KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | การต่อต้านการทุจริต อาจต้องเริ่มที่ความเข้าใจของประชาชน

คนไทยครึ่งประเทศไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช.

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือสำนักงาน ป.ป.ช. หน่วยงานที่หลายคนรู้จักในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ปราบปรามการทุจริต และถึงแม้ภาพจำของประชาชนต่อหน่วยงานนี้คือหน้าที่ในการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลนักการเมือง แต่คนเกือบครึ่งประเทศกลับไม่รู้ว่า ประชาชนก็สามารถเข้าถึงข้อมูล ป.ป.ช. ได้เช่นกัน

 

ประเด็นดังกล่าวมาจากงานวิจัยเรื่อง “โครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิการรับรู้ข่าวสาร การรับรู้การทุจริต ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตต่อประชาชน” โดย เสาวณีย์ ทิพอุต และคณะ (2562) ที่ได้สำรวจความเห็นของประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และไม่เคยติดต่อกับสำนักงาน ป.ป.ช. มาก่อน จำนวน 1,041 คน 

 

ซึ่งพบว่า ร้อยละ 52.64 รับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช. ขณะที่ร้อยละ 47.36 ไม่รู้ว่าตนเองก็มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งสะท้อนถึงความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการต่อต้านทุจริต และยังอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมไทยต่อสู้กับการโกงได้ไม่สุดทาง

ทำความเข้าใจ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช. 

สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้ถูกกล่าวขึ้นมาลอย ๆ แต่ถูกรับรองไว้ใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 41 และในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งได้ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิขอดู เรียกดู หรือคัดลอกข้อมูลจากหน่วยงานรัฐได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงหรือความลับส่วนบุคคล

 

สำหรับกรณีของสำนักงาน ป.ป.ช. ข้อมูลที่ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงได้มีหลายประเภท เช่น บัญชีทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ, ผลวินิจฉัย, รายงานความคืบหน้าการไต่สวน และรายชื่อผู้ที่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง เป็นต้น 

 

โดยประชาชนสามารถขอข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านเว็บไซต์ www.nacc.go.th หรือคำขอร้องโดยตรงที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ควรสื่อสารให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนและเข้าถึงได้ง่าย

การเปิดเผยข้อมูล จะช่วยลดช่องว่างของความรู้ และเพิ่มการเข้าถึงสิทธิของประชาชน

งานวิจัยชี้ว่า ผลของการที่ประชาชนไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิเหล่านี้ คือ กลุ่มคนที่ไม่รู้สิทธิมักจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ “ไม่เคยร้องเรียน” หรือ “ไม่เคยติดตามผลงานของ ป.ป.ช.” มาก่อน บางคนเห็นการทุจริตอยู่ตรงหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะส่งเรื่องไปที่ไหน หรือส่งอย่างไร บางคนกลัว บางคนคิดว่าไม่มีประโยชน์

 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนไทยไม่ใส่ใจความถูกต้อง แต่อาจอยู่ที่รัฐยังสื่อสารไม่พอ หรือสื่อสารไม่ตรงจุด ซึ่งการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะการเปิดเผยข้อมูล คือเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้สังคมช่วยกันตรวจสอบการทำงานของรัฐ ยิ่งคนรู้สิทธิ์ ก็จะยิ่งกล้าตั้งคำถามและกดดันให้หน่วยงานต้องโปร่งใส และสุดท้ายจะนำไปสู่ วัฒนธรรมไม่ทนต่อการทุจริต ที่หยั่งรากลึกในสังคม แต่ในทางกลับกัน ถ้าคนไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าถึง แม้สำนักงาน ป.ป.ช. จะทำงานหนักแค่ไหน ก็ยากที่จะได้ความร่วมมือจากประชาชน

 

งานวิจัยย้ำให้เห็นว่า ปัญหานี้คือ “ช่องว่างของความรู้” ไม่ใช่ความไม่สนใจ ดังนั้น หน่วยงานรัฐอย่าง สำนักงาน ป.ป.ช. หรือแม้แต่สื่อมวลชน อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากแค่การรายงานผล มาเป็นการสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิของประชาชน เช่น ทำแคมเปญให้คนรู้ว่าเขามีสิทธิขอดูข้อมูลได้ หรืออธิบายว่าการจะร้องเรียนก็ไม่ยากอย่างที่คิด ฯลฯ เพราะการลดการทุจริตอาจไม่ได้เริ่มจากการไล่จับคนโกง แต่เริ่มจากทำให้ประชาชนทุกคนรู้ว่าเขามีสิทธิจะรู้ และสิทธิที่จะไม่ยอมให้ใครโกง

 

ผลโพลนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “โครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิการรับรู้ข่าวสาร การรับรู้การทุจริต ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตต่อประชาชน” โดย เสาวณีย์ ทิพอุต และคณะ (2562) งานวิจัยยังมีประเด็นเรื่องประสบการณ์ของประชาชนต่อการทุจริตในชีวิตจริง ความรู้สึกต่อผลกระทบจากการทุจริต และปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเลือกที่จะร้องเรียนหรือเพิกเฉย โดยสามารถอ่านสรุปงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

เสาวณีย์ ทิพอุต, ธีรวรรณ เอกรุณ, พรสวรรค์ ประเทสัง และศักรินทร์ นิลรัตน์ . (2562). การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิการรับรู้ข่าวสาร การรับรู้การทุจริต ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตต่อประชาชนสำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง

ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย I มันจบแล้วครับ…(ถ้า) นาย (โกง) : รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะทุจริต

การแจ้งเบาะแส เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สามารถลดการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคงไม่มีใครให้มีข้อมูลเชิงลึกได้เท่า “คนใน” องค์กรเอง แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนในองค์กรไม่กล้าให้แจ้งเบาะแสทุจริต คือ “ความกลัว”

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | รู้จัก 3 แนวทาง Support ผู้แจ้งเบาะแสทุจริต

ยิ่งมีคนแจ้งเบาะแสมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีการตรวจสอบและช่วยนำคนผิดมาลงโทษมากเท่านั้น แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้หลายคนที่มีข้อมูลไม่อยากแจ้งเบาะแส เพราะกลัวว่าถ้าแจ้งไปแล้วก็อาจจะโดนกลั่นแกล้ง

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | รางวัลแด่คนช่าง “แจ้ง”

กุญแจสำคัญที่จะช่วยจัดการคอร์รัปชันได้ คือ “การมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส” เพราะถ้าทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบคอร์รัปชันภายในหน่วยงานรัฐ ช่วยกันแจ้งเบาะแส จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกกดดัน กลัวจะถูกจับได้และไม่กล้าคอร์รัปชัน ภาครัฐจึงมีความพยายามอย่างมากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

You might also like...

ยุุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชน

จากการวิเคราะห์ TOWS Matrix 4 ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐ สามารถพัฒนาเป็นโมเดลยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชนได้

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อ ‘งบก่อสร้าง’ ไม่ได้สร้างแค่ถนน แต่สร้างรายได้พิเศษให้บางคนด้วย

จากที่ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในนามนักวิชาการอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ผมถือว่าหน้าที่นี้คือโอกาสสำคัญที่จะได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ทำไมบริษัทก่อสร้างไทย อาจเป็นได้แค่ผู้รับจ้างของบริษัทจีน ?

ชวนคาดการณ์การเข้ามาของจีนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ภายใต้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 โดยงานวิจัยนี้พบว่า อีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทจากจีนอาจสร้างความปั่นป่วนให้อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยไม่น้อยทีเดียว