ศึกษาประสบการณ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เรื่องความร่วมมือและระบบการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ให้เบาะแส (whistleblower) เพื่อเสนอแนะแนวทางป้องกันการทุจริตผ่านประสบการณ์ของประเทศกรณีศึกษาต่อไป และความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
งานวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และศึกษาประสบการณ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในเรื่องความร่วมมือ และระบบการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ให้เบาะแส (whistleblower) เพื่อเสนอแนะแนวทางป้องกันการทุจริตผ่านทางประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง และกฎหมาย
โดยประเด็นสำคัญของงานวิจัยเรื่องนี้ คือ การสร้างความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงระบบและกลไกในการป้องกันการทุจริต ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มุ่งเน้นการศึกษาด้านเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริบทด้านสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และกฏหมาย ตลอดจนการศึกษาภาคสนามด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสัมภาษณ์กลุ่มจากผู้เชี่ยวชาญ
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลการศึกษาแนวทางการป้องกันการทุจริตจากประเทศญี่ปุ่น สรุปได้ 3 เเนวทาง ดังนี้ (1) แนวทางด้านสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากญี่ปุ่นมีจิตสำนึกทางสังคมที่เรียกว่า “จิตสาธารณะ” หรือ การคำนึงถึง “ผู้อื่น” มากกว่าคำนึงถึงตัวเอง (2) แนวทางด้านระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้กรอบความคิดเรื่องพลเมือง ซึ่งถือว่าตนเองเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเป็นเจ้าของประเทศ จึงทำให้เกิดกรอบคิดเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of interest) อย่างชัดเจน และ (3) แนวทางการอภิบาลความร่วมมือ ทำให้กฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านและปราบปรามการคอร์รัปชัน มีความพิเศษตรงที่ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะในเรื่องการทุจริต หากแต่อาศัยกลไกทางด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักในการทำงานร่วมกัน
- ผลการศึกษาแนวทางการป้องกันการทุจริตจากประเทศเกาหลีใต้ พบว่ามีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเพื่อกวาดล้างเครือข่ายอำนาจทุจริต เเละมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อลดขั้นตอนของกฎระเบียบทางราชการให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่งผลต่อการป้องกันการทุจริต นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้แสดงถึงภาวะของความเป็นผู้นำโดยใช้กลยุทธ์การเปิดเผยทรัพย์สินของตนเองและครอบครัว ซึ่งเป็นเป็นกุศโลบายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับสูงปฏิบัติตามในเวลาต่อมา
- ผลการศึกษาบริบทของประเทศไทยต่อการป้องกันการทุจริต พบว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมยึดมั่นในตัวบุคคล ทำให้คนไทยไม่สนใจหลักการ กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ แต่จะพยายามสร้างความสัมพันธ์ หรือยึดโยงตนเอง กับ บุคคลที่มีอำนาจ อีกทั้ง คนไทยยังให้ความสำคัญ และยอมรับระบบอุปถัมภ์ เเละระบบพรรคพวก ซึ่งเป็นเรื่องของการสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ และอำนาจในรัฐ ส่งผลให้บุคคล หรือกลุ่มที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ หรือเครือข่าย ไม่ได้รับความยุติธรรม และถูกเลือกปฏิบัติ จนนำไปสู่ความไม่เสมอภาคในสังคม
- ผลจากการวิเคราะห์บริบทของกลไกของความสำเร็จในการต่อต้านการทุจริตของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พบว่ามาตรการต่อต้านการทุจริตของทั้งสองประเทศ ประกอบด้วยแนวคิดหลัก ได้แก่ แนวคิดธรรมาภิบาลความร่วมมือ (Collaborative Governance) แนวคิดการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต (Whistleblowers Protection) และแนวคิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interests) ซึ่งสามารถนำกลยุทธ์มาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพบริบททางสังคมของประเทศไทยได้
- ผลการศึกษาความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.และสำนักงาน ป.ป.ช. กับ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม ตลอดจนองค์กรอิสระ พบว่ามีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานของภาครัฐไทยและภาคประชาชนน้อยมาก ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของประเทศญี่ปุ่น เเละเกาหลีใต้ ที่มีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อต้านการทุจริตกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด จนสามารถยกระดับมาตรฐานเพื่อป้องกันการทุจริต และการดำเนินคดี กับ นักการเมืองผู้ดำรงตำเเหน่งระดับสูงและนักธุรกิจได้
- ผลการศึกษา สรุปว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในการปราบปรามการทุจริตของทุกประเทศ และปัจจัยสำคัญในการทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ คือ การปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างองค์กรในลักษณะของการธรรมาภิบาลความร่วมมือของแต่ละภาคส่วน ในส่วนของมาตรการป้องกันการทุจริตที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาระบบการให้ความคุ้มครองแก่ผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต เพราะระบบการให้ความคุ้มครองที่ดี จะสร้างความมั่นใจและทำให้เกิดการเฝ้าระวังจากประชาชน สำหรับข้อเสนอเเนะของประเทศไทย พบว่าการสร้างประชาธิปไตยแบบเข้มข้น (Thick Democracy) เป็นวิธีการยกระดับการป้องกันการทุจริตในไทยได้ โดยเน้นที่การสร้างระบบ และกลไกให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม การบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง การแก้ไขกฏหมายเพื่อลดการผูกขาดทางการตลาด และการใช้ดุลพินิจที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
สมชาย ธรรมสุทธิวัฒน์, อนันต์ เพชรใหม่, นนท์ น้าประทานสุข, นวลจันทร์ แจ้งจิตร และสว่าง มีแสง. (2561). การพัฒนาความร่วมมือและยกระดับการป้องกันการทุจริตในประเทศไทย: ศึกษาประสบการณ์ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.).
- สมชาย ธรรมสุทธิวัฒน์
- อนันต์ เพชรใหม่
- นนท์ น้าประทานสุข
- นวลจันทร์ แจ้งจิตร
- สว่าง มีแสง
หัวข้อ
ราชการไทยไร้คอร์รัปชัน : การสำรวจความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแจ้งเบาะแสการทุจริต
ศึกษาปัญหาการแจ้งเบาะแสการทุจริตในราชการไทย โดยใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่จากหน่วยงานรัฐส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น เพื่อสำรวจความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐและพฤติกรรมการแจ้งเบาะแสการทุจริต
มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชัน
ศึกษากลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชันและแนวทางเสริมสร้างกลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสคอร์รัปชันที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา ข้อเท็จจริง และสิทธิเสรีภาพ
การเสริมสร้างประสิทธิผลของระบบการให้เบาะแสในประเทศไทยและการส่งเสริมความร่วมมือในระดับพื้นที่ภาคใต้เพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ
พัฒนาและปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสให้สอดรับกับมาตรฐานสากลและสามารถรองรับ “ต้นทุน” ให้กับผู้แจ้งเบาะแสได้
การพัฒนาความร่วมมือและยกระดับการป้องกันการทุจริตในประเทศไทย: ศึกษาประสบการณ์ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ศึกษาความร่วมมือในการป้องกันการทุจริตระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และศึกษาประสบการณ์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เรื่องความร่วมมือและระบบการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ให้เบาะแส (whistleblower) เพื่อเสนอแนะแนวทางป้องกันการทุจริตผ่านทางประสบการณ์ของประเทศกรณีศึกษา