การประชุมเชิงวิชาการด้าน
การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้ ครั้งที่ 1

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ ห้อง ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ชั้น 5 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCD) คณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ จัดงาน Chula The Impact ครั้งที่ 18 เรื่อง “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1”(International Conference on AntiCorruption Innovations in Southeast Asia) โดยมี รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ออกแบบนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่มาจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจากหลากหลายประเทศ

 

การประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนำเสนอความก้าวหน้าด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ การประชุมมุ่งประเด็นไปที่โครงการริเริ่มสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลของภาครัฐและองค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน และสร้างเวทีทางวิชาการที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน นักปฏิรูปภาคประชาสังคมและภาคเอกชน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายสาธารณะจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีส่วนร่วมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้เชิงนวัตกรรม ตลอดจนประสบการณ์การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ระหว่างองค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาคและนานาชาติต่อไป

 

 

การประชุมแบ่งเป็นการเสวนาและอภิปราย 3 ช่วง หัวข้อสำคัญในการอภิปรายได้แก่ การใช้ข้อมูลเปิดเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรม (Using Open Data to improve Governance and Integrity) การพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการบริหารการเงินที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ (Improving Oversight to Promote Transparent and Accountable Financial Management) การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ (Assessing and Addressing Corruption Risk Factors in Legislation)

You might also like...