เหตุการณ์ที่มีเสียงเฮสนั่นและในขณะเดียวกันก็มีเสียงคนกำลังร้องไห้
เหตุการณ์ที่มีคนมีความสุขแต่ก็มีคนเป็นทุกข์ยืนอยู่ข้างๆ
เหตุการณ์ที่มีคนรักกอดกันอย่างอิ่มใจแต่คนที่ยืนใกล้ๆ กำลังอาวรณ์คนรักเพราะต้องร่ำลา…
ใช่แล้วครับ ผู้เขียนกำลังพูดถึง “การเกณฑ์ทหาร” เหตุการณ์สำคัญที่บรรจบครบเดือนเมษายนเมื่อไร ก็จะเริ่มเป็นกระแสให้สังคมได้ถกเถียง โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการ “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” นับเป็นหนึ่งประเด็นร้อนแรงที่ความเห็นถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลักๆฝ่ายหนึ่งมองว่าการทหารเกณฑ์ยังจำเป็นเพราะพวกเขา คือ “รั้วของชาติ” แต่อีกฝ่ายอาจมองว่าประเทศไทยไม่ได้รบกับใครมาหลายสิบปี ทหารเกณฑ์จึงไม่มีความจำเป็น การเป็นทหารควรเป็นด้วยความ “สมัครใจ” อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อถกเถียงนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอว่า เราอาจยุติปัญหานี้ได้ด้วยการลด “คอร์รัปชัน”
เพราะคอร์รัปชันมีความสัมพันธ์กับการเกณฑ์ทหาร
อย่างที่เราทราบ หนึ่งในข้อเสนอของฝ่ายที่อยากยกเลิกการเกณฑ์ทหารที่พอจะเป็นไปได้ คือ “การสมัครทหารโดยสมัครใจ” แต่ ในปัจจุบันผู้สมัครเป็นทหารโดยสมัครใจยังไม่เพียงพอ เพราะหลายคนไม่ต้องการเป็นทหาร และหากเราย้อนกลับไปถามถึงเหตุผล ผู้เขียนขออธิบายด้วยการแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม คือคนที่ “เกรง” และคนที่ “กลัว” (การใช้คำว่าเกรงหรือกลัวผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาด้อยค่าคนที่ไม่ต้องการเป็นทหาร แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร)
ประเภทแรก คือ คนที่เกรง คนที่ไม่ต้องการเป็นทหารเลย เพราะการเกณฑ์ทหารจะทำให้พวกเขาเสียโอกาสไปถึง 2 ปี ในการวิ่งตามความฝัน และต้องห่างจากคนที่รักและครอบครัว และมองว่าการรับใช้ชาติไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร แต่การเป็นแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็เป็นการทำหน้าที่พลเมืองของชาติไม่ต่างกัน
ประเภทที่สอง คือ คนที่กลัว คนกลุ่มนี้อาจจะอยากหรือไม่อยากเป็นทหารก็ได้ แต่สิ่งที่พวกมีเหมือนกันคือ “ความกลัวต่อระบบทหาร” เพราะอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกปีว่า การดูแลทหารเกณฑ์ของกองทัพไทยนั้นเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดีนัก เริ่มตั้งแต่สวัสดิการเล็กๆ อย่างเรื่องการกิน ที่มักจะมีภาพหลุดของเหล่าทหารเกณฑ์ต้องกินข้าวกับเศษผัก เศษเนื้อ หรือข้าวคลุกน้ำปลา นอกจากนี้ ยังมีการโกงเบี้ยเลี้ยงพลทหารที่เคยเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชมาแล้ว รวมทั้งทหารเกณฑ์หลายคนมักถูกทหารยศสูง “เรียกไปใช้งานเป็นการส่วนตัว” ซึ่งต้องไปทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร เช่น ตัดหญ้า ถูบ้าน หรือซักกางเกงในเมียนายพลแต่ทั้งสองเรื่องอาจจะเล็กน้อยไปเลยหากเทียบกับเรื่องของ “ความรุนแรง” ที่เกิดขึ้นในกองทัพ โดยตั้งแต่ปี 2552-2566 สำนักข่าวประชาไทยได้รวบรวมเคสทหารเกณฑ์เสียชีวิตในค่ายทหารพบว่ามีจำนวนกว่า 20 เคส ซึ่งมีหลายเคสเกิดจากความรุนแรง เช่น เคสพลทหารคชา พะยะเสียชีวิตเมื่อปี 2561 จากการถูกรุ่นพี่ทหารซ้อมทรมานจนหัวใจหยุดเต้น รวมถึงในบางเคสที่ตายอย่างปริศนา เช่น เคสพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2566จากการติดเชื้อในกระแสเลือดโดยที่ทางค่ายทหารไม่มีคำตอบถึงสาเหตุ เพียงแต่บอกว่าลงโทษตามกฎเกณฑ์ของกองทัพ โดยที่ประชาชนไม่มีอำนาจไปตรวจสอบหรือรู้ได้เลยว่าจริงๆ แล้วภายในค่ายทหารนั้นเกิดอะไรขึ้น และนอกเหนือจากปัญหาที่กระทบต่อทหารเกณฑ์โดยตรง ภาพรวมของกองทัพไทยที่มีการเรียกสินบน การทุจริต ความไม่โปร่งใส ทำให้มุมมองของสังคมที่มีต่อกองทัพ คือภาพของอิทธิพล อำนาจมืด ความอยุติธรรม และแม้แต่คนที่อยากเป็นทหารก็อาจหมดศรัทธาและความไว้ใจต่อกองทัพไทย
มองทหารเกณฑ์ผ่านสมการคอร์รัปชัน
จากปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านมามองปัญหาคอร์รัปชันผ่านสมการคอร์รัปชันของ Robert Klitgaard นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่ศึกษาเรื่องคอร์รัปชันมายาวนาน และได้รับการยอมรับจากกลุ่มนักวิชาการทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสมการดังกล่าวคือ “C = M + D – A” หรือขยายความได้ว่าการคอร์รัปชัน (Corruption) เกิดจากการผูกขาด (Monopoly)และการใช้ดุลพินิจ (Discretion) โดยไร้ซึ่งความรับผิดชอบ(Accountability) ซึ่งหากมองระบบทหารในปัจจุบันเราพบว่า
1. มีอำนาจที่คล้ายการผูกขาด : ผู้เขียนเข้าใจในรูปแบบการปกครองบังคับบัญชาทหารที่มีรูปแบบบนลงล่าง (Top-Down) เพื่อให้ทหารใต้บังคับบัญชาที่ถืออาวุธอยู่ในวินัยและไม่ออกไปสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม หรือในการรบที่ต้องการคำสั่งที่เด็ดขาด แต่การที่ผู้บังคับบัญชามีอำนาจมากเกินไปโดยไม่มีใครที่สามารถตรวจสอบได้ ก็เปรียบเสมือนอำนาจถูกผูกขาดในค่ายทหาร โดยไม่มีใครมีสิทธิมีเสียงที่จะโต้แย้งได้และการตรวจสอบก็มีแต่นายทหารด้วยกัน ตัวอย่างเช่น เคสของ “หมู่อาร์ม” ที่พบการทุจริตในกองทัพ แต่เมื่อยื่นเรื่องต่อกรมสรรพาวุธภายในไปแล้วเรื่องกลับเงียบ ซ้ำร้ายยังถูกข่มขู่จากนายทหารที่มีอำนาจรวมถึงสั่งลงโทษทางวินัยทหาร อำนาจที่เหลือล้นจึงไม่เพียงเป็นการคอร์รัปชันด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ยังส่งเสริมให้การคอร์รัปชันไม่ถูกตรวจสอบอีกด้วย
2.ดุลพินิจที่เปิดโอกาสให้ทำผิด : หลายกิจกรรมในกองทัพเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจอย่างมาก และส่งผลให้เกิดโอกาสคอร์รัปชันตามมา ตัวอย่างเช่น ในช่วงเกณฑ์ทหารเข้าประจำการใหม่ก็จะได้ยินข่าวการรับสินบนหลายหมื่นบาทต่อคนหรือข่าวการยินยอมยกเงินเดือน และเงินเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ให้กับผู้บังคับบัญชาหรือที่เรียกว่า “บัญชีทหารผี” เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นเข้าประจำการทหาร และอีกหนึ่งตัวอย่างของการเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจโดยส่งผลกระทบต่อทหารเกณฑ์ ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง “พ.ร.บ.วินัยทหาร” ที่เปิดโอกาสให้เกิดการกลั่นแกล้งและการทำร้ายร่างกายได้ โดยใน พ.ร.บ. ได้ระบุถึงเหตุผลที่จะทำให้ผู้บังคับบัญชาสามารถลงโทษพลทหารได้ในข้อ 1 ที่บอกไว้ว่า “ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน” ซึ่งคำว่า “ดื้อ” นั้นค่อนข้างเป็นนามธรรม พฤติกรรมแค่ไหนถึงจะเรียกว่าดื้อ ? ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา หรือข้อที่ 7 ที่บอกไว้ว่า “ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร” แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่าไม่สมควร? สุดท้ายแล้วหากไม่ระบุให้ชัดเจนก็อาจนำมาสู่การกลั่นแกล้งหรือการใช้อำนาจโดยมิชอบ เช่นเดียวกับกรณีการนำทหารไปรับใช้ หากมีการกำหนดชัดเจนว่านำทหารไปช่วยงานอะไร เกี่ยวข้องกับภารกิจกองทัพอย่างไร ก็จะช่วยลดการนำทหารไปรับใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ
3.ความรับผิดชอบที่ยังขาดหาย : ในเรื่องของความรับผิดชอบจะเห็นได้ว่าด้วยอำนาจที่ผูกขาด และการเป็นดินแดนสนธยาของค่ายทหาร ทำให้การตรวจสอบไปถึงยาก รวมทั้งระบบอุปถัมภ์ที่มีพี่น้องและพวกพ้องอยู่รอบตัว ทำให้การเอาผิดเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้กฎระเบียบยังเอื้ออำนวยอีกด้วย ผู้เขียนยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดใน “พ.ร.บ. วินัยทหาร” ซึ่งได้ระบุโทษ 5 สถานเอาไว้ ถ้าหากผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำผิดจะมีบทลงโทษคือ 1.ภาคทัณฑ์ คือการทำทัณฑ์บนเอาไว้ 2. ทัณฑกรรม ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ 3.กัก คือการจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง 4.ขัง หรือการสั่งขังคนเดียวหรือหลายคน 5.จำขัง หรือการส่งไปขังคุกทหาร ซึ่งประเด็นสำคัญคือ พ.ร.บ. ได้ระบุไว้ว่าในการลงโทษผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะใช้อาวุธเพื่อปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบหรือบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับมาทำหน้าที่โดยที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ช่วยเหลือในการใช้อาวุธลงโทษไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงการเปิดโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ความรุนแรง โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
ผ่าวิกฤตเกณฑ์ทหาร แก้สมการคอร์รัปชัน
ในกระบวนการนี้ผู้เขียนมองว่าควรแก้ตามสมการต้องเริ่มจากการลดอำนาจที่ผูกขาดซึ่งจะทำให้นายทหารสามารถตัดสินใจถูกผิดได้ดั่งใจโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำ และกลายเป็นระบบที่เอื้อให้คนสามารถทำผิดได้ หรือเรื่องของระบบกองทัพแม้เป็นแบบบนลงล่าง ก็ควรมีความโปร่งใส อาจจะเพิ่มถ่วงดุลอำนาจ หรือเพิ่มอำนาจการตรวจสอบจากภาคส่วนอื่น เช่นในเรื่องของการรับเรื่องร้องเรียนทุจริตควรมีการทำงานกับองค์กรอื่นอย่าง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. รวมถึงต้องมีการตรวจสอบจริงจับให้เห็นเป็นตัวอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกรณีอย่างหมู่อาร์มเป็นครั้งที่สอง และในด้านกฎเกณฑ์อะไรที่สามารถลดดุลพินิจได้ก็ควรจะลด ให้ระบบทหารเกณฑ์อยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้นกฎระเบียบในการฝึกควรมีการระบุที่ละเอียดชัดเจน เป็นรูปธรรม เช่น หากระบุเกี่ยวกับ “การไม่ฟังคำสั่ง” ควรระบุให้ชัดเจนว่าแบบไหนบ้างจึงจะเรียกว่าไม่ฟัง รวมถึงต้องกำหนดความรับผิดชอบที่สมเหตุสมผล
พอมาถึงจุดนี้แล้ว เชื่อว่าทุกคนคงเห็นภาพแนวทางการเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์จากการแก้สมการคอร์รัปชัน เพราะหากลดคอร์รัปชันได้ แน่นอนว่าจะทำให้คนอยากสมัครเป็นทหารแต่ “กลัว” มาสมัครมากขึ้น นอกจากนี้การลดคอร์รัปชันย่อมตามมาด้วยงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกองทัพสามารถนำมาเพิ่มสวัสดิการ เงินเดือน เงินเบี้ยเลี้ยง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้แม้แต่คนที่ไม่อยากเป็นทหารก็อยากมาสมัครจนเพียงพอ คนที่ “เกรง” ไม่จำเป็นต้องมาเป็นทหาร และทำหน้าที่พลเมืองของชาติด้วยวิธีการอื่นไป อีกทั้งกองอาจมีงบประมาณเหลือๆ ไปเพิ่มศักยภาพการฝึกยุทโธปกรณ์ ทำให้กองทัพไทยมีประสิทธิภาพ ทำให้คนไทยอุ่นใจ กลายเป็นเรื่องที่มีแต่ “ได้กับได้” แต่ถ้าถามว่าใครจะเสียประโยชน์ก็คงมีแต่คน “โกง” เพียงเท่านั้น
สุรวัฒน์ เดวา
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด