ลงมือสู้โกง : กำลังใจที่มีให้อภิสิทธิ์ชนกับบ่อเกิดคอร์รัปชัน

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย เรามักจะได้ยินและมีการพูดถึงประเด็นของ“อภิสิทธิ์ชน” นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่นักการเมือง ดารา ศิลปิน ไปจนถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในแขนงต่างๆ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเขาอาจจะได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างจากสถานะของตนที่มากกว่า “ประชาชนทั่วไป” ตั้งแต่การเข้ารับการตรวจเชื้อ การที่ดาราบางคนได้รับวัคซีนจากภาครัฐก่อนประชาชนทั่วไปเพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงชักจูงให้ประชาชนอยากร่วมฉีดมากขึ้นด้วยอิทธิพลของคนบันเทิง ทั้งที่ในความเป็นจริงปริมาณวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรยังไม่ครอบคลุมถึงประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเสียด้วยซ้ำ รวมถึงเมื่อพบการติดเชื้อ COVID-19 เรามักจะเห็นว่าคนมีชื่อเสียงต่างๆ มีสิทธิ์ได้เตียงในการเข้ารับการรักษาอย่างง่ายดาย แตกต่างจากประชาชนทั่วไปที่มีกรณีเสียชีวิตจากการรอเตียงเพื่อเข้ารับการรักษาอยู่หลายครั้ง รวมไปจนถึง “การได้รับกำลังใจ” ซึ่งการให้กำลังใจแก่กันถือเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ในทุนเดิมว่า หากเรามีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราก็ย่อมที่จะอยากให้กำลังใจบุคคลนั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่หากบุคคลนั้นถูกตัดสินจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่าการกระทำของเขานั้นมีความผิดไม่ว่าจะเหตุใดข้างต้นหรือเหตุผลใดก็ตาม การให้กำลังใจนั้นถือเป็นความผิดหรือไม่ ?

หลายครั้งหากมีข่าวเกี่ยวกับการติดเชื้อ COVID-19 ของกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างประเทศ มักจะมีคอมเมนต์หรือความคิดเห็นเชิง “ด่าทอ” อย่างล้นหลามจนเรียกได้ว่าด่ากันจนแทบจะไม่เห็นเขาเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าการที่คนคนหนึ่งจะเกิดการติดเชื้อ COVID-19 ได้นั้น ย่อมมีโอกาสเกิดได้จากหลากหลายปัจจัยทั้งการไปสถานที่เดียวกับผู้ติดเชื้อ ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงสภาวะความเป็นอยู่ที่ไม่เอื้อให้เขาสามารถอยู่รอดในสังคมนี้ได้เท่าไรนัก จนออกมาเป็นภาพอย่างที่เห็นว่ายังไม่ต้องรู้อะไรแน่ชัดก็สามารถแปะป้ายว่าเขาผิดที่ทำตนจนติดเชื้อ พร้อมด่าออกไปอย่างไร้ความเห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์

ในทางกลับกันหากไปดูข่าวหรือโพสต์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงว่าพบเชื้อ COVID-19 ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดหรือไปที่ใดมาบ้างก็ตาม มักจะพบอัตราส่วนของคอมเมนต์ “ให้กำลังใจ” มากกว่าการ “ด่าทอ” อยู่หลายครั้ง ทั้งที่ความเป็นจริงอาจมีหลักฐานบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าเขาไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ มีการท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในช่วงที่หลายคนกักตัว หรือที่จริงแล้วอาจติดเชื้อด้วยสาเหตุเดียวกันกับกลุ่มแรงงานก็เป็นไปได้ แน่นอนว่าหากเป็นเหตุผลเพียงการท่องเที่ยวก็คงจะถือได้ว่าผิดเต็มประตูสำหรับสถานการณ์นี้ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสำหรับกรณีตัวอย่างทั้งสองจะพบได้ว่า ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรอัตราส่วนคอมเมนต์ก็จะยังคงไม่หนีจากเดิมมากนัก ชนชั้นแรงงานก็มักจะโดนด่า ส่วนอภิสิทธิ์ชนหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงก็จะได้รับคำอวยพรและกำลังใจพร้อมแว่นแห่งการเห็นใจว่าเขาคงไม่ได้ตั้งใจอยากติดเชื้อ มองกลับกันว่าแล้วชนชั้นแรงงานเขาตั้งใจติดเชื้อจริงหรือ ?

สิ่งที่สังเกตได้ผ่านกรอบของความสัมพันธ์คือ เมื่อเราไม่รู้จักหรือไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับบุคคลนั้น เรามักกล้าที่จะใช้บรรทัดฐานส่วนตนตัดสินบุคคลนั้นได้อย่างเต็มที่ในทันทีพร้อมด่าทออย่างไม่รีรอ ด้วยเหตุผลที่ว่าการทำผิดก็คือการทำผิด หากแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเราอาจเกิดความเชื่อมโยงกับบุคคลนั้นได้อย่างง่ายดาย เพราะเราอาจรู้ทั้งชื่อ ใบหน้า ประวัติ ผลงานที่ผ่านมา หรือข้อมูลใดๆ ที่ประกอบสร้างให้เรามองเขาเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจคนหนึ่งเฉกเช่นกับเรา ต่างจากการรู้แค่ว่าเขาเป็นแรงงานคนหนึ่งที่ไม่รู้จักแม้แต่ใบหน้าหรือชื่อเรียก จึงทำให้ไม่เกิดภาพที่ชัดเจนว่าเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน ส่วนนี้จึงทำให้บรรทัดฐานของแต่ละคนถูกนำออกมาใช้ในแบบที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสถานะทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องภายใต้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจึงยิ่งทำให้บรรทัดฐานในการตัดสินคนสองกลุ่มนี้มีช่องว่างระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

การมีบรรทัดฐานที่สูงและชัดเจนเป็นอีกหนึ่งลักษณะสำคัญของบุคคลในกลุ่มแนวหน้าต้านโกงตามงานวิจัยการตลาดต้านโกง ภายใต้โครงการวิจัย “การตลาดเชิงประยุกต์สำหรับกระตุ้นและจำแนกกลุ่มประชาชนที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยคณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังลดบรรทัดฐานตนเองลงเพราะเหตุแห่งสายใยความสัมพันธ์นั้น ก็อาจไม่ต่างอะไรกับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยที่ส่วนหนึ่งเรื้อรังมาจากเส้นสายและความสัมพันธ์เช่นกัน หลายครั้งที่สถานะทางสังคมและความสัมพันธ์ส่วนบุคคลแบบไทยๆ ส่งผลให้เกิดปัญหา คอร์รัปชันและความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้เส้นสายในการฝากเข้าเรียนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษา การใช้เส้นสายฝากเข้าทำงานจนส่งผลให้บริษัทได้บุคลากรที่อาจไม่มีคุณภาพและบุคคลมากความสามารถกลับพลาดงานนั้นแทน รวมไปถึงการใช้เส้นสายความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรม จนส่งให้ภาษีประชาชนที่หมุนเวียนในระบบนั้นกลายมาเป็นผลงานที่ไร้คุณภาพและละลายไปกับการพัฒนาประเทศอย่างเปล่าประโยชน์ในที่สุด

ดังนั้นหากคุณรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องราวใดๆที่หลั่งไหลเข้ามาผ่านประสาทการรับรู้ในแต่ละช่องทาง แล้วอยากจะ “ให้กำลังใจ” ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น “อภิสิทธิ์ชน” หรือ “ประชาชนทั่วไป” หากตัดสินตามบรรทัดฐานแล้วว่ามีความผิด การให้กำลังใจก็ไม่ใช่สิ่งผิด เพราะนั่นก็อาจกำลังแสดงให้เห็นว่าคุณได้มองมนุษย์ที่เป็นมนุษย์อยู่จริงๆ เพียงแต่ต้องอย่ามองข้าม
สิ่งผิดที่เขาผู้นั้นได้กระทำลงไปเช่นกัน เพราะอย่างไร “สิ่งผิดก็คือสิ่งผิด” เมื่อคุณสามารถรับรู้เรื่องราวในฐานะมนุษย์ไปพร้อมกับเส้นบรรทัดฐานที่หนักแน่นคงเดิมไว้ได้ เมื่อนั้นสิ่งที่คุณแสดงออกไปคงจะไม่ใช่เพียงการด่าหรือการให้กำลังใจอย่างใดอย่างหนึ่งในมิติเดียวอีกต่อไป แต่อาจกลายเป็นกำลังใจที่มาพร้อมกับคำแนะนำพร้อมส่งต่อบรรทัดฐานนั้นไปยังผู้อื่น หากไม่อย่างนั้นนั่นก็อาจแสดงถึงบ่อเกิด คอร์รัปชันในตัวคุณได้แล้วเช่นเดียวกัน

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

นรภัทร นาคยศ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย

การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น