คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : การศึกษาไทยและเด็กที่หายไประหว่างทาง

ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาในประเทศไทยมีมาอย่างยาวนาน โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการขาดการเข้าถึงโอกาสของผู้ที่มีรายได้น้อย แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนระดับมัธยมปลาย แต่ยังพบอุปสรรคที่เป็นช่องโหว่ของนโยบายเรียนฟรี 15 ปีในส่วนของเงินอุดหนุนรายการปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนที่ยังไม่ครอบคลุมนักเรียนยากจนในระดับปฐมวัยและระดับมัธยมปลาย และยังพบว่าการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อนักเรียนยากจนมีเพียงร้อยละ 0.5 ของงบประมาณด้านการศึกษาเท่านั้น ยิ่งส่งผลให้เด็กที่ครอบครัวเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยยิ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา

จากสถิติข้อมูลนักเรียนจากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เฉพาะในส่วนที่บริหารจัดการในภาครัฐ พบว่าเด็กนักเรียนชั้น ป.1 – ม.6/ปวช.3 ช่วงปี 2565 พบว่ามีอัตราเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 118,861 คน หรือคิดเป็น 20.4% ส่วนหนึ่งตัดสินใจออกจากระบบเพื่อไปศึกษาหาความรู้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง, ระบบ Home School หรือ กศน. แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่จำใจต้องออกจากระบบการศึกษาด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจภายในครอบครัวเพราะไม่มีทุนในการศึกษา จึงต้องเดินหน้าในทางที่ไม่ได้เลือก

“ทุนการศึกษา” ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยมอบโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาสได้สามารถกลับมาเรียนได้อีกครั้ง แต่ไม่ใช่เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาทุกคนจะได้รับ “โอกาส” เพราะทุนการศึกษามีจำกัด เด็กด้อยโอกาสจำนวนมากจึงต้องแข่งกันเพื่อคว้าทุนการศึกษา ผู้เขียนได้เล็งเห็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาทุนการศึกษาในสังคมไทยมีดังนี้

1.จำนวนทุนการศึกษาที่มีอย่างจำกัดไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กด้อยโอกาส ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนส่งผลให้มีผู้ที่บริจาคทุนการศึกษาน้อยลง รวมไปถึงรัฐบาลที่ได้มีการตัดงบการศึกษา จึงทำให้เด็กด้อยโอกาสจำนวนมากต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งทุนการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัด

2.เด็กด้อยโอกาสไม่สามารถเข้าถึงทุนการศึกษาได้ ไม่ใช่เด็กทุกคนจะรู้และสามารถเข้าถึง ทุนการศึกษาได้ เพราะเด็กส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทุนการศึกษา และยังมีเด็กบางกลุ่มที่ไม่กล้าขอทุนการศึกษาเพราะอายเพื่อน ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการของสถานศึกษาบางกลุ่มที่ละเลยเด็ก จนทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงทุนการศึกษาได้

3.หลักเกณฑ์การพิจารณาทุนการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม เมื่อพูดถึงการให้ทุนการศึกษา “เด็กด้อยโอกาส” คือกลุ่มคนแรกๆ ที่สมควรได้รับโอกาสทางการศึกษา แต่มีเด็กด้อยโอกาสอีกมากที่ไม่ผ่านการพิจารณาทุนด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาทุนที่ไม่ใช่แค่ยากจนอย่างเดียว เช่น ต้องมีผลการเรียนที่ดี ต้องมีการทำกิจกรรมต่างๆ จนทำให้เด็กยากจนที่ไม่ได้เรียนเก่งหรือมีต้นทุนสำหรับการไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ พลาดโอกาสในการได้รับทุนในการศึกษา อีกหนึ่งปัญหาการพิจารณาทุนที่ไม่เท่าเทียมที่พบมากคือ “ระบบคนสนิท” มีครูบางส่วนที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาทุนให้เด็กมักจะให้ทุนกับเด็กนักเรียนที่ตัวเองมีความสนิทสนมด้วย หรือเด็กนักเรียนที่เป็นญาติกัน

4.ประชาชนทั่วไปรวมถึงเด็กนักเรียนไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของการใช้งบทุนการศึกษาได้ เงินทุนที่เหลือจะทำอย่างไร? เงินทุนกว่าจะถึงมือเด็กได้ผ่านมือใครมาบ้าง? ผู้เขียนเชื่อว่าคำถามเหล่านี้ทุกคนล้วนสงสัย สถานศึกษาจึงควรจัดทำการเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรงบทุนการศึกษาให้ประชาชนและเด็กได้ทราบ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสในการจัดทุน

จึงนำไปสู่ผลกระทบ ที่ไม่ได้จบแค่คนกลุ่มเดียว

เพราะเด็กไม่มี “เงิน” จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เด็กเลือกที่จะหันหลังให้กับการศึกษา สังคมมักกล่าวโทษเด็กที่หันหลังให้การศึกษาว่าเป็นเด็กไม่มีความรับผิดชอบ เด็กเกเร แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่กล่าวมาใช่เหตุผลที่แท้จริงหรือไม่ ปัญหาที่เห็นได้ชัดเมื่อเด็กหันหลังให้การศึกษา คือ การหันไปพึ่งยาเสพติด การมีพฤติกรรมเป็นเด็กแว้นที่สร้างความวุ่นวายในสังคม หรือหนักสุดก็คงเป็นการทำผิดร้ายแรงที่อาจทำให้ต้องจำคุก ดังนั้นผู้เขียนจึงเล็งเห็นถึงปัญหาการไม่มีทุนในการศึกษาว่ามีผลกระทบในวงกว้าง มีหลายกลุ่มในสังคมได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นตัวเด็ก ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงสังคม ซึ่งแน่นอนว่า คนที่จะรับผิดชอบผลที่ตามมาไม่ใช่แค่เพียงตัวเด็ก แต่เป็น “ทุกคนในสังคม” ที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เด็กด้อยโอกาสได้เข้าถึงทุนการศึกษา

เพราะการแก้ปัญหาที่ดี เริ่มด้วยการมีหลักธรรมาภิบาล

จากประเด็นปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นผู้เขียนเห็นว่าเราสามารถนำหลักธรรมาภิบาลมา ประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านทุนการศึกษาได้ ผู้เขียนเชื่อว่าเราสามารถนำ “หลักความโปร่งใส” มาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาทุนการศึกษาได้ เช่น การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสในการจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อให้สามารถติดตาม และเข้าใจถึงกระบวนการในการคัดเลือกทุน ปริมาณทุนที่ใช้ไป รวมไปถึงผลลัพธ์ของการใช้ทุนการศึกษา

นอกจากนี้ยังสามารถนำ “หลักการมีส่วนร่วม”เข้ามาประยุกต์ใช้ได้โดยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นักเรียน ครู โรงเรียน ผู้ปกครอง หรือบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนในการจัดสรรงบประมาณทุนการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย รวมไปถึงพิจารณาในการจัดสรรทุนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบการจัดสรรทุน

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

อริยพร วิชิตา

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

ลงมือสู้โกง : เปลี่ยนการศึกษาไทย ด้วยการเปิดข้อมูลโรงเรียน

เด็กนักเรียนไทย จะมีสิทธิตั้งคำถามและสามารถหาคำตอบให้กับข้อสงสัยที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจากการสืบค้นข้อมูลเองได้หรือไม่ ?

ลงมือสู้โกง : การศึกษาไทยหลังโควิด : รอยบาดแผลที่ต้องเร่งรักษา

เกือบ 2 ปี ที่เราเผชิญกับสถานการณ์ Covid-19 เช่นเดียวกันกับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เป็นการเรียนออนไลน์ แทน

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น