ายนายหน้าและรูปแบบการคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมง และหาแนวทางแก้ไข โดยใช้ 3 วิธีการคือ การรวบรวมข้อมูลเอกสาร การสัมภาษณ์จากประชากร 4 กลุ่ม คือแรงงานข้ามชาติเมียนมา นายหน้า เจ้าหน้าที่ของรัฐและนายจ้าง และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ซึ่ง KRAC ได้สรุปประเด็นมาให้ ดังนี้
รูปแบบการคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงของไทย
จากการศึกษารูปแบบการคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงของไทย มีรูปแบบการคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายนายหน้าแรงงานที่ซับซ้อน
เครือข่ายนี้มีทั้งนายหน้าและหน่วยงานรัฐไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ปัญหานายหน้าเอารัดเปรียบแรงงานโดยคิดค่าบริการต่าง ๆ ที่แพงเกินจริง หลอกลวงให้จ่ายเงินราคาสูงแลกกับเอกสารที่ไม่ถูกต้อง เช่น เอกสารที่มีการลัดขั้นตอนหรือละเว้นขั้นตอนทางกฎหมาย ปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไทยรับสินบนเพื่อละเว้นการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การอนุญาตให้พาแรงงานเข้าประเทศโดยไม่ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้อง หรือเร่งรัดกระบวนการทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
งานวิจัยได้เปิดเผยเส้นทางการลักลอบในการนำแรงงานเข้าประเทศที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระนอง ซึ่งมีต้นทางแรงงานเมียนมามาจากพื้นที่อำเภอทวาย มะริดและเกาะสอง โดยใช้เส้นทางทางเรือเข้าสู่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง จากนั้นเดินทางต่อไปยังจังหวัดสงขลาเพื่อทำงาน ซึ่งเหตุผลที่เลือกเส้นทางนี้เพราะมีสภาพภูมิประเทศเหมาะแก่การลักลอบเข้าเมือง รวมถึงมีเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐคอยอำนวยความสะดวกโดยการรับสินบน
ผลกระทบจากการคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมง
จากปัญหาที่กล่าวมา ทำให้เกิดความเสียหายที่ขยายวงกว้างในประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการส่งออกและความเชื่อมั่นจากนานาชาติ ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น
(1) รายได้จากการส่งออกลดลง
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันส่งผลให้ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เริ่มลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากไทย เพื่อกดดันให้มีการปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงาน ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียรายได้จากการส่งออกอย่างมหาศาล
(2) การจัดอันดับการค้ามนุษย์ที่ต่ำลง
การคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับต่ำในรายงานการค้ามนุษย์ขององค์กรต่างชาติ การจัดอันดับที่ต่ำลงนี้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและทำให้ไทยเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ หรือกลุ่มสหภาพยุโรปได้ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้ต้องการค้ากับคู่ค้าที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน
(3) ต้นทุนที่สูงขึ้น
การใช้แรงงานข้ามชาติที่ขาดการดูแลและคุ้มครองอย่างเหมาะสม นำไปสู่การเพิ่มต้นทุนในการจัดการสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานเหล่านี้ ซึ่งภาระนี้ตกอยู่ที่ภาครัฐ และส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณของประเทศ
(4) การยอมรับคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม
การที่ปัญหาการคอร์รัปชันยังคงมีอยู่ในอุตสาหกรรมประมงสะท้อนให้เห็นว่าการคอร์รัปชันได้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งทำให้ผู้คนยอมรับและขาดความตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสและจริยธรรมในการทำงาน การยอมรับนี้นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์แบบผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อทั้งความปลอดภัยและสวัสดิการของแรงงาน
จะแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างไร ให้ยั่งยืน
จะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงไทย ไม่ใช่แค่ปัญหาการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่รัฐหรือฉกฉวยผลประโยชน์จากประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและงบประมาณรัฐ สูญเสียภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทำให้บรรทัดฐานคอร์รัปชันแย่ลง
งานวิจัยจึงได้เสนอแนวทางแก้ไขโดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และนานาชาติ ตัวอย่างเช่น
(1) การยกระดับมาตรการทางสังคม
การปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับชาติ โดยอาจจัดให้มีโครงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับผลกระทบของการคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ควรมีการสร้างช่องทางแจ้งเบาะแสที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานพฤติกรรมที่น่าสงสัย โดยให้รางวัลหรือสิ่งจูงใจสำหรับผู้แจ้งเบาะแส
(2) การปรับปรุงกฎหมายและบทลงโทษ
กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดความเกรงกลัวและลดโอกาสในการทุจริต รวมถึงปรับปรุงระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การลงโทษนายจ้างที่ฝ่าฝืนกฎหมายและแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน
(3) การปรับปรุงระบบการจ้างแรงงานข้ามชาติแบบรัฐต่อรัฐ
การจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ หรือ MOU ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดการพึ่งพานายหน้าและลดปัญหาการคอร์รัปชัน โดยการปรับปรุงให้กระบวนการสมัครงานมีความรวดเร็วขึ้นและลดขั้นตอนที่ซับซ้อน เช่น จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านเอกสารแก่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและประเทศเมียนมา เพื่อให้แรงงานสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ลดความจำเป็นในการว่าจ้างนายหน้า
ปัญหาการคอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงของไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่การทุจริตทางการเงินหรือการเอาเปรียบแรงงาน แต่เป็นปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีสากล การแก้ไขปัญหานี้ จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาทั้งมาตรการทางกฎหมาย มาตรการสังคม และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย
งานวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชันขบวนการเครือข่ายนายหน้าแรงงานข้ามชาติเมียนมาในอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องของประเทศไทย” โดย ศิริมา ทองสว่าง และคณะ (2562) ยังมีข้อมูลอื่น ๆ เช่น รากฐานปัจจัยที่ทำให้แรงงานเมียนมาเข้ามาในไทย ทฤษฎีการลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง ทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่นำมาใช้ในงานวิจัย โดยสามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
ศิริมา ทองสว่าง, สุรศักดิ์ มีบัว และไพรัช บวรสมพงษ์. (2562). การศึกษาวิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชันของขบวนการเครือข่ายนายหน้าข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องของประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I ในสังคมที่มีความร่วมมือหรือความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง รัฐจะสร้างประโยชน์จากข้อค้นพบนี้อย่างไร ?
มุมมองของประชาชนต่อหน่วยงานรัฐ หนึ่งกลุ่มจ่ายภาษี อีกกลุ่มเข้ามาทำหน้าที่พัฒนาบริการสาธารณะให้เกิดประโยชน์ แต่มีหลายครั้งที่โครงการไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น ศาลาสร้างทิ้งไว้ไม่มีคนใช้ จนบางครั้งประชาชนต้องลงแรงทำกันเอง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เปลี่ยนนโยบายคลัง ป้องกันคอร์รัปชันด้วยแนวทางเพิ่มความโปร่งใส
KRAC คัดสรรชวนทุกคนมาร่วมศึกษาความโปร่งใสของงบประมาณการคลังของไทย พร้อม 5 แนวทางเพิ่มความโปร่งใสจากงานวิจัย
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เบื้องหลังการทุจริตภาษีศุลกากร: เมื่อบริษัทปลอมกลายเป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษี
บริษัทปลอม vs ศุลกากร : หนีภาษีเขาทำกันอย่างไร ? วิธีป้องกันบริษัทปลอม แหล่งหนีภาษาศุลกากรหลักหมื่นล้าน !! กระบวนการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ? แต่ละตัวละครทำหน้าที่อะไร สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย” (2561)