คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : นางงาม กับ รัฐเผด็จการ : ลาตินอเมริกาไม่ได้มีแค่นางงาม แต่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลง

“Hola Universo, Hola El Salvador, Soy Anntonia Porsild con mucho orgullo, representando Tailandia.” หลายคนที่เป็นแฟนนางงามสามารถท่องประโยคดังกล่าวได้อย่างคล่องปากเพื่อเป็นการส่งเสียงเชียร์แก่ แอนโทเนีย โพซิ้ว ตัวแทนจากประเทศไทยในการประกวดนางงามจักรวาล Miss Universe 2023 แม้ปีนี้ประเทศไทยจะไม่ได้มง 3 ตามที่คาดหวังไว้ ทางผู้เขียนนั้น ยินดีเป็นอย่างยิ่งกับ Miss Nicaragua หรือ Sheynnis Palacios สำหรับตำแหน่ง Miss Universe 2023  

สำหรับผู้เขียน สิ่งที่น่าสนใจในการประกวดครั้งนี้ คือ ท่าทีของรัฐบาลนิการากัวที่มีต่อ Miss Nicaragua 2023 ทั้งก่อนและหลังการประกวดซึ่งแสดงให้เห็นว่า Sheynnis  มีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสมวลชนหรือ Active Citizen ในนิการากัวเป็นอย่างมาก จากเวทีประกวดเพื่อความบันเทิงและสรรเสริญความสวยงามของเหล่าผู้ประกวดได้กลายเป็นการจุดประกายครั้งสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศนิการากัว  

ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนขอนำทุกท่านไปรู้จักพลวัตทางการเมืองของลาตินอเมริกาที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการไปสู่การมีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศนิการากัวซึ่งเป็นประเทศที่ยังคงอยู่ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยมมานานกว่าหลายทศวรรษ  

 เผด็จการทหารในลาตินอเมริกาช่วงสงครามเย็น

 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การพัฒนาทางการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา หรือ กำลังพัฒนามีการพัฒนาทางการเมืองผ่านการใช้ “อำนาจปืน” เป็นเครื่องมือหลักในการได้มาซึ่งอำนาจรัฐ (สุรชาติ บำรุงสุข, 2561, 24) ทำให้ผู้นำในประเทศเหล่านี้เป็นผู้นำในลักษณะนักการเมืองในเครื่องแบบ(Politician in uniform) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเย็นผู้นำในหลายประเทศใช้โอกาสในช่วงของความขัดแย้งทางความคิดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลของตนและทำการปราบปรามคอมมิวนิสต์ อีกทั้ง ผู้นำเหล่านี้มีความเชื่อในพลังอำนาจของอาวุธหรือ “กระสุนปืน (Bullet)” มากกว่าเชื่อใน “บัตรเลือกตั้ง (Ballot)” (แม้ว่าหลายคนจะเคยได้ยินประโยควรรคทองจากประธานาธิบดี Lincoln ที่ว่า “บัตรเลือกตั้งแข็งแรงกว่ากระสุนปืน”แต่สำหรับผู้นำเผด็จการเหล่านี้เขาเชื่อในกระสุนปืนมากกว่า)  

การควบคุมรัฐด้วยอาวุธทำให้ประเทศผ่านพ้นจากวิกฤตทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นไปได้ ดังนั้น ในทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 เป็นช่วงเวลาที่รัฐเผด็จการหรือประเทศผู้นำทหารมีความเข้มแข็งและวางรากฐานอย่างฝังรากลึกในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา อีกทั้ง ปัจจัยภายนอกอย่าง สหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็นได้ช่วยเสริมสร้างเกราะอันแข็งแกร่งแก่เผด็จการทหารโดยสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1820 ผ่านการประกาศนโยบายภายใต้คำแถลงการณ์มอนโร หรือ ลัทธิมอนโร(Monroe Doctrine 1823) เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากมหาอำนาจยุโรปมายังภูมิภาคลาตินอเมริกาที่เปรียบเสมือน
หลังบ้านของสหรัฐฯ  

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ประเทศเผด็จการในลาตินอเมริกาได้เผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง (Redemocratization) เนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดความขัดแย้งทางอุดมการณ์ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับสถาบันทหารทั่วโลกในขณะนั้น  

กองทัพหรือรัฐบาลทหารในหลายๆ ประเทศได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการปกป้องประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ ดังนั้น เมื่อสงครามเย็นยุติลง สหรัฐฯ ได้ยกเลิกการสนับสนุนต่อรัฐบาลทหารและกองทัพในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ความชอบธรรมในการสร้างความมั่นคงเพื่อปราบปรามและป้องกันคอมมิวนิสต์จึงหมดไปเช่นเดียวกัน อีกทั้ง รัฐบาลอำนาจนิยมในช่วงทศวรรษที่ 1980 ไม่มีความสามารถมากพอที่จะบริหารเศรษฐกิจประเทศจึงนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในหลายประเทศกำลังพัฒนา ทำให้พันธมิตรพลเรือนของกองทัพอย่างกลุ่มธุรกิจและชนชั้นกลางหันมาสนับสนุนภาคประชาสังคมที่ต้องการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยม  

อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถการันตีได้ว่าระบอบประชาธิปไตยในลาตินอเมริกาจะมั่นคงและถาวรได้ แม้ว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1990 หลายประเทศในลาตินอเมริกามีการเลือกตั้งและรัฐบาลเผด็จการได้หายไปในภูมิภาคนี้ แต่ประเทศเหล่านี้ได้เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้อำนาจเผด็จการกลับหวนสู่อำนาจในประเทศเหล่านี้อีกครั้ง   

การหวนกลับมาของเผด็จการในนิการากัว  

ในช่วงสงครามเย็น นิการากัวเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอำนาจนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติคิวบา ทำให้เกิดการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐเผด็จการของประธานาธิบดี Anastasio Somoza ที่ปกครองนิการากัวมายาวนานถึง 43 ปี (ค.ศ. 1936-ค.ศ. 1979) ของชนชั้นแรงงาน ชาวนา นักเรียน และชนชั้นกลางในนิการากัว และท้ายที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่สงครามกลางเมืองในนิการากัวและการปฏิวัติที่นำโดยกลุ่ม Left-Wing อย่าง Sandinista
(Sandinista National Liberation Front (FSLN) 

ในช่วงเวลานั้นเอง เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนถ่ายระหว่างขั้วอำนาจเก่าไปสู่ขั้วอำนาจใหม่ ผ่านการปกครองประเทศโดยกลุ่ม FSLN หรือ พรรค FSLN (ต่อมา FSLN ได้กลายเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาของนิการากัว) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและคิวบา แม้ในการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Daniel Ortega จากพรรค FSLN จะมาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งดังกล่าว เต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมกับพรรคอื่นๆ ที่ลงสมัคร ทำให้การปกครองของนิการากัวในเวลานี้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนกลุ่มอำนาจเผด็จการเท่านั้น  

หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น แรงสนับสนุนจากภายนอกต่อพรรค FSLN ได้หายไปพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นำมาสู่การเลือกตั้งในปี 1990 นิการากัวได้ประธานาธิบดีคนใหม่ในรอบ 11 ปี ในช่วงเวลานั้นเอง นิการากัวได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ผ่านการทำข้อตกลงทางการค้า CAFTA-DR ทำให้เศรษฐกิจของนิการากัวดีขึ้นไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ประตูที่เปิดออกไปสู่ประชาธิปไตยถูกปิดลงอีกครั้ง เนื่องจากเกิดการคอร์รัปชันในการเมืองท้องถิ่น และความแตกแยกทางสังคมในช่วงเวลาดังกล่าวเปิดโอกาสให้ Daniel Ortega กลับเข้าสู่สนามการเมืองและชนะการเลือกตั้งอีกครั้งใน ค.ศ. 2006 และกลายมาเป็นประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบัน  

ในช่วงเวลาตั้งแต่ 2006 จนถึงปัจจุบัน ทางรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งตามวาระ แต่ประธานาธิบดี Ortega ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมและมีการจำคุกของหัวหน้าฝ่ายค้านหลายคนในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง อีกทั้ง ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้อำนาจทางทหาร ตำรวจ เข้าควบคุมพฤติกรรมและความคิดของประชาชนโดยตลอดมา จนทำให้เกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้งในนิการากัว  

จุดตกต่ำขั้นสุดของประชาธิปไตยในนิการากัวเกิดขึ้นในค.ศ. 2017 เมื่อประธานาธิบดี Ortega แต่งตั้งภรรยาของเขาเป็นรองประธานาธิบดี และเข้าควบคุมระบบการคลังทั้งหมดของประเทศ ทำให้ประชาชนไม่พอใจเป็นอย่างมากจนนำมาสู่การประท้วงครั้งยิ่งใหญ่ในปีต่อมา การประท้วงในปี 2018 นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เนื่องจากรัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือควบคุมฝูงชนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 350 ราย และมีผู้ต้องขังทางการเมืองมากมาย ซึ่งในการประท้วงครั้งนี้ Sheynnis Palacios ได้เข้าร่วมการประท้วงดังกล่าวเช่นกัน  

เมื่อ Miss Universe กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง 

หลังจากการประกวดนางงามจักรวาลจบลง กระแสนางงามได้กลายเป็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง โดยสำนักข่าวต่างประเทศ The Guardian รายงานว่า Karen Celebertti เจ้าของแฟรนไชส์ Miss Nicaragua และลูกสาว ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศนิการากัวได้เนื่องจากถูกจัดอยู่ในบุคคลที่ห้ามเข้าประเทศ ส่วน Sheynnis ตอนนี้ยังไม่ได้เดินทางกลับประเทศ เนื่องจาก Sheynnis ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งนางงามจักรวาลอยู่ที่สหรัฐฯ และยังไม่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลนิการากัวเรื่องของการห้ามไม่ให้ Sheynnis เข้าประเทศ  

อย่างไรก็ตาม หลังจาก Sheynnis ได้รับตำแหน่ง Miss Universe 2023 ประชาชนในประเทศนิการากัวพากันออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก โดยการเฉลิมฉลองดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การสรรเสริญความงดงามของนางงามที่ได้รับมงกุฎ แต่เป็นการเฉลิมฉลองให้กับความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะจุดประกายให้ประเทศนิการากัวกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง  

ผู้คนที่ออกมาเดินขบวนเฉลิมฉลองชัยชนะในตำแหน่งนางงามจักรวาลนั้น ได้เปรียบเทียบว่า Sheynnis เป็นตัวแทนของความหวังและแสงสว่างในประเทศ เนื่องจากในช่วงของการแข่งขัน ได้มีการปล่อยภาพ Sheynnis ในขณะเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2018 อีกทั้ง ประชาชนนิการากัวบางส่วนเชื่อว่า เสื้อคลุมสีน้ำเงินและชุดราตรีสีขาวที่ Sheynnis สวมใส่ระหว่างแข่งขันเป็นการอ้างอิงถึงสีของธงชาติที่เป็นสีที่ถูกห้ามหลังจากการประท้วงในปี 2018  แม้ว่าในช่วงเวลาของการแข่งขันจนถึงปัจจุบัน Sheynnis ไม่ออกมาพูดถึงประเด็นการเมืองใดๆ 

Sheynnis ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ ความหวัง (Hope) และการไม่ยอมจำนน (Defiance) ของชาวนิการากัว ชัยชนะของ Sheynnis ได้จุดประกายความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ  

การเป็น Active Citizen ของ Sheynnis ทำให้รัฐบาลเผด็จการเกิดความกระสับกระส่าย เนื่องจากรัฐบาลกลัวว่าชัยชนะของ Sheynnis ในครั้งนี้จะปลุกกระแสการประท้วงต่อต้านรัฐบาล
ให้กลับมาอีกครั้ง แม้ในตอนนี้จะยังไม่มีการประกาศใดๆ จากรัฐบาลต่อกรณีห้ามเข้าประเทศดังกล่าว แต่ระหว่างการแข่งขันสื่อของรัฐบาลได้ใช้ถ้อยคำเสียดสี Sheynnis หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเกลียดชังของสื่อฝ่ายรัฐบาลที่มีต่อ Sheynnis

 ดังนั้น เสียงของพลเมืองที่ตื่นรู้เป็นสิ่งที่เผด็จการในหลายประเทศหวาดกลัวมาตลอด แม้ว่าผู้ส่งเสียงจะมีเพียงแค่หนึ่งคน ก็สามารถจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้เช่นเดียวกับภาพของ Sheynnis

การเคลื่อนไหวหรือการลุกฮือของภาคประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลอำนาจนิยมดังเช่นในอดีต เมื่อประชาชนยังคงมีหวังและส่งเสียงแห่งความหวังนั้นออกมา ประชาธิปไตยสามารถหวนหลับมาสู่ภูมิภาคนี้ได้อีกครั้ง

 ท้ายที่สุด การเป็นพลเมืองตื่นรู้เป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนของสังคม เพียงแค่ประชาชนทุกคนตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของเสียงของตนเอง ความหวังของการเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อประชาชนได้ใช้เสียงของตนเองอย่างถูกต้อง

 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

ศรันย์ชนก ลิมวิสิฐธนกร

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ