คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : ขอเป็นที่รักในใจเธอได้ไหม : ประเทศไทยกับการสร้าง Soft Power ผ่านการมีธรรมาภิบาล

“More than four centuries ago, Niccolo Machiavelli advised princes in Italy that it was more important to be feared than to be loved. But in today’s world, it is best to be both. Winning hearts and minds has always been important, but it is even more so in a global information age. (Nye Jr. 2004: 1)”

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ Soft Power, The Means to Success in World Politics ของ Joseph S. Nye โดยผู้เขียนได้กล่าวถึง นิกโกโล มาเคียเวลลี หรือผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Prince ที่ได้ให้คำแนะนำแก่เจ้าผู้ครองนครรัฐอิตาลี ว่า การเป็นหวาดกลัวนั้นสำคัญยิ่งกว่าการเป็นที่รัก กล่าวคือ การเป็นที่น่าเกรงขามจะทำให้นครรัฐนั้นอยู่รอดและปลอดภัยโดยปราศจากการรุนรานจากรัฐอื่น แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ รัฐสามารถอยู่รอดได้เพราะการเป็นที่รักได้เช่นเดียวกัน แม้ในปัจจุบัน ในหลายพื้นที่ยังคงมีสงครามระหว่างประเทศ แต่ความมั่นคงทางทหารไม่ใช่แหล่งที่มาเดียวของอำนาจอีกต่อไป อีกทั้ง อำนาจที่มาจากความมั่นคงทางทหาร หรือ “Hard Power” สร้างความหวาดระแวงระหว่างรัฐมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นการสร้างอำนาจของรัฐในเวทีระหว่างประเทศสามารถสร้างได้ด้วยการเป็นที่รักหรือมี “Soft Power” รัฐสามารถใช้สิ่งนี้เพื่ออยู่รอดได้ในเวทีระหว่างประเทศได้เช่นเดียวกัน

ผู้เขียนได้นำข้อความข้างต้นจากหนังสือของ Nye มาเป็นจุดเริ่มต้นในบทความนี้ เพื่อเชิญชวนผู้อ่านร่วมวิเคราะห์ Soft Power ของไทยไปพร้อมกับการตั้งคำถามที่ว่า ประเทศไทยจะเป็นที่รักในเวทีโลกได้อย่างไร อีกทั้ง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power เพื่อให้รัฐไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างไร

รัฐบาลไทยเข้าใจคำว่า Soft Power ดีพอหรือยัง

“Soft Power” ในนิยามของ Nye คือ อำนาจในการโน้มน้าว ชักจูง และสร้างแรงดึงดูดต่อประเทศอื่นๆผ่านการสร้าง 3 สิ่งได้แก่ วัฒนธรรม (culture) คุณค่าทางการเมือง (political values) และนโยบายต่างประเทศ (foreign policy) (Nye Jr. 2004 : 11, 2008 : 96) เมื่อลองพิจารณาการสร้าง Soft Power ของไทย รัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดัน Soft Power ผ่านการสร้างวาทกรรม “ความเป็นไทย” โดยส่งเสริมวัฒนธรรม 5 อย่าง (5F) ได้แก่ 1. อาหาร (Food) 2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3. ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) 4. มวยไทย (Fighting) และ 5. เทศกาลประเพณี (Festival) สู่ระดับโลก แสดงให้เห็นว่า การส่งออกวัฒนธรรมของไทยไปสู่สากลเป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ของการสร้าง Soft Power ของไทย

อีกทั้ง จากการจัดลำดับ Global Soft Power Index ปี 2022 ขององค์กร Brand Finance โดยวัดผลการมี Soft Power ผ่านหลายแหล่งที่มาของอำนาจเช่น ธุรกิจและการค้า (Business & Trade) ธรรมาภิบาล (Governance) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) วัฒนธรรมและประเพณี (Culture & Heritage) สื่อและการสื่อสาร (Media & Communications) การศึกษาและวิทยาศาสตร์ (Education & Science) ผู้คนและคุณค่า (People & Values)และมาตรการการตอบโต้โควิด-19 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่อันดับต้นๆ เหมือนประเทศเสรีนิยมอื่นๆ และในขณะเดียวกันประเทศที่ได้อันดับ 1 ในการจัดอันดับ Global Soft Power Indexคือ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และเป็นประเทศที่มีระบบการเมืองที่น่าเชื่อที่มาพร้อมกับการมีธรรมาภิบาลในทุกระดับ

วัฒนธรรมของไทยเข้มแข็งพอจะเป็น Soft Power ได้หรือไม่

หากเราใช้ Global Soft Power Index ประเทศไทยอาจจะต้องพัฒนาในอีกหลายด้านนอกเหนือจากการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยให้กลายเป็น Soft Power อีกทั้ง ผู้เขียนมีความเห็นว่าการพัฒนาด้านวัฒนธรรมของไทยให้กลายเป็น Soft Power ที่แข็งแกร่งทำได้ยาก เนื่องจาก วัฒนธรรมไทยถูกตีกรอบโดยรัฐบาลมาตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและถูกใช้เป็นเครืองมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ทำให้วัฒนธรรมไทยกลายเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเมืองที่หล่อหลอมให้คนในสังคมเป็นในแบบที่ผู้มีอำนาจต้องการ

อีกทั้ง วัฒนธรรมไทยถูกจำกัดความคิดของการพัฒนาไว้ภายใต้คำว่า “เหมาะสม” เช่น กระทรวงวัฒนธรรมสั่งห้ามนำท่ารำใส่ในเกมผี หรือการผูกวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้กับความเชื่อทางศาสนา ทำให้วัฒนธรรมเหล่านั้นเข้าถึงยากและทำให้คนรุ่นใหม่หมดความสนใจไปในที่สุด ในมุมมองของผู้เขียน การสร้างวัฒนธรรมไทยให้เข้มแข็งจนกลายเป็นเครื่องมือหรือแหล่งที่มาของ Soft Power สามารถเป็นไปได้ ผ่านการหาพื้นที่ร่วมกันทางความคิดของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เพื่อให้วัฒนธรรมไทยเดินหน้าต่อไปและมีความเข้มแข็งจนกลายเป็น Soft Power ในอนาคต

ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นที่รักมากยิ่งขึ้น

การผลักดันด้านวัฒนธรรมไม่ได้เป็นแหล่งที่มาเพียงหนึ่งเดียวของการสร้าง Soft Power หรือเสริมสร้างพลังอำนาจในการชักจูง การสร้าง Soft Power สามารถเกิดขึ้นได้จากนโยบายของรัฐบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง การผลักดันคุณค่าทางการเมืองแบบเสรีนิยมหรือยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยจากภายในประเทศสามารถนำพาประเทศไปสู่การเป็นที่รักได้เช่นเดียวกัน โดย Nye ได้อธิบายหลักการดังกล่าวผ่านนโยบายการต่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประธานาธิบดี Jimmy Carter ในช่วงศตวรรษที่ 1970 ประธานาธิบดี Carter ได้ประกาศหลักการ “the right to be free from government violation of the integrity of the person” หรือ การได้รับการยกเว้นจากรัฐบาลจากการละเมิดสิทธิความสมบูรณ์ของร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักการอันดีงามบนคุณค่าทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย แม้นโยบายนี้ในช่วงเวลานั้นถูกต่อต้านจากรัฐบาลทหารในหลายกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา แต่ 20 ปีหลังจากนั้น นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ความนิยมของสหรัฐฯ ในประเทศอาร์เจนติน่าสูงขึ้น และนำไปสู่การสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯจากอาร์เจนตินาในเวทีสหประชาชาติและนโยบายของสหรัฐฯในคาบสมุทรบอลข่าน (Nye Jr. 2004: 13)

เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย ผู้เขียนมีความเห็นว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีภาพลักษณ์ติดลบในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาและดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตาม “คุณค่าทางการเมือง” ของประเทศไทย โดยเฉพาะคุณค่าทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยและการมีธรรมาภิบาลภายในประเทศนั้นไม่เข้มแข็งมากพอที่จะสามารถพัฒนาคุณค่าเหล่านี้ให้กลายเป็น Soft Power ได้ เห็นได้จากการจัดอันดับผ่านCorruption Perception Index โดยองค์กร Transparency International ที่ทำการสำรวจด้านความการต่อต้านการทุจริตและต่อต้านคอร์รัปชันจาก 10 ฐานข้อมูลทั่วโลก ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จาก 100 คะแนน และได้อันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ จากการจัดลำดับข้างต้นแสดงให้เห็นว่าภาพลักษณ์ของไทยในด้านคุณค่าทางการเมืองอยู่ในอันดับต่ำ

การจะเป็นที่รักของคนทั้งโลกไม่ได้ทำได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืนเห็นได้จากกรณีตัวอย่างของสหรัฐฯ ที่ใช้เวลากว่า 20 ปี เพื่อทำให้ความนิยมของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาสูงขึ้น อีกทั้ง การพัฒนาคุณค่าทางการเมืองให้กลายเป็น Soft Power จำเป็นต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณค่าทางการเมืองในประเทศให้มั่นคงและเสริมสร้างธรรมาภิบาลภายในประเทศให้เข้มแข็ง ในมุมมองของผู้เขียนเอง ภาคประชาชนในประเทศไทยมีการพัฒนาคุณค่าทางการเมืองมาโดยตลอด อาทิ การสร้างเครื่องมือเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ผ่านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) www.actai.ac โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT หากภาครัฐของไทยสามารถนำการพัฒนาเหล่านี้ไปต่อยอดให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าทางการเมืองแบบเสรีนิยม ประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศที่เป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

ท้ายที่สุด ประเทศไทยสามารถเป็นที่รักและมี Soft Powerที่เข้มแข็ง ผ่านการเข้าใจแหล่งที่มาของ Soft Power ในทุกด้านและส่งเสริมแหล่งที่มาหรือเสาหลักอื่นๆ นอกเหนือจากด้านวัฒนธรรมให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ประชาชนในฐานะพลเมืองเจ้าของประเทศสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Soft Power ได้ผ่านการเป็นพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) ที่รวมกันตรวจสอบการทำงานของภาครัฐเพื่อนำไปสู่การสร้างธรรมาภิบาลภายในประเทศให้เข้มแข็ง เมื่อคุณค่าทางการเมืองภายในประเทศเข้มแข็งมากเพียงพอแล้ว ประเทศไทยสามารถกลายเป็นที่รักในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

ศรันย์ชนก ลิมวิสิฐธนกร

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น