Click KRAC Click Clip: KRAC ชวนรับชมงานประชุม SEA-ACN Online Roundtable on Open Data: Harmonizing PEPs Definitions in ASEAN (Malaysia and Thailand)

ร่วมสร้างฐานข้อมูลของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองระดับภูมิภาค จากงาน “the Southeast Asian Anti-Corruption Network (SEA-ACN) Online Roundtable on Open Data: Harmonizing PEPs Definitions in ASEAN (Malaysia and Thailand)” เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนจากความร่วมมือที่ดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ !

 
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค หรือ ศูนย์ KRAC ร่วมกับองค์การต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลชั้นนำอย่าง องค์กรต่อต้านการทุจริตแห่งประเทศไทย (ACT) Sinar Project บริษัท วีวิซ เดโม จำกัด (WeVis Demo) และบริษัท แฮนด์ วิสาหกิจ เพื่อสังคม (HAND Social Enterprise; HAND SE) ได้ร่วมกันจัดการประชุมโต๊ะกลมออนไลน์เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน (SEA-ACN) ในประเด็น “การประสานมาตรฐานคำนิยามบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs) ในอาเซียน (มาเลเซียและไทย)”
 
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนได้แก่
  1. การนำเสนอผลการศึกษาเรื่องการประสานคำนิยามบุคคลที่มีสภาพทางการเมืองในไทยและมาเลเซีย
  2. การให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาคำนิยามของบุคคลมีสภาพทางการเมืองจากไทยและมาเลเชีย
ในช่วงกิจกรรมแรก สมาชิกเครือข่าย SEA-ACN กลุ่ม OPEN DATA ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การประสานคำนิยามบุคคลที่มีสภาพทางการเมือง (PEPs)” โดยนำเสนอผ่านผู้เชี่ยวชาญจาก 3 องค์กรได้แก่
 
  • Khairil Yusof, Coordinator, Co-founder – Sinar Project
  • คุณวิถี ภูษิตาศัย, Co-founder and Technical Lead, WeVis
  • คุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส HAND SE และผู้เชี่ยวชาญในเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันของศูนย์ KRAC
 
และในส่วนของกิจกรรมของการให้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่ใช้ข้อมูลของบุคคลที่มีสภาพทางการเมืองในการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 3 ท่าน ในการแสดงความเห็นและข้อชี้แนะ ได้แก่
 
  •  Pushpan Murugiah, Chief Executive Officer (CEO), the Centre to Combat Corruption and Cronyism (C4 Centre)
  • Ato ‘Lekinawa’ Costa, Co-founder of the Association Journalist of Timor-Leste
  • คุณกิตติเดช ฉันทังกูล ผู้อำนวยการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
 
อีกทั้ง ภายในการประชุมได้มีการให้ความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานจากต่างชาติ ได้แก่ Politics for Tomorrow | Open Gov Network Germany (OGP) ที่ได้ร่วมให้ความเห็นด้วย
 
การประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้เป็นพื้นที่สำหรับเครือข่าย SEA-ACN ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมอง และประสบการณ์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาและแนวทางการประสานคำนิยามเกี่ยวกับบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (Politically Expose Persons: PEPs) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง และเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการต่อต้านการทุจริตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่าย
 
ภายในงานมีการกล่าวถึง “ความสำคัญของข้อมูลเปิดในการต่อต้านทุจริต” โดยสมาชิกกลุ่ม OPEN DATA อย่าง HAND SE และ Wevis ซึ่งเป็นผลของการศึกษา ที่เล็งเห็นว่าควรจะมีการพัฒนาและใช้งานข้อมูลเปิดซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวน นอกจากนี้ยังสามารถติดตามความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้ง่ายขึ้นจากฐานข้อมูล PEPs ซึ่งอาจขยายขอบเขตการสืบสวนจากข้าราชการไปยังนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ เพื่อช่วยระบุความเสี่ยงและผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
 
อีกทั้ง สมาชิกจาก Sinar Project อย่าง Khairil ได้แลกเปลี่ยนถึง “แนวทางในมาเลเซีย” ที่ทำงานผ่านการใช้สเปรดชีตร่วมกันในการเก็บข้อมูลการทุจริต เนื่องจากจะช่วยลดความซ้ำซ้อนและทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยเหลือในการต่อต้านทุจริต ไปจนถึงการช่วยเหลือในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมอื่น ๆ จากการใช้อำนาจในทางที่ผิดของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง ผ่านการใช้ข้อมูลเปิดที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่ทำให้สามารถระบุบุคคลหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐบาล หรือกิจกรรมสำคัญอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้กระบวนการสืบสวนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่ม OPEN DATA ได้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของฐานข้อมูลเสริม เช่น ข้อมูลผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Beneficial Ownership) ซึ่งเป็นเครื่องมือเสริมอีกชิ้นที่สามารถใช้ในการป้องกันการทุจริตได้ โดยจะช่วยให้ผู้สืบสวนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและติดตามความเชื่อมโยงข้ามพรมแดนได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นเพียงแค่ประโยชน์ในการต่อต้านการทุจริต แต่ยังสามารถใช้ในคดีทางกฎหมายอื่น ๆ ได้อีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ตลอดการประชุมโต๊ะกลม ผู้เข้าร่วมได้แสดงถึงความกังวลในประเด็นต่าง ๆ เช่น ปัญหาเรื่องความแตกต่างของภาษา เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนจะสามารถพูดหรืออ่านภาษาอังกฤษได้ ตลอดจนการประยุกต์ใช้เกณฑ์ของ PEPs ในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายทางการเงิน กฎหมายการค้า และการระบุผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการจัดการกรณีที่บุคคลไม่มีสถานะ PEPs หลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงเสนอให้มีการเก็บข้อมูลของบุคคลเหล่านั้นเอาไว้เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในอนาคต
 
ทั้งนี้ ในช่วงของการแสดงความเห็น ผู้เข้าร่วมได้กล่าวถึงความสำคัญของการนับรวมฐานข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprise :SOEs) ตลอดจนความจำเป็นในการติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลังออกจากตำแหน่งที่อาจยังคงมีอิทธิพลในภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการกำหนดช่วงเวลาคลายความตึงเครียด (Cooling-Off Period) หรือการมีระยะเวลาให้ไตร่ตรอง เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นใช้ตำแหน่งเดิมเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งแล้ว แต่ข้อมูลของพวกเขาก็ควรเข้าถึงได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งและการทุจริตในอดีตที่อาจส่งผลถึงปัจจุบันหรืออนาคต
 
ในช่วงท้ายของการพูดคุยได้มีการเน้นย้ำถึง “ฐานข้อมูลของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs)” ในฐานะของเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสในการสืบสวนการทุจริตและความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมธรรมาภิบาลในสังคมจากการมีความรับผิดชอบและความโปร่งใสมากขึ้นในประเทศไทยและมาเลเซีย ตลอดจนประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องฐานข้อมูลดังกล่าว ยังคงเป็นที่ตั้งคำถามถึงในการจัดเก็บและจัดการฐานข้อมูลของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยในระหว่างการสนทนา ผู้เข้าร่วมได้เสนอการสร้างเทมเพลตมาตฐานที่แต่ละประเทศสามารถใช้ร่วมกัน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วประเด็นดังกล่าว ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าควรที่จะได้ใช้ฐานข้อมูลกลางหรือแยกฐานข้อมูล เพื่อให้การจัดการและรวมข้อมูลมีความเหมาะสมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
 
หลังจากที่ได้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ เครื่องมือ และแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยข้อมูลเปิดเกี่ยวกับบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมืองจากผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคอาเซียน ทำให้เห็นถึงแนวทางและแผนการดำเนินงานในการพัฒนาการต่อต้านคอร์์รัปชันในภูมิภาคที่จะขับเคลื่อนร่วมกันในเครือข่าย SEA-ACN ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปในอนาคต
 
ทุกท่านสามารถติดตามกิจกรรมและการบรรยายที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของศูนย์ที่จะจัดต่อไปในอนาคต รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชันทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้ที่ Facebook : KRAC Corruption

You might also like...