ลงมือสู้โกง : ถนนไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้ ถ้า…

“ถ้านักการเมืองไทยหยุดโกงเพียง 2 ปี ถนนประเทศไทยจะปูด้วยทองคำก็ยังได้…” ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง ซึ่งมาจากคำพูดของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นถ้อยคำที่เปรียบเปรยถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ได้กอบโกยเอาภาษีของประชาชนไป จนเป็นเรื่องตลกร้ายว่าหากไม่มีการโกง ถนนไทยคงปูด้วยทองคำก็ยังได้ จนปัจจุบันประโยคนี้ยังคงถูกหยิบยกเอามาพูดกันอยู่เรื่อยมา ผู้เขียนได้อ่านความคิดเห็นของผู้คนในโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือกระทู้พันทิป ต่างก็มีความเห็นประชดเชิงตัดพ้อ เช่น “ไม่ต้องถึงกับปูด้วยทองคำหรอก เอาถนนลาดยางดีๆ ให้ได้ก่อน” “ขอถนนที่ไม่พังง่ายก่อนเถอะ” และเรื่องนี้ผู้เขียนเองก็ได้เห็นภาพชัดๆ จากในเฟซบุ๊คเพจ “ต้องแฉ” ที่มีคนร่วมกันส่งภาพถนนแถวบ้านมาประชันขำๆ กันว่า #ถนนไทยเป็นอะไรได้บ้าง เป็นดวงจันทร์ เป็นหลุมเตาขนมครก เป็นพิซซ่าบางกรอบ เป็นท้อเพราะสร้างมาจนลูกโตแล้วก็ยังไม่เสร็จสักที ฯลฯ ผู้เขียนนั่งดูไปก็แอบขำในใจไปว่า คนไทยช่างเสียดสีและเป็นคนตลกกันเสียจริงๆ แต่ก็เป็นความตลกร้ายอีกเช่นกัน เพราะสะท้อนให้เห็นว่าจนถึงทุกวันนี้ถนนไทยก็ยังไม่มีคุณภาพเหมือนเดิม และชวนให้ตั้งคำถามว่าหรือเป็นเพราะนักการเมืองยังไม่หยุดโกงกิน ?

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เคยได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “ใครโกงกินสร้างความเดือดร้อนให้บ้านเมืองมากกว่ากันระหว่าง “นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า” ยังไม่มีใครบอกได้ เพราะบางครั้งพวกเขารวมหัวโกง บางครั้งก็แยกกันกิน การรู้เท่าทันคนโกงอย่างแยกแยะไม่เหมารวม จึงเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้คอร์รัปชันที่ประชาชนและหน่วยงานของรัฐควรเรียนรู้” ซึ่งผู้เขียนเองรู้สึกเห็นด้วยว่าเราไม่อาจเหมารวมได้ว่า ใครเป็นผู้โกงกินกันแน่ จึงขอนำรูปแบบการคอร์รัปชันของแต่ละกลุ่มที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ได้กล่าวไว้ มาแชร์ในบทความนี้ให้กับผู้อ่านได้รู้เท่าทันไปพร้อมๆ กัน

  1. คอร์รัปชันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคอร์รัปชันในระบบราชการ เป็นการคอร์รัปชันที่จะกระทบกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากที่สุด แต่ไม่มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้อง เช่น การเรียกรับสินบนจากประชาชน การยักยอกเอาของหลวงไปใช้ การปลอมแปลงเอกสาร หรือการร่วมมือกับพ่อค้าในการจัดซื้อจัดจ้าง การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นทุกระดับตั้งแต่กระทรวง กรม จังหวัด จนถึงหน่วยงานเล็กสุด ตัวอย่างเช่น การคอร์รัปชันในโครงการสร้างถนน เกิดการโกงกินได้ตั้งแต่ การล็อกสเปกงานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย การรับเงินทอน หรือการตรวจรับงานทั้งๆ ที่งานก่อสร้างยังไม่เสร็จตามงวดงาน เป็นต้น
  2. คอร์รัปชันโดยนักการเมือง เป็นคอร์รัปชันที่บงการโดยนักการเมืองที่มีอำนาจกว้างมาก และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจตามกฎหมาย จึงสร้างความเสียหายรุนแรง โดยทั่วไปพบว่ามีนักธุรกิจเข้ามาร่วมวางแผนด้วยเสมอ เว้นแต่เป็นคอร์รัปชันทางการเมือง หรือการใช้อิทธิพลไปข่มขู่ รีดไถ หรือตบทรัพย์ผู้อื่น ที่นักการเมืองทำได้ด้วยตนเอง
  3. คอร์รัปชันโดยเอกชน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ร่วมรู้เห็น แต่เสียรู้ให้กับเอกชนด้วยอาจเป็นเพราะความด้อยประสิทธิภาพ ความไม่รู้หรือความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ทำให้รัฐเสียหาย เช่น ฮั้วประมูล ล็อกสเปกงาน ทิ้งงาน ฉ้อโกง

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ยังได้บอกอีกว่า “ไม่ใช่ทุกครั้งที่คนทั้ง 3 กลุ่มร่วมมือกัน แต่เกือบทั้งหมดต้องมีข้าราชการเป็นตัวกลาง และ การควบคุมคอร์รัปชันให้ได้ผล จึงต้องพุ่งเป้าเล่นงานให้ถูกตัว ไม่เหมารวม ใช้มาตรการต่อต้านที่หลากหลายร่วมกัน การใช้มาตรการแบบเหวี่ยงแหจะสร้างภาระเกินจำเป็นแก่หน่วยงานและข้าราชการที่ดี ทำให้ขาดความร่วมมือและไม่ได้ผลในที่สุด” (ที่มา: เฟซบุ๊คMana Nimitmongkol)

เห็นได้ว่าปัญหาเกิดจากหลายส่วน หากจะไล่ล่าหาให้เจอก็คงจะตามไม่ได้ทั้งหมด แต่จะสร้างความร่วมมืออย่างไร ให้สามารถลดปัญหาหรือเฝ้าระวังการโกงในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยเฉพาะกับเรื่อง “ถนน” ที่เราพูดถึงกันในบทความนี้ได้ ผู้เขียนจึงขอเสนอการใช้หลักธรรมาภิบาล ที่เป็นแนวทางการจัดการบ้านเมืองและสังคมให้มีทิศทางที่ดี ในบทความนี้จะยกมาเพียง 3 หลักสำคัญ คือ การมีส่วนร่วม โปร่งใส และรับผิดชอบ ที่ทุกภาคส่วนสามารถยึดมาปฏิบัติได้ ดังนี้

  1. ภาครัฐ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน อำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลข่าวสารและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้จริง มีความรับผิดชอบในการแก้ไข ตรวจสอบข้อร้องเรียนหรือชี้แจงข้อสงสัยให้ประชาชนได้รับทราบ และร่วมติดตามการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐ สอดคล้องกับหลักการประเมิน ITA (Integrity and Transparency Assessment) ที่ทุกหน่วยงานรัฐต้องได้รับการประเมินคุณธรรม ความโปร่งใส และการป้องกันการทุจริตในการดำเนินงานทุกปี รวมถึงควรเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเสมอ เพื่อไม่ให้เสียรู้หรือผิดพลาด แม้ไม่เจตนาแต่ส่งผลทำให้รัฐเสียหายได้
  2. ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจ ที่อาจต้องต้นใช้ทุนสูงขึ้นในการจ่ายค่าโกงเพื่อแลกกับการได้เปรียบทางธุรกิจ หากภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล หรือมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ร่วมมือกันปฏิเสธการให้สินบนในการทำธุรกิจ ทั้งกับภาครัฐ และกับภาคเอกชนด้วยกันเอง ทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการสอดส่องการทุจริตภายใน รวมถึงต้องมีความรับผิดชอบพร้อมทบทวนปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานก็จะสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลกำไรและความน่าเชื่อถือได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Private Sector Collective Action againstCorruption :CAC) ที่ปัจจุบันมีหลายองค์กรภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการกำหนดนโยบายและวางแนวปฏิบัติให้มีความโปร่งใส เพื่อป้องกันการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
  3. ภาคประชาชน สามารถมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง ตรวจสอบความโปร่งใส ด้วยเทคโนโลยีใกล้ตัวที่สุดอย่างโทรศัพท์มือถือ ในการสอดส่องปัญหาใกล้ตัว เช่น ถนนหรือทางเท้าที่พังง่าย ไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้โดยการหยิบโทรศัพท์และถ่ายรูปส่งไปยังเพจต่างๆ ที่เฝ้าระวังเรื่องเหล่านี้เช่น เพจต้องแฉ เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เพจชมรม STRONG ต้านทุจริตฯ เป็นต้น เพื่อช่วยกันส่งเสียงให้หน่วยงานมาตรวจสอบได้อย่างไม่ต้องเผยตัวตน หรือเข้าไปส่องข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้ที่เว็บ ACT Ai หรือ https://actai.co/ โดยค้นหาด้วยคำง่ายๆ อย่าง “ถนน” ซึ่งระบบจะแสดงเครื่องหมายแจ้งเตือนสีเหลือง เมื่อโครงการนั้นๆ น่าเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบในฐานะประชาชนที่ร่วมเฝ้าระวังได้อย่างมากขึ้นแล้ว

แม้ว่าทั้งหมดที่ผู้เขียนกล่าวมานี้อาจไม่ทำให้ถนนประเทศไทยปูด้วยทองคำได้ แต่ความร่วมมือเหล่านี้จะสร้างความหวังที่นำไปสู่ความเป็นจริงได้ว่า ประเทศไทยจะมีถนนและทางเท้า ที่ดีมีมาตรฐาน ไม่ถูกลดทอนคุณภาพจากการโกงกินของคนบางกลุ่ม เพราะสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่ดี ที่เราทุกคนควรได้รับ แล้วท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง มีวิธีไหนที่ทำให้ถนนไทยจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกบ้าง มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือพูดคุยกันได้ที่เฟซบุ๊คเพจ HAND Social Enterprise

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

เจนจิรา บำรุงศิลป์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น