คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : การกลับคืนสู่อำนาจของทรัมป์: ผลกระทบต่อกระแสความคิดและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือนของ ค.ศ. 2025 การเมืองไทยและโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก โดยการเปลี่ยนแปลงแรกที่เขย่าโลก คือ การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาอีกครั้งของนายโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ เมื่อ วันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025 โดยผลงานแรกของประธานาธิบดีคนที่ 47 ดำเนินการทันทีหลังเข้าพิธีสาบาน คือ การลงนามเพิกถอนคำสั่งฝ่ายบริหารที่เกิดขึ้นในยุคของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน จำนวน 78 ฉบับ ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบไปในระดับโลกด้วย

นอกจากการเพิกถอนคำสั่งฝ่ายบริหารดังกล่าว ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และลงนามในคำสั่งที่สร้างผลกระทบให้กับประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายภาคส่วน เช่น คำสั่งการรับรองเพศสภาพให้มีเพียงแค่ “สอง” เพศเท่านั้น คือ เพศชายและเพศหญิง อีกทั้ง ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ได้แก่ คำสั่งที่ระบุว่า สหรัฐฯ จะถอนตัวจากความตกลงปารีส(Paris Agreement) ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอีกครั้ง และคำสั่งระงับการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้คนต่างคาดเดาว่าตลอด 4 ปี ในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ครั้งนี้คงไม่ต่างอะไรไปจากช่วงที่เขาเคยดำรงตำแหน่งในสมัยแรก (ระหว่าง ค.ศ. 2017 ถึง ค.ศ. 2021) แต่ในความคิดของผู้เขียนเอง ทรัมป์ในสมัยที่ 2 อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกอย่างรุนแรงมากกว่าสมัยแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง ซึ่งเราอาจจะได้เห็นถึงการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายใหม่ของทรัมป์บนสื่อต่างๆ ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งเราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นกัน คือ ผลกระทบจากนโยบายใหม่ของทรัมป์ ที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการผลักดันประเด็นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาล

ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนขอพาผู้อ่านทุกท่านร่วมวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการดำรงตำแหน่งเพียง 3 ถึง 4 เดือนของประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ที่ไม่เพียงสร้างผลกระทบแค่ในประเทศ แต่สร้างผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก และผู้อ่านอาจไม่คาดคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีกระทบต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและการสร้างธรรมาภิบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน

ผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการสนับสนุนความช่วยเหลือในโครงการด้านมนุษยธรรม

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั่วโลกคือ การสั่งระงับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ สำหรับประเทศต่างๆ เกือบทั้งหมดทั่วโลก โดยจะมีผลทันทีนับจากวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2025 เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงต่อเงินทุนที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ที่ส่งไปช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ทั่วโลก

จากคำสั่งดังกล่าว ทำให้โครงการและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ (NGO) ทั่วโลก ที่พึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากUSAID ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากและถึงขั้นปิดตัวลงในบางที่โดยองค์กรเหล่านี้มีพันธกิจเพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ โดยครอบคลุมถึงความช่วยเหลือด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ และสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศ

สำหรับผู้เขียนเอง คำสั่งหรือมาตรการระงับเงินช่วยเหลือต่างประเทศที่ทรัมป์ดำเนินการนั้น ถือเป็นหายนะที่สร้างความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ต่อโลก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากในภูมิภาคนี้ มีโครงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก USAID เป็นจำนวนมาก และหลังจากมีคำสั่งดังกล่าว หลายโครงการที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที เช่น โรงพยาบาลค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนประเทศไทยและประเทศเมียนมา ที่ได้ยุติหน้าที่ทันทีหลังจากมีมาตรการดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยทั้งหมดยกเว้นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลดังกล่าว ต้องออกจากโรงพยาบาล และไม่มีการรับผู้ป่วยนอกอีกต่อไป

ไม่เพียงแต่ความเสียหายด้านบริหารสาธารณสุขเท่านั้น โครงการพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายหน่วยงานหรือโครงการที่ปิดตัวลง เนื่องจากขาดเงินทุนสนับสนุนต่างประเทศจากสหรัฐฯ ซึ่งโครงการเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน ดังนั้นเมื่อโครงการเหล่านี้หายไปอาจจะทำให้ความพยายามในการสร้างระบบนิเวศในการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้นหยุดชะงักไปเช่นกัน

ผลกระทบต่อกระแสความคิดในระบบการเมืองระหว่างประเทศ

หลังจากชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็น สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว ได้กำหนดระเบียบโลกใหม่บนพื้นฐานแนวคิดแบบ“เสรีนิยม (Liberalism)” ที่มาทั้งในรูปแบบการเมืองภายใต้กระแสประชาธิปไตย และรูปแบบทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อีกทั้ง กระแสแนวคิดดังกล่าวยังมาพร้อมกับการให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในภาครัฐ และความเท่าเทียมทางเพศ

นับจากสงครามเย็นจบลงเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี การเมืองระหว่างประเทศถูกกำหนดด้วยกรอบของคำว่า เสรีนิยม ดังนั้นแม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะขัดกับการเมืองภายในของบางประเทศ แต่กระแสเสรีนิยมยังเป็นกระแสหลักของโลก และสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำแนวคิดนี้ได้เข้าแทรกแซงในหลายประเทศเพื่อให้ประเทศเหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบของระเบียบโลกที่สหรัฐฯ เป็นผู้สร้าง

อย่างไรก็ตาม กระแสเสรีนิยมถูกท้าทายมาโดยตลอด ซึ่งเหตุการณ์แรกที่ท้าทายกระแสเสรีนิยม คือ เหตุการณ์ 9/11 หรือ September 11 attacks ที่ได้ปลุกกระแสชาตินิยม (Nationalism) และกระแสหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ขึ้นทั่วโลก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้กระแสเสรีนิยมที่หลายๆ ประเทศกำลังยึดถือสั่นคลอน และทำให้กระแสชาตินิยมในประเทศต่างๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อีกทั้ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระแสเสรีนิยมถูกท้าทายอย่างหนักจากปรากฏการณ์ Brexit หรือการที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (European Union : EU) และเหตุการณ์ที่ทรัมป์ชนะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกใน ค.ศ. 2016

โดยสาเหตุหลักที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ Brexit มีหลายประการ เช่น ความไม่พอใจในการส่งเงินช่วยเหลือประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ นโยบายแรงงานข้ามชาติเสรีของสหภาพยุโรปที่ทำให้อัตราการว่างงานของคนอังกฤษมีมากยิ่งขึ้น และการแบกรับผู้อพยพตามนโยบายของสหภาพยุโรป โดยสาเหตุเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงกระแสชาตินิยมของสหราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก นอกจากเหตุการณ์ Brexit แล้ว อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นในระบบเสรีนิยมมากที่สุด คือ การได้รับชัยชนะในตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์

ชัยชนะครั้งแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นว่า กระแสประชานิยมปีกขวา (Right wing populism) กำลังจะมาแทนที่กระแสเสรีนิยม โดย กระแสประชานิยมปีกขวา เป็นกระแสอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง โดยกระแสดังกล่าวจะมุ่งเน้นถึงผลประโยชน์ของคนในชาติก่อน และโจมตีกระแสเสรีนิยมที่ผู้นำประเทศในหลายๆ ประเทศกำลังยึดถือว่า แนวคิดนี้ไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ซึ่งกระแสฝ่ายขวาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่สหรัฐฯ แต่ค่อยๆ เติบโตขึ้นผ่านชัยชนะของผู้นำฝ่ายขวาในหลายประเทศทั่วโลก

แม้ระยะเวลาการบริหารภายใต้แนวคิดฝ่ายขวาของทรัมป์จะมีระยะเวลาเพียงแค่ 4 ปี แต่แนวคิดฝ่ายขวาสุดโต่งที่ได้ฝังรากลึกลงไปในประชาชนสหรัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดผ่านชัยชนะครั้งที่ 2 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และนโยบายที่กล่าวไปข้างต้นของทรัมป์เป็นนโยบายขวาจัดที่ส่งผลกระทบต่อเวทีระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดนโยบายขึ้นภาษีศุลกากร (tariff) ที่ประกาศออกมาในช่วงต้นเดือนเมษายนนั้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก อีกทั้ง นโยบายดังกล่าวได้เข้ามาบั่นทอนระบบแนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบการค้าเสรีเป็นอย่างมาก

โดยสรุป แม้ทรัมป์จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งเพียงแค่ 3 ถึง 4 เดือนแต่นโยบายของเขาได้สร้างผลกระทบต่อโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หลายประเทศยังคงอยู่ในสภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ การระงับความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ส่งผลให้โครงการที่เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศเหล่านั้นในด้านต่างๆ หยุดชะงัก โดยเฉพาะปัญหาคอร์รัปชันในภูมิภาคที่อาศัยการขับเคลื่อนจากทั้งภาครัฐและภาคประชาชน เมื่อโครงการและหน่วยงานภาคประชาชนที่มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในภูมิภาคถูกระงับเงินทุนและปิดตัวลงในบางองค์กร ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันที่มีอยู่อาจจะฝังรากลึกยิ่งขึ้น และยากต่อการแก้ไขในอนาคต นอกจากนั้น การกลับมาของแนวคิดชาตินิยมฝ่ายขวา ทำให้ระเบียบโลกใหม่ถูกท้าทายเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศขนาดเล็กที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือจากภายนอกเป็นหลัก

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง

ศรันย์ชนก ลิมวิสิฐธนกร

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อ ‘งบก่อสร้าง’ ไม่ได้สร้างแค่ถนน แต่สร้างรายได้พิเศษให้บางคนด้วย

จากที่ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในนามนักวิชาการอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ผมถือว่าหน้าที่นี้คือโอกาสสำคัญที่จะได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

You might also like...

ยุุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชน

จากการวิเคราะห์ TOWS Matrix 4 ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐ สามารถพัฒนาเป็นโมเดลยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชนได้

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อ ‘งบก่อสร้าง’ ไม่ได้สร้างแค่ถนน แต่สร้างรายได้พิเศษให้บางคนด้วย

จากที่ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในนามนักวิชาการอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ผมถือว่าหน้าที่นี้คือโอกาสสำคัญที่จะได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | การต่อต้านการทุจริต อาจต้องเริ่มที่ความเข้าใจของประชาชน

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 1,041 คน ในปี 2562 ชี้คนไทยครึ่งประเทศไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช.