ปัญหาทางสังคมนักสังคมสงเคราะห์ช่วยคุณได้ แล้วปัญหาของนักสังคมสงเคราะห์มีใครเข้ามาช่วยหรือยัง…
หากพูดถึงนักสังคมสงเคราะห์คุณนึกถึงอะไร? ภาพในหัวของหลายๆ คนคงจะเป็นการแจกเงิน แจกถุงยังชีพ หรืองานการกุศลที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ ในส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม ไม่ว่าจะเป็น เด็ก
ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน กลุ่มคนชายขอบ และผู้ที่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในสังคม แต่บทบาทนักสังคมสงเคราะห์สามารถเป็นได้มากกว่านั้น โดยนักสังคมสงเคราะห์ต้องทำงานร่วมกับ “มนุษย์” ที่มีความหลากหลาย โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญภายใต้แนวคิด “ช่วยเหลือเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้” (help them to help themselves) ด้วยศาสตร์ และศิลป์ ที่เป็นวิชาชีพ ในการช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยากและความเดือดร้อนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ให้พวกเขามีความสามารถในการแก้ไขปัญหาของตนเองต่อได้ โดยการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้เพื่อบรรเทาความต้องการและปัญหาทั้งของบุคคล กลุ่มชน และชุมชน
ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเบื้องหลังของนักสังคมสงเคราะห์ที่ในสายตาของคนทั่วไปอาจมองว่าเปรียบเสมือน “หมอสังคม” ที่คอยให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ว่าภายใต้บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ผู้อบอุ่นนั้นมีความยากลำบากที่ต้องเผชิญอย่างไร และมูลเหตุของความยากลำบากเหล่านั้นมาจากสาเหตุใด
ความยากลำบากและสาเหตุของความยากลำบาก
ประการแรก คือ นักสังคมสงเคราะห์มีจำนวนที่ไม่เพียงพอ จากข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศ Unicef Thailand, (2562) พบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนนักสังคมสงเคราะห์เพียง 4 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะเดียวกันปัญหาในสังคมกลับยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ลองนึกภาพว่า หากนักสังคมสงเคราะห์หนึ่งคนต้องคอยดูแลปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย 10 – 15คน จะเป็นการทำงานที่หนักขนาดไหน
ประการที่สอง คือ ค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับภาระงาน เนื่องจากกิจวัตรในหนึ่งวันของนักสังคมสงเคราะห์นั้นไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับภารกิจงานในวันนั้นๆ เช่น บางวันต้องลงเยี่ยมผู้ใช้บริการ ประชุมทีมสหวิชาชีพ ให้คำปรึกษาผู้ใช้บริการทางโทรศัพท์ จัดการเอกสารราชการ หรือจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจต้องเข้างานก่อนเวลาหรือทำงานล่วงเลยเวลาในบางครั้ง แต่ค่าตอบแทนที่นักสังคมสงเคราะห์หลายคนได้รับกลับสวนทางกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีอัตราค่าจ้างนักสังคมสงเคราะห์เพียง 15,000 บาท ซึ่งอาจเพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายเพื่อพื้นฟูสภาพจิตใจที่เป็นผลกระทบจากการทำงาน ที่ต้องเผชิญกับความเครียดจากความรู้สึกร่วมในเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ
และประการสุดท้าย คือ ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์ต้องมีการลงพื้นที่ต่างจังหวัด พื้นที่ทุรกันดาร และในบางครั้งนักสังคมสงเคราะห์จะต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่มีปัญหาทางสังคมอย่างรุนแรง เช่น ชุมชนยาเสพติด กรมราชทัณฑ์ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟู ทำให้นักสังคมสงเคราะห์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเป็นอย่างมาก แต่นักสังคมสงเคราะห์ทำได้เพียงป้องกันตัวเองเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ได้รับอันตราย
ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผู้เขียน ที่เคยฝึกงานในหน่วยงานแห่งหนึ่ง กับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ทำให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงของกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ผู้เขียนต้องเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้เขียนต้องคอยป้องกันตัวเองจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดตลอดระยะเวลาฝึกงาน
การแก้ไขปัญหาที่ดีเพื่อนักสังคมสงเคราะห์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ในมุมมองของผู้เขียน คิดว่าจากสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนนักสังคมสงเคราะห์ที่ไม่เพียงพอค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับภาระงาน และความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เป็นการละเลยอาชีพนักสังคมสงเคราะห์จากภาครัฐจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จึงไม่ใช่เรื่องของความพยายามจากผู้ปฏิบัติงานเพียงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์โยงใยกับโครงสร้างองค์กรและผู้ที่มีอำนาจอย่างภาครัฐ ที่ควรให้ความสำคัญและมีแนวทางในการสนับสนุนคนทำงานด้านสังคมสงเคราะห์มากยิ่งขึ้น ดังนี้
หนึ่ง นักสังคมสงเคราะห์มีจำนวนที่ไม่เพียงพอ สามารถแก้ปัญหาได้โดยมีนโยบายให้หน่วยงานสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมในการทำงาน เช่น ปรับเพิ่มเงินเดือน มีสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกมิติของการทำงาน มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ เพื่อให้งานได้รับความสนใจ จะทำให้จำนวนคนทำงานภายในหน่วยงานมีจำนวนมากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการ
สอง ค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับภาระงาน สามารถแก้ปัญหาได้โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เพื่อเสนอข้อเรียกร้องแก่ผู้มีอำนาจ ในการพิจารณาการปรับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์
สาม ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันเหตุไม่คาดคิดจากการทำงาน แต่สามารถให้การพิทักษ์นักสังคมสงเคราะห์ได้ด้วยการมีกฎหมายคุ้มครอง และให้การดูแล ชดเชยนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงาน
สุดท้ายนี้ ในฐานะพลเมืองแม้จะไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาที่รากฐานได้ แต่สามารถช่วยสนับสนุนความเป็นธรรมให้กับวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ได้ ด้วยการช่วยแชร์ข่าวสารความเดือดร้อน หรือข้อเสนอของกลุ่มและองค์กรนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ข้อความที่ต้องการสื่อสารไปถึงมือของผู้มีอำนาจได้เร็วมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถเป็นผู้ริเริ่มในการนำเสนอความยากลำบากของนักสังคมสงเคราะห์ได้ผ่านการจัดทำสื่อองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ เผยแพร่ออกไปให้เพื่อน ครอบครัว หรือคนรอบข้างได้รับรู้ร่วมกัน ซึ่งสามารถช่วยขับเคลื่อนปัญหาออกไปให้คนรอบตัวของพวกเขาได้ เพื่อไม่ให้นักสังคมสงเคราะห์ผู้เป็นหมอของสังคมถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ชัญญา เอื้อธนาภา
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด