หากพูดถึง “แม่น้ำโขง” ทุกท่านก็คงจะนึกถึงสายนทีทอดยาวที่ผูกกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนของผู้คนจากหลากหลายประเทศ เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาจี้ฟูบริเวณที่ราบสูงทิเบต มณฑลชิงไห่ ประเทศจีน และไหลผ่านประเทศต่างๆ มากถึง 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศลาว ประเทศเมียนมา ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลผ่านพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่
ความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้การจัดการน้ำกลายเป็นประเด็นทางสังคมที่สร้างความกังวลให้กับหลายประเทศถึงวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศปลายน้ำที่ต้องพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือการที่ประเทศจีนเข้ามาจัดการ “น้ำ” ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและมีความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศและวัฒนธรรมที่ซับซ้อน สายน้ำที่ควรจะได้ไหลหลากอย่างอิสระกลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่โยงใยกันด้วยการต่อสู้เชิงอำนาจเพื่อแสดงอิทธิพลทางการเมืองและการควบคุมทรัพยากร ดังจะเห็นได้จาก
ความอ่อนไหวของประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการควบคุมทรัพยากร ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และความหลากหลายทางชีวภาพ จึงนำมาสู่การตั้งคำถามถึงประเด็นความโปร่งใสของข้อมูล ทั้งในประเด็นของการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ในบทความนี้จึงอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านในฐานะประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาเหล่านี้ให้มาทำความเข้าใจถึงปัญหาจากการสร้างเขื่อนของจีน และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความโปร่งใสของข้อมูลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของการเมืองระหว่างรัฐ
เขื่อนจิ่งหงกับปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีนควบคุมมวลน้ำปริมาณมหาศาลได้จากการสร้างเขื่อน การที่ประเทศต้นน้ำสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำหลานชานเจียงหรือแม่น้ำโขงไว้ถึง 11 ชุดขั้นบันได สะท้อนถึงการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์และการสร้างอิทธิพลทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขื่อนที่ส่งผลกระทบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุดคือ เขื่อนจิ่งหง ที่ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของจีนใกล้กับประเทศเมียนมาและประเทศลาว
จากรายงานการศึกษาเรื่อง Monitoring the Quantity of Water Flowing Through the Upper Mekong Basin Under Natural (Unimpeded) Conditions โดย Sustainable Infrastructure Partnership (SIP) และ LowerMekong Initiative (LMI) ที่จัดทำภายใต้โครงการของ Mekong Water Data Initiative (MWDI) ของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาปัญหาของการสร้างเขื่อนของจีนต่อแม่น้ำโขง โดยศึกษาผ่านการพัฒนาแบบจำลองเพื่อทำนายการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขงตอนบน และจากนั้นจึงใช้การคาดการณ์นี้เพื่อพิจารณาว่าเขื่อนที่สร้างทับบนแม่น้ำโขงตอนบนส่งผลต่อการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำอย่างไร การศึกษาครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากข้อมูลดาวเทียมตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2562 และข้อมูลมาตรวัดความสูงของแม่น้ำรายวันจากเชียงแสน ประเทศไทย ผลจากการศึกษาพบว่าจีนมีการควบคุมน้ำและใช้ประโยชน์จากการจัดการดังกล่าวจริง โดยมีการกักเก็บน้ำไว้ล่วงหน้าในหน้าแล้งและปล่อยน้ำออกมาในหน้าฝน ทำให้ประเทศปลายน้ำต้องพึ่งพาการตัดสินใจของจีนในการจัดการปริมาณน้ำและยังต้องคอยรับผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการจัดการดังกล่าว ทั้งความแห้งแล้งและภัยน้ำท่วม แน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งภาวะโลกร้อนและการตัดไม้ทำลายป่า ฝนที่ตกหนักเป็นเวลานานทำให้เกิดน้ำท่วมขัง แต่การที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นก็ทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ไม่สามารถระบายออกได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ BBC รายงานข่าวน้ำท่วมจังหวัดเชียงรายในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำที่สูงขึ้นในแม่น้ำโขงสอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญกับปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนจิ่งหงของจีน และปริมาณน้ำโขงที่สูงขึ้นทำให้มวลน้ำที่ท่วมอยู่บริเวณรอบ ๆ ไม่สามารถระบายออกแม่น้ำโขงได้
จากกรณีข้างต้นทางโฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยจะออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า เขื่อนจิ่งหงไม่ได้ดำเนินการระบายน้ำเมื่อเร็วๆ นี้
“เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าวกับสื่อมวลชนว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พื้นที่หลายแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เกิดน้ำท่วม ฝ่ายจีนมีความกังวลอย่างมากในเรื่องนี้ โดยการสอบถามเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน สภาพน้ำของตอนแม่น้ำในประเทศจีนได้อยู่ภาวะปกติในเมื่อเร็วๆ นี้ และอ่างเก็บน้ำที่เกี่ยวข้องของแม่น้ำล้านช้างได้อยู่ในสถานะกักเก็บน้ำ ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 25 สิงหาคม ปริมาณการไหลออกเฉลี่ยต่อวันของสถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิ่งหงได้ลดลง 60% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมในปีก่อนหน้า และไม่ได้มีการดำเนินการระบายน้ำ หกประเทศในลุ่มแม่น้ำล้านช้างเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันที่เชื่อมต่อกันด้วยภูเขาและแม่น้ำ ฝ่ายจีนเคารพและเอาใจใส่ผลประโยชน์และข้อกังวลของประเทศในลุ่มแม่น้ำอย่างเต็มที่ จีนยินดีที่จะส่งเสริมการแบ่งปันและความร่วมมือในด้านข้อมูลทรัพยากรน้ำเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการแบบบูรณาการในลุ่มแม่น้ำ และร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภัยพิบัติน้ำท่วม และความท้าทายอื่นๆ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำท้ายเขื่อน จากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (อ้างอิงจากรายงานของกองวิจัย พัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) พบว่าข้อมูลปริมาณน้ำท้ายเขื่อนจิ่งหง ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ถึง 24 สิงหาคม 2567 มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 24 สิงหาคมสามารถวัดระดับปริมาณน้ำท้ายเขื่อนจิ่งหงได้ถึง 2,460 ม.รทก. นอกจากนี้เมื่อเทียบสถิติปริมาณน้ำท้ายเขื่อนระหว่างปี 2567 และปี 2566 พบว่าในวันที่ 18 ถึง 25 สิงหาคม ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนของปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 2,790 ม.รทก. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 26.12% ไม่ได้ลดลง 60% อย่างที่โฆษกสถานทูตจีนกล่าวอ้าง
ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทยออกมาชี้แจงนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เนื่องจากข้อมูลที่กล่าวอ้างนั้นไม่ตรงกันกับข้อมูลทางสถิติที่เลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยรายงาน หรือหากต้องมีการคำนวณตัวแปรอื่นๆ เพิ่มเติม ในกรณีเช่นนี้หน่วยงานใดจะเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจ้งให้ประชาชนทราบเพื่อให้ทำความเข้าใจข้อมูลข้างต้นได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้พื้นที่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ที่ไม่มีจีนเป็นสมาชิกจะสามารถเจรจากับจีนได้มากน้อยเพียงใดเมื่อประเทศต้นเรื่องอย่างจีนไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของคณะกรรมาธิการชุดนี้
แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเกี่ยวกับประเด็นของแม่น้ำโขงยังคงเป็นความท้าทายของกลุ่มประเทศปลายน้ำ และผู้เขียนทราบดีว่าแม่น้ำโขงถูกผูกโยงไปด้วยอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐที่ซับซ้อนเกินกว่าที่คนเพียงแค่หนึ่งกลุ่มจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ควรมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและความจริงที่ว่าพวกเขากำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ และรู้ว่าตนเองต้องรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร ดังนั้นการทำข้อมูลเปิด เพื่อเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อมูล โดยการนำข้อมูลที่เข้าใจยากมาเปิดเผยและทำให้เข้าใจง่ายจะช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น และเกิดกระบวนการตรวจสอบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกทั้งยังช่วยยกระดับความโปร่งใสของข้อมูลได้
ปัจจุบันแม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลรายงานหรือสถานการณ์ของแม่น้ำโขงไว้บนเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ข้อมูลดังกล่าวยังคงต้องอาศัยการวิเคราะห์และความรู้เชิงเทคนิคบางประการเพื่อทำความเข้าใจปัญหาในภาพรวมทั้งหมด ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในท้ายที่สุดแล้วการเปิดเผยข้อมูลและการเจรจาระหว่างรัฐจะสามารถ“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา” โดยมีพื้นฐานจากข้อมูลเปิดที่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมกันตรวจสอบได้
ธรีญา อึ้งตระกูล
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน
เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย