จากบทความตอนที่แล้วเรื่อง “Collaboration for Good Governance ร่วมสร้างสังคมดีด้วยหลักธรรมาภิบาล” ผู้เขียนพาทุกท่านมารู้จักกับโครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาล (Collaboration for Good Governance) และนำเสนอผลการดำเนินงานในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งบทความในตอนนี้ผู้เขียนจึงขอขยายผลเพื่อบอกเล่าความสำเร็จการขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างเสริมธรรมาภิบาลในภาคส่วนต่างๆ ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทางโครงการมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นผู้เขียนขอทบทวนความจำทุกท่านเกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น โครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาล (Collaboration for Good Governance) ภายใต้งานร้อยพลังสร้างสังคมดี มูลนิธิเพื่อคนไทย โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนงานด้านธรรมาภิบาล โดยมุ่งเน้นการสร้างและขยายความร่วมมือไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยการทำงานสร้างเสริมธรรมาภิบาลร่วมกับภาคีเครือข่ายผ่าน 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.การสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส 2.การสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้และมีส่วนร่วม 3.การสร้างพลังประชาชนในการเฝ้าระวังผ่านช่องทางต่างๆ 4.การสนับสนุนความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องและเกิดความร่วมมือในระยะยาว
ในการดำเนินงานโครงการมีคณะทำงาน HAND Social Enterprise เข้ามาทำหน้าที่ “Catalyst”สนับสนุนการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างองค์กรไปจนถึงระดับภาคส่วนให้กับภาคีในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องทั้งยังเป็นฝ่ายสนับสนุนภาคีเครือข่ายในการทำให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นสู่การลงมือปฏิบัติจริงเห็นผลเป็นรูปธรรม จนเกิดกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาลในแต่ละภาคส่วนเป็นระบบนิเวศ กลายเป็นพลังทางสังคมที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้ต่อไป
ผลการดำเนินงานโครงการในปี 2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนขอยกตัวอย่างตามกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประการแรก การสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส คณะทำงาน ฯ สร้างความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชั่น และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) มูลนิธิเพื่อคนไทย งานร้อยพลังสร้างสังคมดี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (WeVis) ร่วมกันจัดกิจกรรม “อาสาพา (PAR) กรอก” ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันสำหรับนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการเรียนรู้การใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data) และส่งเสริมการตระหนักรู้ในบทบาทของประชาชนที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ผ่านการสร้างฐานข้อมูลด้วยการแปลงข้อมูลบัญชีทรัพย์สินฯ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลบนฐานข้อมูล ACT Ai Politics Data มีผู้สมัครเข้าร่วมเป็นอาสาจำนวน 15 คน ได้ชุดเอกสารที่กรอกเสร็จสิ้น 81 ชุด ทำให้เราสามารถใช้เป็นฐานข้อมูล และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นเพื่อต่อยอดในการใช้งานฐานข้อมูลนี้ต่อได้ในอนาคต
ประการที่สอง การสื่อสารเพื่อสร้างการตระหนักรู้และมีส่วนร่วม คณะทำงานฯ ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และงานร้อยพลังสื่อ มูลนิธิเพื่อคนไทย ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำ “รายงาน 10 ปี คดีโกงของนักการเมืองไทย” โดยมีการจัดทำสื่อ Infographic สรุปข้อมูล มีการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันเผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารขององค์กร และงานร้อยพลังสื่อฯ ได้มีประสานความร่วมมือภาคสื่อมวลชนเพื่อร่วมกันเผยแพร่รายงานเพื่อสร้างการรับรู้สู่สังคมในวงกว้าง การสื่อสารรายงานดังกล่าวถือว่าได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี
ประการที่สาม การสร้างพลังประชาชนในการเฝ้าระวังผ่านช่องทางต่างๆ โดยทีมงานเพจต้องแฉสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการใช้งานเครื่องมือฟ้องโกงด้วยแชตบอต(Corruption Watch) ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนการเข้าถึงเครื่องมือผ่านการเพิ่มเพื่อนใน LINE Official Account รวมทั้งหมดจำนวน 845 Users มีการใช้งานเพื่อแจ้งเบาะแสรวมทั้งสิ้น 157 เรื่อง และมีการเผยแพร่และรายงานสถานะบนเว็บไซต์ cs.actai.co รวมทั้งหมด 123 เรื่อง นอกจากนี้ทีมงานเพจต้องแฉสร้างความร่วมมือกับเทใจโดยขอรับการสนับสนุนทุนในการดำเนินงานผ่านแฟลตฟอร์มเทใจ ปี 2566 มียอดบริจาคทั้งหมด 23,821 บาท และการสร้างความร่วมมือกับ Carenation โดยขอทุนสนับสนุนผ่านแฟลตฟอร์ม ในขณะนี้มียอดบริจาคทั้งสิ้น 1,100 บาท
ประการสุดท้าย การสนับสนุนความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม คณะทำงานฯ ร่วมมือกับสถาบันพระปกเกล้า โดยเข้าร่วมการนำเสนอรายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมส่งเสริมการรับรู้ร่วมกันระหว่างสมาชิกรัฐสภา บุคลากรในรัฐสภา และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการสื่อสาร รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลของรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในประเด็น “การเปิดเผยข้อมูลของรัฐสภาไทยบนเว็บไซต์”
นอกจากนี้คณะทำงานฯ มีการประสานความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวพัฒน์ โดยการเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสาร Youth Talk “เมล็ดพันธุ์ใหม่ หัวใจซื่อสัตย์”เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 โดยมีคุณสุภอรรถ โบสุวรรณเข้าร่วมให้ความรู้เรื่องการต่อต้านการทุจริตอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงข้อมูลเรื่องคอร์รัปชั่นในประเทศไทยที่มีดัชนีชี้วัดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศไทยอย่างน่าสนใจ ทำให้เด็กๆ มองภาพการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น
ผลการดำเนินงานโครงการในปี 2566 ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายที่ต้องการขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างเสริมธรรมาภิบาลสู่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ซึ่งปีนี้ผู้ดูแลโครงการฯ มีความตั้งใจจะขยายความร่วมมือในการสร้างเสริมธรรมาภิบาลไปยังภาคส่วนต่างๆ ของสังคมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และจะมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารงานหรือความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ผ่านทางเฟซบุ๊กร้อยพลังสร้างสังคมดี จึงขอฝากทุกท่านติดตามช่องทางการสื่อสารของทางโครงการเอาไว้
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันติดตามกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ งานร้อยพลังสร้างสังคมดีและภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดงาน Good Society Day 2024 วันที่ 22-23 มีนาคม 2566 งานในปีนี้เป็นการมุ่งเน้นเชิญชวนองค์กรภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานภาคสังคมหรือผู้ที่มีความสนใจงานภาคสังคมเข้าร่วม ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย เช่น Talk เติมองค์ความรู้และจุดประกายการทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆ Workshop เติมทักษะต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนางานที่กำลังทำ Exhibition & Business Matching การเปิดพื้นที่โชว์ผลงานของภาคีภาคสังคมเพื่อตามหาพาร์ทเนอร์ภาคธุรกิจที่พร้อมมาร่วมสนับสนุนทุน และ Good Dot Mission กิจกรรมที่เชิญชวนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมเพื่อตามหาไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาสังคม เป็นต้น ผู้อ่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวงานในปีนี้ได้ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก
ร้อยพลังสร้างสังคมดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พบกันในงาน Good Society Day 2024
พัชรี ตรีพรม
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”