เบื้องหลังกำแพงสูงหรือ “เรือนจำ” สถานที่ที่ใครหลายคนมีภาพจำถึงความโหดร้าย และเต็มไปด้วยบุคคล อันตรายที่กระทำความผิดทางกฎหมายนานัปการ พวกเขาถูกสังคมตัดสินและตีตราว่าเป็นคนไม่ดี ต้องรับโทษในเรือนจำเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับเหยื่อผ่านการถูกขังในพื้นที่จำกัดและมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกับคนภายนอกอย่างสิ้นเชิง แม้จะพ้นจากสถานที่แห่งนั้นแล้ว แต่พวกเขายังคงถูกตรึงด้วยโซ่ตรวนแห่งความอคติที่ผูกมัดไว้ ไม่ให้พวกเขาได้โอกาสในการปรับปรุงตัว และไม่มีโอกาสในการได้รับความยุติธรรมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
“ยุติธรรม” จะนิยามให้คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันอาจทำได้ยาก เนื่องจาก มีความเป็นนามธรรมสูงและไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้โดยเฉพาะในสภาพสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความสับสน วุ่นวาย และความขัดแย้งของหลายภาคส่วนซึ่งทำให้ความหมายของคำว่า “ยุติธรรม” ถูกตีความไปหลากหลายความหมายตามประสบการณ์และทัศนคติของผู้คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างที่อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีกเคยกล่าวไว้ว่า Injusticearises when equals are treated unequally, and also when unequals are treated equally. “ความอยุติธรรมเกิดขึ้นเมื่อคนที่เท่ากันได้รับการปฏิบัติอันไม่เท่าเทียมกัน และเมื่อคนที่ไม่เท่าเทียมกันได้รับการปฏิบัติอันเท่าเทียมกัน”
จากข้อความข้างต้นอาจช่วยนิยามความหมายของคำว่าความยุติธรรมได้ กล่าวคือ ความยุติธรรม หมายถึง ความเท่าเทียมและความเสมอภาค โดยปราศจากการแบ่งแยกทางเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ชนเผ่า อายุ ฐานะทางสังคม การศึกษา ซึ่งมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมคนควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันซึ่งแนวคิดสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตยก็ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เช่นเดียวกัน
“มนุษย์” ไม่ว่าจะอยู่นอกกำแพงหรือเบื้องหลังกำแพงเรือนจำ ก็ยังคงเป็นมนุษย์อยู่วันยังค่ำ แล้วเหตุใดการที่มนุษย์เท่ากันเมื่อเข้าไปอยู่เบื้องหลังกำแพงแล้วจึงถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม จากรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ โดยกรมราชทัณฑ์ (1 มิถุนายน 2566) พบปัญหาของเรือนจำและทัณฑสถานไทย คือ มีสภาพแออัด เนื่องจากจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการทางกฎหมายยาเสพติด อีกทั้ง ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีการจัดการวัคซีนและยารักษาโรคที่ล่าช้า และโรคได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วอีกทั้งมีการลงโทษที่โหดร้ายด้วยการขังเดี่ยวเป็นเวลานานสำหรับผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ที่เคยต้องกักตัวในช่วงป่วยโควิดย่อมรู้ดีว่าการต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมไร้ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจริงๆ ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและสภาวะทางอารมณ์มากเพียงใด ที่สำคัญ คือ เมื่อเป็นผู้ต้องขังแล้ว ย่อมไม่ได้มีโอกาสเลือกว่าจะกักตัวที่โรงแรมไหนอย่างที่คนหน้ากำแพงอย่างเราๆ ทำกัน ห้องขังเดียวเท่านั้น คือ คำตอบสำหรับพวกเขา อีกทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศชายและหญิงซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ต้องขังได้รับสวัสดิการที่ทำให้คุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานที่มนุษย์สมควรจะได้รับ
หากความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนที่เท่ากันได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันแล้วเราจะสร้างความยุติธรรมเบื้องหลังกำแพงสูงได้อย่างไร ?
มองไปที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ด้วยสภาพแวดล้อมที่แออัด จำนวนผู้ต้องขังที่มากเกินไป งบประมาณที่กระจายไม่ทั่วถึงบุคลากรที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขังโดยเฉพาะตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการวางแผนและปฏิบัติการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูพฤติกรรมของผู้ต้องขังเมื่อคนทำงานไม่พร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ก็ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายภายในเรือนจำ ดังนั้น ทางออกที่ผู้เขียนจะเสนอ คือ หลักการบริหารจัดการที่ดี หรือ ธรรมาภิบาล (Good Governance)
หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หมายถึง หลักการบริหารจัดการงานที่ดี ซึ่งประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักสำนึกรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ซึ่งหลักธรรมาภิบาลนี้ ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพราะเป็นการสร้างสรรค์และส่งเสริมให้องค์กรมีศักยภาพและทำให้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ดร.นัทธี จิตสว่าง (อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) ได้มีการเสนอแนวทางบริหารจัดการเรือนจำให้ประสบความสำเร็จ โดยเริ่มต้นจากความร่วมมือของผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มีความพร้อมในการบริหารจัดการจากส่วนบน ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความแออัดและงบประมาณได้เป็นอย่างดี และสร้างความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ส่วนล่าง โดยการปรับเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติ และอาจส่งเสริมการศึกษาผ่านการดูงานจากต่างประเทศมาเป็นต้นแบบในการพัฒนา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ต้องขังจะมีส่วนสำคัญในการปฏิบัติงาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ต้องขังให้กลับตัวเป็นคนดีและกลับคืนสู่สังคมได้ และที่สำคัญคือความร่วมมือของภาคเอกชนและประชาชนในการให้โอกาสผู้ต้องขังปรับตัวเข้าสู่สังคม โดยภาคเอกชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในส่วนของการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ เนื่องจากภาคเอกชนจะมีความเชี่ยวชาญมากกว่าบุคลากรภายใน
จากข้อเสนอแนะของ ดร.นัทธี จิตสว่าง จะเห็นได้ว่าปัจจัยความสำเร็จในการปรับปรุงการบริหารเรือนจำ ประกอบด้วยการนำหลักคุณธรรม หลักสำนึกรับผิดชอบ และหลักการมีส่วนร่วมมาใช้กับการบริหารจัดการ และหากได้นำหลักการอื่นๆ ตามหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้ในการบริหารอย่างถูกต้อง อาจเป็นแนวทางที่ดีในการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำและช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้พวกเขาอีกด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการที่ดีไม่เพียงแค่ลดความแออัด แต่ส่งผลโดยรวมไปถึงสวัสดิการของผู้ต้องขังด้วย เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สวัสดิการที่ครบทุกด้าน จะส่งผลให้ผู้ต้องขังเกิดความสุขในการใช้ชีวิต การได้รับสวัสดิการทั้งอาหารการกินที่มีโภชนาการ การรักษาพยาบาล ทำให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ พร้อมรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่บุคลากรจะมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพหรือโปรแกรมบำบัดจิตใจต่างๆ การปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสม เมื่อถึงจุดนั้น ผู้ต้องขังจะสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองและมีความพร้อมในการกลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง
“เมื่อมนุษย์ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เมื่อนั้นจะเกิดความยุติธรรม” หากสังคมให้โอกาสผู้ต้องขังหรือผู้พ้นโทษได้ปรับปรุงตัว บุคลากรภายในปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยไม่เลือกปฏิบัติ ผู้บริหารจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดสรรสวัสดิการอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมด้วยหลักการบริหารจัดการที่ดี สังคมจะเกิดความยุติธรรมต่อทั้งคนนอกกำแพงและหลังกำแพงสูงนั้น
รายการอ้างอิง
ธานินทร์ กรัยวิเชียร์. (2547). กฎหมายกับความยุติธรรม. สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชินูปถัมภ์. สืบค้นจาก http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:298906
วจนา วรรลยางกูร. (3 เม.ย. 2563). นัทธี จิตสว่าง :10 ปี “ข้อกำหนดกรุงเทพ” และก้าวต่อไปเรือนจำไทย. สืบค้นจากhttps://www.the101.world/nathee-chitsawang-interview/
แสงชัย อภิชาติธนพัฒน์(ม.ป.ป.). หลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. สืบค้นจาก https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/ewt_dl_link.php?nid=8735
FIDH. (มีนาคม 2565). ประเทศไทย รายงานสภาพเรือนจำประจำปี 2565. สืบค้นจาก https://www.fidh.org/IMG/pdf/thailande791thaweb.pdf
ศศิประภา ดวงกรมนา
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”