ก่อนจะเล่าถึงเรื่องราวของบทความนี้ผู้เขียนอยากจะชวนทุกท่านร่วมตอบคำถามในใจกันก่อนสัก 2 คำถามค่ะ
1) เมื่อพูดคำว่า คอร์รัปชัน ทุกท่านจะคิดถึงสถานการณ์อะไรกันบ้างคะ?
2) ท่านยังพบเห็นสถานการณ์นั้นอยู่ในปัจจุบันหรือป่าว?
ขอเดาว่าคำตอบแรกคงจะมีหลากหลาย ต่างไปตามประสบการณ์ของผู้อ่าน แต่มั่นใจได้เลยว่าคำตอบที่สองของทุกท่านจะเหมือนกันคือ “ยังพบเห็นเช่นเดิม” คงมีบ้างที่ทุเลาไปแต่ไม่ถึงกับเกิดการเปลี่ยนแปลง.. ด้วยคำตอบของคำถามสั้นๆ นี้ อาจสะท้อนให้เราเห็นได้เลยค่ะว่า คอร์รัปชันในประเทศไทยไม่เคยไปไหนเลย
เพื่อพาทุกท่านคิดเช่นพลเมืองไปพร้อมกันกับบทความนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงการคอร์รัปชันในภาครัฐ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่และแน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องกับประชาชนคนไทยทุกคน นั่นก็คือ “การจัดซื้อจัดจ้าง
ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “การจัดซื้อจัดจ้าง หมายถึงการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุโดยการซื้อ จ้าง เช่า แลกเปลี่ยน หรือโดยนิติกรรมอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง “พัสดุ” หมายความว่า สินค้า งานบริการ งานก่อสร้างงานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง รวมทั้งการดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นการซื้อกระดาษหนึ่งรีมหรือปากกาเพียงหนึ่งด้าม ไปจนถึงงานก่อสร้างสะพาน อาคาร ถนน ของหน่วยงานรัฐ ก็ย่อมคือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งสิ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเกิดขึ้นในแต่ละปีงบประมาณรวมกว่า 5 ล้านโครงการ คิดเป็นมูลค่าที่ภาครัฐใช้จ่ายไปกับการดำเนินงานต่างๆ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี แต่กลับเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การจัดซื้อจัดจ้างนี้แหละ ดันเป็นจุดเสี่ยงอันดับ 1 ต่อการเกิดคอร์รัปชันในภาครัฐ
ในปี 2563 GAN Integrity องค์กรที่ปรึกษาด้านจริยธรรมให้กับธุรกิจระดับโลกในสหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันของ 136 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยอ้างอิงถึงงานศึกษาในช่วงปี 2559 – 2560 จาก Global Competitiveness Report โดย World Economic Forum และ Enterprise Survey โดย World Bank Group ว่า เอกชนระบุว่าการจ่ายสินบนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้งานกับภาครัฐนั้นเป็นเรื่องปกติ โดยมากกว่า 2 ใน 5 คาดหวังว่าการให้ของขวัญกับหน่วยงานจะทำให้การได้รับงานโครงการภาครัฐราบรื่นขึ้น สอดคล้องกับการที่หลายบริษัทกล่าวว่าการเบี่ยงเบนงบประมาณและการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นเรื่องปกติมาก ซึ่งการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมักเกิดขึ้นระหว่างการยื่นซองประกวดราคา การประกาศผู้ชนะ การคัดเลือกผู้รับจ้าง และการบริหารสัญญา ยิ่งไปกว่านั้นคือผลจากแบบสอบถาม Thailand Economic Crime and Fraud โดย Pricewaterhouse Coopers ที่ระบุว่า การฮั้วประมูลเกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ให้ข้อมูลภายในและข้อมูลความลับเกี่ยวกับราคา ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมด้วย
แนวคิด โครงสร้าง ไปจนถึงพฤติการณ์ดังข้างต้น จึงไม่ต่างจากหลุมดำที่วนเวียนกัดกินความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย..เพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะขอหยิบยกตัวอย่างข่าวคอร์รัปชันในภาครัฐที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างมาเทียบเคียงและชวนทุกท่านร่วมถอดรหัสคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไปพร้อมกันค่ะ
กรณีศึกษาที่ 1 ข้าราชการซีสูง ทุจริตจัดซื้อวัสดุมานานกว่า 10 ปี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท ซึ่งเป็นข่าวดังมากเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในผู้ต้องหาคือนาง A เป็นเจ้าหน้าที่จัดทำรายการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ที่เสนอรายการจัดซื้อต่อ นาง B หัวหน้าผู้มีอำนาจในการอนุมัติที่มีความสัมพันธ์เป็นแม่ของตนเอง โดยรายการที่จัดซื้อนั้นมักใช้งบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท เลือกซื้อวัสดุชิ้นเล็กประเภทสิ้นเปลือง และทำการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งสั่งซื้อจากบริษัทรายเดิมซ้ำๆ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทที่มีนาย C (สามีของนาง A หรือลูกเขยของนาง B) เป็นเจ้าของ กับ อีกบริษัทที่มีชื่อนาง A เป็นเจ้าของบริษัทเสียเอง ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบข้อพิรุธในเลขหนังสือจัดซื้อ ซึ่งเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด ประกอบกับการปลอมลายมือชื่อผู้อำนวยการและกรรมการตรวจรับในทุกรายการที่ปลอมเอกสารจัดซื้อจัดจ้างอีกด้วย
กรณีศึกษาที่ 2 อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดังในหาดใหญ่พร้อมกับพวกร่วมกันเอื้อประโยชน์ผู้รับจ้าง โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำพิพากษาเมื่อปี 2565 กับคดีโครงการก่อสร้างหอประชุม ที่อำนวยให้เอกชนซึ่งมีกรรมการบริษัทเป็นพี่น้องนามสกุลเดียวกับท่านผู้อำนวยการมีสิทธิเข้าทำสัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างกรณีพิเศษ และจ่ายเงินค่าจ้างนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญา และเมื่อปี 2566 กับคดีเอื้อประโยชน์ให้น้องสาวเป็นคู่สัญญาตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี และไม่นำเงินส่วนลดค่าหนังสือเข้าบัญชีเงินสวัสดิการโรงเรียน
จะเห็นได้ว่า ทั้งผลสำรวจจากงานศึกษาในตอนต้นและกรณีศึกษาจากคดีที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย หากเราลองสกัดแบบแผนและระบุตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันนี้ออกมา จะพบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง ได้แก่ เอกชน ระบบ(กระบวนการ) และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเกิดการคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง กล่าวคือ
1) เอกชนเป็นตัวแปรที่รับผลประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาโดยมีเป้าหมายและกลไกแอบแฝงที่ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงิน เอกชนอาจติดสินบนและใช้กลยุทธ์อื่นใดเพื่อลดการแข่งขันและเพิ่มโอกาสในการได้งาน
2) ระบบ(กระบวนการ) ด้วยข้อระเบียบมากมายซึ่งเป็นสิ่งแข็งทื่อแตะต้องไม่ได้ แต่กลับกลายเป็นช่องโหว่ที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อทุจริตได้ง่ายขึ้น เช่น การมีวิธีจัดซื้อจัดจ้างหลายรูปแบบ การกำหนดให้ผู้เสนอราคาต่ำสุดชนะ การมีโครงสร้างในกระบวนงานที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ เป็นต้น ในทางหนึ่งอาจทำให้มีแบบแผนและสามารถช่วยสนับสนุน/ร่นระยะเวลาในการทำงานของหน่วยงาน แต่ในอีกทางหนึ่งอาจตกเป็นเป้าให้คนเลือกใช้ เลือกให้เหตุผลเพื่อตักตวงผลประโยชน์ และอาจเป็นผลกระทบที่ทำให้ภาษีถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่า ประชาชนได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ
3) เจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลซึ่งพึงมีคุณธรรมจริยธรรม และยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน แต่ในความจริงยังพบจุดบอดในการใช้ดุลยพินิจ ซึ่งในสภาพสังคมไทยที่ยังมีรากปัญหาตามที่ผู้เขียนได้แจกแจงในข้างต้น เป็นปัจจัยที่คอยกระตุ้นให้ความรับผิดรับชอบของเจ้าหน้าที่รัฐลดลง แนวปฏิบัติซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมหล่อหลอมให้เห็นว่าจุดบอดเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นวงจรซึ่งนำไปสู่เงามืดและผลประโยชน์ทับซ้อนในท้ายที่สุด
นอกเหนือจาก 3 ตัวแปรนี้แล้ว ผู้เขียนขอเพิ่มเติมในอีก 2 ส่วน ที่จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ คือ..
4) หน่วยงานติดตามตรวจสอบ ที่ยังถือว่าอ่อนแอเมื่อเทียบกับสถานการณ์คอร์รัปชันในสังคม แม้เราจะเห็นผลงานและภารกิจมากมายที่น่าชื่นชม แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามถึงกระบวนการที่หน่วยงานได้ลงมือทำ เพราะด้วยการทำงานที่แยกส่วน การตอบสนองที่เชื่องช้า และการเน้นปฏิบัติงานในเชิงรับ เช่น กว่าเบาะแส หนึ่งจะได้พิพากษา ผู้กระทำผิดนั้นอาจไปก่อคดีซ้ำเพิ่มอีกก็เป็นได้ ดังนั้นในบทบาทของผู้ติดตามตรวจสอบจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาเน้นงานเชิงรุกที่จะสามารถขจัดจุดเสี่ยงคอร์รัปชันได้อย่างจริงจัง
และท้ายที่สุดตัวแปรส่วนที่ 5) ประชาชนทุกคน ในฐานะของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และผู้ที่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ควรกระทำ ไม่ควรเพิกเฉย และไม่ควรเห็นว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตา และส่งเสียงเมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล โดยอาจเริ่มต้นจากการสังเกตสถานการณ์คอร์รัปชันรอบด้าน และจับตาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง โดยหากพบเบาะแสใดที่ส่อทุจริต ก็สามารถส่งต่อเบาะแสมายังช่องทางของส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้
นี่เป็นรหัสเพียงส่วนหนึ่งของกลคอร์รัปชันที่ ไม่เคยไปไหนเลยจากสังคมไทย ยังมีกลโกงอีกหลายรูปแบบที่แฝงลึกไปด้วยปัจจัยอีกมากมายที่ผู้เขียนยังไม่ได้กล่าวถึงในครั้งนี้ แต่มันยังคงถูกผลิตซ้ำ หรือกำเนิดใหม่เรื่อยๆ เพื่อกัดกินความโปร่งใสของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อเราได้คิดเช่นพลเมือง เห็นเช่นพลเมือง ก็ขอจงเป็นเช่นพลเมือง เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและสังคมโปร่งใสไปพร้อมกันนะคะ
ก่อนลากันไป หากเรื่องที่เราได้คิดเช่นพลเมืองร่วมกันดันไปตรงกับประสบการณ์ของท่านหรือในท้องถิ่นท่าน อย่าลืมมาร่วมส่งเสียงกับเราผ่าน HAND Social Enterprise, เฟซบุ๊กเพจต้องแฉ,หรือ ไลน์ฟ้องโกงด้วยแชตบอต (@corruptionwatch) ได้เลย!
ศุทธิรัตน์ พัชรวุฒิพันธุ์
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด