แนวคิด “สมการคอร์รัปชัน” นับว่าเป็นหนึ่งในแนวทางของการศึกษาคอร์รัปชันที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผ่านการอธิบายปัญหาคอร์รัปชันในรูปแบบของสมการที่เข้าใจได้ง่าย และช่วยทำให้ผู้คนสามารถเข้าใจถึงรูปแบบของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากปัญหาเชิงระบบ และนำไปสู่การสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมของความโปร่งใส และการเมืองแบบเปิด ที่จะช่วยลดปัญหาของการคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แนวทางหนึ่งของการศึกษาคอร์รัปชันที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง คือ การอธิบายปรากฏการณ์การคอร์รัปชันผ่าน “สมการ” ที่ถูกนำเสนอโดย ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) ในหนังสือเรื่อง “Controlling Corruption” (1988) ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ การคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในหลายประเทศนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาทางวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมประเพณี แต่เป็นปัญหาเชิงระบบของการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถกระทำได้ เพราะผู้ออกแบบนโยบายถูกหล่อหลอมและฝังอยู่ในระบบผูกขาด ทั้งการใช้ดุลพินิจ และขาดกลไกความรับผิดชอบ ซึ่งสามารถนำมาเขียนอธิบายให้เข้าใจง่ายได้เป็นสมการว่า C (Corruption) = M (Monopoly) + D (Discretion) – A (Accountability) หรือ การคอร์รัปชัน = การผูกขาด + การใช้ดุลพินิจ – การถูกตรวจสอบเอาผิด (Klitgaard, 1988, อ้างถึงใน เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคณะ, 2560, น. 3-6)
จากสมการคอร์รัปชันข้างต้นนี้ สามารถอธิบายได้ว่าในสังคมที่มีการผูกขาด (Monopoly) ซึ่งอาจมีความหมายได้ทั้งการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง และการผูกขาดอำนาจในทางเศรษฐกิจ โดยหากสังคมมีโครงสร้างการผูกขาดที่สูงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ก็จะทำให้การคอร์รัปชันสูงตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้ สังคมที่มีการใช้ดุลพินิจสูง (Discretion) กล่าวคือ ดุลพินิจในการตัดสินใจ หากตัวแทนสามารถใช้ดุลพินิจสูงโดยขาดการอ้างอิงกฎเกณฑ์ที่มีความแน่นอน ก็จะมีโอกาสเกิดการคอร์รัปชันสูง อีกทั้งสังคมที่มีกลไกความรับผิดชอบต่ำ (Accountability) กล่าวคือ ขาดกลไกความรับผิดชอบที่มีผู้รับผิดชอบ และสามารถตรวจสอบการตัดสินใจของผู้มีอำนาจที่มีประสิทธิภาพ ก็จะมีการคอร์รัปชันที่สูง ในทางตรงกันข้าม หากสามารถลดการผูกขาด (Monopoly) ลดการใช้ดุลพินิจ (Discretion) ไม่ให้มีมากจนทำให้เกิดการคอร์รัปชัน และเพิ่มกลไกความรับผิดชอบ (Accountability) ก็จะช่วยให้เกิดกลไกป้องกันการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพได้ (พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์, 2560)
ทั้งนี้ แนวคิดสมการคอร์รัปชัน ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของการละเลยถึงการพิจารณาตัวแปรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัจจัยทางวัฒนธรรม การเมือง รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคมว่ามีผลกระทบที่ทำให้เกิดโอกาสการคอร์รัปชันได้หรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันที่ไม่ครอบคลุมถึงปัจจัยเชิงบริบทและการเมืองที่กำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมอย่างไม่เป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดสมการคอร์รัปชัน ยังถือเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญในการช่วยทำให้เราสามารถทำความเข้าใจรูปแบบการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระบบที่มีกฎระเบียบที่ไม่ดี และช่วยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมของความโปร่งใสและการเมืองแบบเปิด เพื่อช่วยลดต้นทุนที่เกิดขึ้นในอนาคตจากปัญหาการคอร์รัปชัน
ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
- Anti-Corruption 101
แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน
การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…
หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่
แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …
รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน
ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …