ลงมือสู้โกง : ภาษาศาสตร์เชิงต้านโกง

ภาษา ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์สำหรับใช้สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ของศาสตร์หลากหลายแขนง บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อกลางในการแสดงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มาเป็นเวลาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามในบางครั้งภาษา ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการโกง และคอร์รัปชันได้ ยกตัวอย่างเช่น มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มักจะชอบโทรมาหลอกลวงให้คนโอนเงินไปให้จนหมดบัญชี การปลอมแปลงเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ที่ต้องใช้ประกอบการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม หรือการร่างเอกสารสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการใช้ภาษาที่กำกวมเพื่อเอื้อต่อการให้ผลประโยชน์ต่อกันระหว่างหน่วยงานรัฐ และผู้รับเหมา

จากรูปแบบการโกงต่างๆ ที่กล่าวไปเบื้องต้นผู้เขียนจึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านมาค้นหาวิธีการต้านโกงทาง “ภาษา” ด้วย “ภาษา” ผ่านมุมมอง “ภาษาศาสตร์” มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ ทั้งนี้ภาษาศาสตร์ไม่ใช่เป็นการศึกษาการเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาแต่อย่างใด แต่เป็นการศึกษาภาษาเพื่อให้เข้าใจระบบภาษาของมนุษย์ ผ่านการใช้ทฤษฎี กรอบแนวคิด และระเบียบวิธีการวิจัยที่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งขอบเขตของการศึกษาภาษาศาสตร์มีตั้งแต่ระดับที่เล็กที่สุดของภาษาที่มนุษย์ผลิตออกมา นั่นก็คือการศึกษาเรื่องเสียง ขยายขอบเขตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไปสู่การศึกษาในระดับคำ โครงสร้างไวยากรณ์ กระบวนการเปลี่ยนแปลง และอิทธิพลของภาษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ทางสังคม

ผู้เขียนขอเริ่มต้นด้วย การต้านโกงระดับเสียง ซึ่งถือเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของภาษา โดยขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องคือ กลสัทศาสตร์ (Acoustic Phonetics) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ การศึกษาลักษณะทางกายภาพของเสียง ผ่านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่ต่อจากกระบวนการผลิตเสียงจากผู้พูดไปสู่ผู้ฟังโดยเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการศึกษาทางกายภาพของเสียงคือ “คลื่นเสียง” (Waveform) จะเป็นตัวที่บอกถึงความถี่ของเสียง (Frequency) และ ความเข้มของเสียง (Intensity) ซึ่งแต่ละคนก็จะมีรูปแบบคลื่นเสียงที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของบุคคล ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยระบุตัวตนของแต่ละบุคคลได้ค่อนข้างชัดเจน

ทั้งนี้เราสามารถที่จะใช้คลื่นเสียง มาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์หลักฐานในการพิสูจน์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ผ่านกรณีการปลอมแปลงเสียงสำหรับใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้ หรือนำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ในลักษณะการให้ปากคำ/ชี้มูลว่าข้อมูลที่ผู้พูดส่งออกมามีความจริงเท็จแค่ไหน เนื่องจากคลื่นเสียงจะช่วยให้เราเห็นถึงข้อมูลในเชิงลักษณะการสื่อสารของตัวบุคคล เช่น หน่วยเสียง ความหมาย คุณสมบัติทางสรีระของผู้พูด และข้อมูลในเชิงปัจจัยทางสังคมเช่น ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ หรืออาชีพได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะตัว เราสามารถนำมาวิเคราะห์และหาความสัมพันธ์จากแผนภาพคลื่นเสียงที่แสดงข้อมูลจำพวกระยะเวลา ค่าความถี่ และความเข้มเสียง ปัจจุบันมีศาสตร์ที่มุ่งศึกษาในประเด็นนี้โดยเฉพาะ คือ นิติสัทศาสตร์ (Forensic Phonetics) โดยในประเทศไทยได้มีการดำเนินงานวิจัยในลักษณะนี้มาเป็นสักระยะแล้ว ดำเนินการโดยอาจารย์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากผู้อ่านสนใจสามารถลองไปติดตามเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ครับ

ถัดมาผู้เขียนขอขยับขึ้นสู่ระดับที่ใหญ่ขึ้น คือ การต้านโกงระดับความหมาย ขอบเขตการศึกษาที่เกี่ยวข้องคือ อรรถศาสตร์ (Semantics) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความหมายทางภาษาที่มนุษย์ใช้สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ซึ่งหนึ่งในแนวคิดของอรรถศาสตร์ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครเป็นสายภาษาศาสตร์จะต้องรู้จักนั้นก็คือ แนวคิดอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ (Conceptual Metaphor) (Lakoff & Johnson, 1980) แนวคิดดังกล่าวอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหมายเปรียบเทียบ และระบบความคิดของมนุษย์ โดยเราเรียกสิ่งนี้ว่า “อุปลักษณ์” (Metaphor) ทั้งนี้มันมักจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อระบบความคิดของผู้ใช้ภาษาในสังคมหรือวัฒนธรรมเดียวกันให้มีความเข้าใจต่อสิ่งหนึ่งร่วมกัน ยกตัวอย่างให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นเช่น ในสังคมอังกฤษมักจะมีวลีที่ว่า “Time is money” หรือ “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” จากวลีนี้สามารถสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนในสังคมอังกฤษต่างเห็นว่า “เวลา” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง และไม่สามารถจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเหมือนกับเงินทอง หรือแบงก์ธนบัตรที่เราสามารถจับต้องได้เพื่อใช้ในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ซึ่งเราสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในการทำความเข้าใจถึงการรับรู้และการให้ความหมายเกี่ยวกับการทุจริตของผู้คนในสังคมไทยได้ ซึ่งก็มีนักวิจัยไทยได้มีการดำเนินงานวิจัยในลักษณะนี้เช่นกันโดยข้อมูลจากโครงการวิจัยอุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์และการใช้เหตุผลในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ดำเนินการโดย ดร.นฤดล จันทร์จารุ และคณะ (2563) โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการย่อยของโครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 ได้รับการสนับสนุนโดย วช. และ สกสว. โครงการดังกล่าวมุ่งศึกษาผลของการใช้ภาษาเชิงอุปลักษณ์ที่มีต่อการความเข้าใจในปัญหาการคอร์รัปชันและการเสนอแนวทางการแก้ไข โดยมีเป้าหมายในการทำการวิจัยที่ว่าถ้าต้องการจะทำให้บุคคลที่ขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอร์รัปชันสามารถเกิดความเข้าใจและเสนอแนวทางในการป้องกันและปราบปรามปัญหาคอร์รัปชันได้ จะต้องสื่อสารด้วยชุดของภาษาเชิงอุปลักษณ์รูปแบบอย่างไร ถ้าผู้อ่านทุกท่านอยากทราบผลการวิจัยว่าเป็นอย่างไร สามารถไปตามงานอ่านวิจัยฉบับเต็มได้เลยครับ

มาสู่ระดับสุดท้าย เรียกได้ว่าเป็นระดับแอดวานซ์ คือ การต้านโกงระดับการประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคุ้นๆ คำว่า NLP แต่ยังงงๆ ว่ามันคืออะไร ผู้เขียนขอสรุปให้เข้าใจแบบภาษาง่ายๆ ว่า มันคือการศึกษาและพัฒนาการประมวลผลเพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์ และสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ซึ่งถือเป็นสาขาการศึกษาหนึ่งของภาษาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Linguistics) ที่มุ่งศึกษาภาษาศาสตร์โดยเชื่อมโยงกับศาสตร์วิทยาการคอมพิวเตอร์ และศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในปัจจุบัน NLP ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยสร้างความสะดวกกับเราอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กูเกิลแปลภาษา (Google Translator) หรือ แชทจีทีพี (ChatGPT) ผู้ช่วย A.I. อัจฉริยะที่กำลังเป็นกระแสมาก่อนหน้านี้ก็มีการนำ NLP มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเช่นกัน

ทั้งนี้เราสามารถนำ NLP มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจจับ และวัดประเมินความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้
ผู้เขียนขอยกข้อมูลแนวทางการพัฒนาจากรายงาน Using Machine Learning for Anti-Corruption Risk and Compliance จัดทำโดยองค์กร Coalition for Integrity (2021) ได้มีการนำเสนอถึงการนำ NLP มาพัฒนาเพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้สำหรับการประเมินความเสี่ยงการทุจริต และการรับสินบนที่อาจเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ โดยวัตถุดิบสำคัญในการพัฒนา คือ “ข้อมูล” ซึ่งจะต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก และในขณะเดียวกันต้องมีความหลากหลายที่เพียงพอ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้ถึงรูปแบบของการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น และสามารถวิเคราะห์ความถี่ของรูปแบบการทุจริต นำไปสู่การคำนวณค่าความเสี่ยงของการเกิดทุจริตได้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคธุรกิจ ของประเทศทางแถบยุโรป ยกตัวอย่างเช่น Red flags แพลตฟอร์มตรวจจับการทุจริตในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของสหภาพยุโรป โดยมีการป้อนข้อมูลจำนวนรูปแบบการทุจริตต่างๆ และข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างมากกว่า 54,002 โครงการ เข้ามาในระบบสำหรับออกแบบการประเมินความเสี่ยง และตรวจจับการทุจริตในระบบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลที่อิงร่วมกันตัวชี้วัดความเสี่ยงจำนวน 32 หัวข้อ ซึ่งพัฒนาขึ้นจากเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU Standard) และกรอบกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศ

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันรูปแบบการต่อต้าน และการเฝ้าระวังการทุจริตนั้นมีความหลากหลายและ มีการพัฒนาโดยมุ่งบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่นๆ มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือองค์ความรู้ทางภาษาศาสตร์ โดยสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอในวันนี้ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ถูกกระทำผ่านการพูด การศึกษาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจ และมุมมองของคนในสังคมต่อการทุจริต และการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการติดตาม และเฝ้าระวังการทุจริตที่เกิดขึ้นได้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดล้วนเกิดจากพลังของ “ภาษา” ทั้งสิ้น ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าพลังเหล่านี้จะช่วยเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตไปสู่ทิศทางที่ดีในอนาคตครับ

 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

ภัทรชัย อ่อนน่วม

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

KRAC Insight | รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน

รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน จากทีม Open Data ของเครือข่าย “SEA-ACN”

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้