ลงมือสู้โกง : การศึกษาไทยหลังโควิด : รอยบาดแผลที่ต้องเร่งรักษา

เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ที่เด็กนักเรียนและนักศึกษาต่างต้องนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียนออนไลน์ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ส่วนของภาคการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็ประกาศให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถเปิดภาคเรียน โดยสามารถสอนในห้องเรียน (On Site) ได้อย่างเต็มรูปแบบ ในเบื้องต้นโรงเรียนที่สามารถเปิดได้จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ เพื่อยื่นขอการอนุมัติให้เปิดเรียน เช่น โรงเรียนต้องผ่านการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโรค COVID-19 (Thai Stop Covid)ในระดับสีเขียว สัดส่วนของครูและบุคลากรภายในโรงเรียนที่ได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 85 และ นักเรียนและผู้ปกครองจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เมื่อโรงเรียนผ่านเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ ทางโรงเรียนสามารถยื่นขอพิจารณากับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดเพื่อทำการอนุมัติให้สามารถเปิดโรงเรียนได้

ถึงแม้แนวโน้มของสถานการณ์จะค่อนข้างดีขึ้น แต่หากเรามองย้อนกลับไปจะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาด โควิด-19ในระลอกที่ผ่านๆ มา จนถึงปัจจุบันยังคงส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษา ทั้งเกิดเป็นปัญหาใหม่ หรือเป็นฉนวนที่เร่งให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมมีความรุนแรงมากขึ้น วันนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกท่านมารับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เปรียบเสมือนรอยบาดแผลที่ต้องเร่งรักษาให้กับระบบการศึกษาไทย

ปัญหาหลักสูตรที่ขาดความยืดหยุ่น ถือเป็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันมาเป็นระยะเวลานานในระบบการศึกษาไทย ด้วยลักษณะของตัวหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่เน้นการประเมินผลผู้เรียนในลักษณะการให้คะแนนหรือการตัดเกรด มีรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนตามรายวิชาที่บังคับ และประเมินตามตัวชี้วัดหรือคุณลักษณะที่กำหนดให้ เกิดเป็นการจำกัดการเรียนรู้และสร้างค่านิยมแข่งขันกันระหว่างผู้เรียน ส่งผลให้จากรูปแบบการศึกษาที่ควรจะเป็นการเรียนรู้ตามความต้องการและความสนใจของผู้เรียน กลับกลายเป็นการศึกษาที่สร้างความกดดันให้ตนเองต้องเป็นที่หนึ่ง และทำให้ผู้เรียนไม่สามารถค้นหาตัวเองได้ว่าตนเองชอบ หรือมีความถนัดในด้านใด เนื่องจากการเรียนรู้ที่จำกัดอยู่ในกรอบของรายวิชาบังคับ

ยิ่งในช่วงการเรียนออนไลน์ที่ถึงแม้ครูผู้สอนหลายคนจะมีการปรับกระบวนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ตัวหลักสูตรเองไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนหรือมีการยืดหยุ่นให้สอดคล้องตาม ครูผู้สอนยังคงต้องมีการประเมินตามตัวชี้วัดหรือคุณลักษณะที่เดิมออกแบบมาใช้สำหรับในช่วงสถานการณ์ที่ปกติ แต่เมื่อเป็นการสอนออนไลน์ ซึ่งมีกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและมีความจำกัด จึงส่งผลให้การประเมินผลผู้เรียนด้วยวิธีการให้คะแนนหรือตัดเกรดอาจไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวัดทักษะและสมรรถนะของผู้เรียนมากนัก

ปัญหาการสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss) คือ สภาวะการเรียนรู้ถดถอย ส่งผลให้พัฒนาการของผู้เรียนช้ากว่าปกติ จากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้โรงเรียนและสถานศึกษา ต่างต้องมีการปิดตัว ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์ ซึ่งอาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการเรียนรู้ในห้องเรียน จากส่วนหนึ่งของบทความ Covid Slide : บาดแผลใหญ่ทางการศึกษา ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า จากการที่ สพฐ. กำหนดให้ 1 ภาคการศึกษามีประมาณ 20 สัปดาห์ แต่ในช่วงภาคการศึกษาที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปิดโรงเรียนทั่วประเทศไป 15 สัปดาห์ และปิดบางส่วนเพิ่มเติมอีก 14 สัปดาห์ แสดงว่านักเรียนไทยไม่สามารถไปโรงเรียนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไปแล้วถึง 3 ใน 4 ภาคการศึกษา และเมื่อคำนวณแล้วนักเรียนไทยจะเสียการเรียนรู้ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ของภาคการศึกษา ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อผู้เรียนให้มีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่ามาตรฐาน และในระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่อาจจะได้แรงงานที่มีทักษะและศักยภาพไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ควรเร่งแก้ไข โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ. ได้ชี้แจงข้อมูลสถิติเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ในปีการศึกษา 2564 พบว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนประมาณ 5,654 คน และในช่วงสิ้นปีมีการคาดการณ์ว่าจะมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามากถึง 65,000 คน ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากการศึกษามีจำนวนมากขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น อินเตอร์เนต คอมพิวเตอร์ หรือ Smart device ต่างๆ

ซึ่งปัญหาดังกล่าวเชื่อมโยงกับปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกด้วย นักเรียนที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบต้องหยุดงานตามมาตรการควบคุมของรัฐบาล ถูกลดเงินเดือน หรือถูกจ้างให้ออก ทำให้ผู้ปกครองไม่มีต้นทุนที่เพียงพอสำหรับการจัดหาซื้ออุปกรณ์เรียนออนไลน์ให้กับบุตรหลานของตนเองได้ หรือหากเด็กมีความพร้อมในอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ก็ตาม แต่อาจจะขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้งานรวมทั้งผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานในการติดตามและดูแลการเรียนออนไลน์ก็ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้

ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดถือเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ และต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ผู้เขียนเล็งเห็นว่าการนำ หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มาปรับใช้จะช่วยให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นในหลัก การมีส่วนร่วม (Participation) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลักการของหลักธรรมาภิบาล

การที่องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยรักษารอยบาดแผลที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทยในขณะนี้ในปัญหาด้านหลักสูตร ทางกระทรวงศึกษาธิการควรมีการพิจารณาและทบทวนถึงความเหมาะสมของหลักสูตร และเปิดพื้นที่ให้ทางคุณครู และนักเรียนได้มามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และความต้องการเพื่อสามารถออกแบบหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน และช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน

ปัญหาด้านการสูญเสียการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน และคุณครู ควรหารือร่วมกันในการที่จะปรับรูปแบบการสอนหลังจากที่สามารถเปิดโรงเรียนได้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยต้องคำนึงถึงการที่ผู้เรียนต้องได้รับการชดเชยในความรู้ที่สูญเสียไปในช่วงที่เรียนออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ตามพัฒนาการของตนเอง

ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ถือเป็นปัญหาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกนโยบายที่คุ้มครองและรองรับกับกลุ่มเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และควรออกแนวทางการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ส่วนทางโรงเรียน และคุณครูควรที่จะให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนทุกคน โดยควรคำนึงถึงการเรียนรู้ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind) เป็นสำคัญ และในส่วนของผู้ปกครองซึ่งถือเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวเด็กมากที่สุดควรที่จะให้ความสำคัญ สอดส่อง และดูแลบุตรหลานของตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาหลุดจากระบบการศึกษา

ท้ายที่สุดผู้เขียนอยากให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบการศึกษา ระบบที่มีหน้าที่บ่มเพาะ ปลูกฝัง และมอบองค์ความรู้ให้กับเยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถเติบโตมาเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพ แต่สิ่งเหล่านี้ยากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าหากทุกภาคส่วนไม่เริ่มต้นร่วมมือกันรักษาบาดแผลของระบบการศึกษาตั้งแต่วันนี้ ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาวรอยบาดแผลเหล่านี้อาจยากที่จะรักษา และกลายเป็นรอยแผลเป็นที่ไม่มีทางลบเลือนไปได้ในที่สุด

 

 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

ภัทรชัย อ่อนน่วม

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น