ลงมือสู้โกง : ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยคำด่า?

ทุกท่านเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยคำด่า” บ้างไหมครับ ตัวอย่างที่สามารถอธิบายประโยคนี้ได้อย่างชัดเจนก็คงจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศในช่วงระยะเวลาเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ผมขอไล่เลียงจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนมีการรายงานจากเฟซบุ๊ค“ต้องแฉ” เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี พร้อมโคมไฟโซลาร์เซลล์กว่าหลายพันต้น มูลค่าหลายพันล้านบาท ที่องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ จังหวัดสมุทรปราการเป็นผู้รับผิดชอบ เสาไฟกินรีติดเรียงรายแทบจะไม่มีเว้นช่องว่างระยะห่าง หรือแม้แต่ในพื้นที่รกร้าง ทาง อบต.ก็ใจดีติดตั้งให้เพื่อความปลอดภัยของต้นหญ้ารอบบริเวณ เท่านั้นยังไม่พอในขณะที่ตกเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ ยังพิจารณาอนุมัติงบประมาณอีกกว่า 68 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเสาไฟกินรีอีก 720 ต้นจนทำให้เกิดคำถามจากสังคมว่าการใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมในลักษณะเดียวกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันเหล่านี้จะทำให้ในท้ายที่สุด อบต.ราชาเทวะยอมสั่งชะลอโครงการเสาไฟกินนารีโครงการใหม่ 720 ต้น โดยอ้างว่าเพื่อรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเสร็จสิ้นก่อน ถือเป็นความสำเร็จตัวอย่างหนึ่ง ที่ยกมาอธิบายประโยคที่ว่าประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยคำด่าได้เป็นอย่างดี

เรื่องที่สองเป็นเรื่องที่ผมเคยเขียนถึงเมื่อครั้งก่อน คือ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพราะทันทีที่มีข่าวปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีมีการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาด้วยเนื้อหาสาระที่มีแนวโน้มจะปกปิดมากกว่าเปิดเผย ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักการการส่งเสริมภาครัฐเปิดเผยในระดับสากล เอื้อให้เกิดการปิดบังข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนติดตามตรวจสอบและสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการต่อต้านทุจริตได้ยาก จนเกิดกระแสคัดค้านในสังคม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ #ไม่เอาพรบข้อมูลข่าวสาร เกิดการรณรงค์จากภาคประชาชนในการต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าว บนเว็บไซต์ change.org และการขับเคลื่อนขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จนเมื่อภาคประชาชนลุกขึ้นมาเอาจริงในการคัดค้านกฎหมายดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของภาคประชาชน และขัดกับ “คำพูด” ของท่านนายกฯ ที่จะชูประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ จนในท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ยอมที่จะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากรัฐสภาเพื่อนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง ลองคิดดูครับว่าถ้าสังคมปล่อยผ่าน ไม่มีใครให้ความสนใจ ไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีใครออกมาก่นด่า ก็ไม่รู้ว่าคณะรัฐมนตรีจะเอายังไงต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ คือ การยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองในสภาที่หนึ่งในข้อเสนอคือการให้ตัดบทลงโทษ สส. สว. และกรรมาธิการที่แทรกแซงการจัดทำงบประมาณประจำปี รวมถึงยกเลิกข้อห้าม สส. สว. แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ เพราะแนวทางดังกล่าวจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และที่สำคัญคือขัดกับคำพูดของผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง ที่เคยกล่าวว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ทันทีที่สังคมรับทราบเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ก็เกิดการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนในหลายภาคส่วนที่ออกมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว จนทำให้เกิดคำว่าพูดว่า “จะไปแก้ไขเอาเรื่องนี้ออกในชั้นกรรมาธิการ ในวาระ 2”แต่ด้วยแรงกดดันจากสังคม เสียงวิพากษ์วิจารณ์และคำถามถึงความเหมาะสมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ข้อเสนอการแก้ไขนี้ไม่ผ่านการพิจารณาในชั้นรับหลักการในวาระที่ 1 

จากสามตัวอย่างที่เล่ามานี้ยังไม่รวมถึงปัญหาเรื่องการจัดการการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีคำถามจากสังคม ถึงความชัดเจนเรื่องแผนการบริหารจัดการสถานการณ์และแผนการจัดซื้อ รวมถึงแผนการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ หรือแม้แต่ความสับสนของระบบหมอพร้อม ที่ไม่เคยพร้อมจนโดนประชาชน “ด่า” ไปหลายหน หลายท่านคงคุ้นเคยกับสถานการณ์ที่โรงพยาบาลประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนจนทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้แล้วล่วงหน้าออกมาแสดงความไม่พอใจ เกิดเสียงก่นด่าในสื่อสังคมออนไลน์ และเหตุการณ์ที่ตามมาโดยทันทีก็คืออยู่ๆ รัฐบาลก็สามารถกระจายวัคซีนและส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ได้ จนทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามที่นัดหมายไว้ดังเดิม เรื่องราวยังไม่จบเท่านี้เพราะวันดีคืนดีมีหนังสือกระทรวงมหาดไทยส่งถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศให้สนับสนุนฉีดวัคซีนให้พนักงานและครอบครัวของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เลยโดนสังคมตั้งคำถามถึง “การเลือกปฏิบัติ” ว่าเพราะอะไรบริษัทเอกชนแห่งนี้ถึงมีสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนมากกว่าบริษัทเอกชนอื่น? แต่ไม่ทันไร 3 วันให้หลังกระทรวงมหาดไทยได้สั่งยกเลิกหนังสือจัดสรรวัคซีนให้บริษัทดังกล่าว หลังจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มท่ามกลางกระแสวัคซีนไม่เพียงพอ

แต่อยากชวนให้ทุกท่านคิดครับว่า “เสียงด่า” อาจแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว และมีเพียงเสียงด่าที่ดังก้องเท่านั้นที่จะสามารถสร้างแรงกดดันจนผู้มีอำนาจได้ยินและลงมือแก้ปัญหานั้นๆ “การด่า” ในที่นี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการที่จะแสดงออกถึงความไม่พอใจและความต้องการให้ตัวแทนหรือผู้มีอำนาจได้รับรู้รับทราบเพื่อแก้ปัญหา แต่ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนเสียงด่าเหล่านั้นมาเป็นรูปธรรม จับต้องได้ และไม่ต้องการให้การขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ต้องมาจากคำดุด่าว่ากล่าว (ทำเหมือนตอนเด็กที่ถ้าแม่ไม่ดุ ไม่ว่า ก็จะไม่ตั้งใจเรียนไปได้)วิธีการหนึ่งที่ทั่วโลก “ฮิต” ใช้กันในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้คือการทำ Hackathon (มาจากคำว่า Hack + Marathon) ที่มีจุดเริ่มต้นของกิจกรรมในวงการไอทีที่ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาแบบมาราธอน 2-5 วันต่อเนื่องกัน ซึ่งในเวลาต่อมากิจกรรมก็ได้มีการดัดแปลงรูปแบบเพื่อใช้สำหรับการแก้ไขปัญหา ระดมสมอง แลกเปลี่ยนไอเดียในประเด็นที่แตกต่างกันออกไปรวมถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ ประเทศไทยเองก็มีการจัดงานในลักษณะนี้ปีนึงหลายต่อหลายครั้งทั้งที่จัดโดยภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชน แต่สำหรับเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันนั้น ในปีนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดกิจกรรมนี้ในชื่อ ACTkathon เพื่อผลักดันประเด็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของภาครัฐ โดยเชิญชวนคนทั่วไปที่สนใจเข้ามาร่วมระดมสมองและพัฒนาเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์ว่า “ทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในการเพิ่มความโปร่งใสและสร้างการมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล” ผมอยากชวนทุกท่านที่สนใจและอยากสมัครร่วมกิจกรรมสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ actkathon.actai.coแล้วมารวมกันทำให้เสียงด่ากลายเป็นพลังแห่งการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกันครับ และโอกาสหน้าคงจะได้มาเล่าให้ทุกท่านได้ฟังเกี่ยวกับไอเดียที่ได้พบเจอจากกิจกรรม ACTkathon นะครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

ณัฐภัทร เนียวกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ