พาย้อนดูคอร์รัปชันแบบไทย (แท้)

การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันในประเทศไทย ผ่านการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ของ 4 ช่วงเวลาสำคัญ ได้แก่ ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยุคหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ยุคของการเมืองแบบเปิด และยุคของการเมืองร่วมสมัย ได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะของการคอร์รัปชันที่แปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญของงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของไทยว่าจะทำอย่างไร เพื่อที่จะออกแบบกลไกและวิธีการที่มีประสิทธิภาพเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคม

การคอร์รัปชันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมหนึ่งที่มีความซับซ้อนและมีพลวัตสูง เนื่องจากลักษณะ วิธีการ ผู้เกี่ยวข้อง รูปแบบการจัดสรรผลประโยชน์ และขนาดของการคอร์รัปชันในแต่ละสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันในประเทศไทย จึงต้องอาศัยการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ของไทย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลักษณะของการคอร์รัปชันที่แปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา โดยสามารถแบ่งการอธิบายพัฒนาการคอร์รัปชันในประเทศไทยออกเป็น 4 ช่วงเวลาสำคัญ ดังนี้

ช่วงแรก คือ ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งก่อนมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 สยาม (ประเทศไทยในขณะนั้น) ได้ใช้การปกครองในลักษณะระบบกินเมือง ซึ่งพระมหากษัตริย์จะทำการส่งข้าราชการหรือขุนนางไปปกครองตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยไม่ได้มอบค่าตอบแทนให้ แต่จะให้สิทธิในการเก็บภาษีส่วนหนึ่งจากราษฎรในพื้นที่ที่ควบคุมดูแลตามอัตราภาษีที่กำหนด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ขุนนางฉวยโอกาสในการเก็บภาษีเหล่านั้นมาเป็นของตนเกินกว่าที่มีสิทธิเก็บไว้ จึงทำให้ในสมัยนั้นมีคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวว่าเป็น “การฉ้อราษฎร์บังหลวง” ซึ่งหมายถึง การฉ้อโกงเงินมาจากราษฎร เก็บภาษีมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ และ/หรือเบียดบังเงินภาษีจากหลวง โดยส่งหลวงไม่ครบจำนวน โดยสอดคล้องกับความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2555 ว่า การทุจริต คดโกง และความไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ในวงราชการ หรือความหมายของคอร์รัปชันในปัจจุบัน แต่ต่อมาในสมัยของรัชกาลที่ 5 ที่มีการปฏิรูปการปกครอง เพื่อลดอำนาจของขุนนางลง และดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในลักษณะที่เป็นการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล และมีการพระราชทานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการหัวเมือง โดยการเก็บภาษีจะเก็บเข้าสู่พระคลังโดยตรงไม่ต้องผ่านขุนนางเหมือนในอดีต ทำให้รูปแบบพฤติกรรมการฉ้อราษฎร์บังหลวงของขุนนางได้เปลี่ยนไปเป็นการเรียกรับสินบนตอบแทนจากการดูแลสารทุกข์สุกดิบของราษฎรแทนการเบียดบังจากภาษีโดยตรงตามเดิม ซึ่งได้ก่อให้เกิดระบบทุนนิยมขุนนางขึ้นมาแทนที่ระบบเจ้าภาษีนายอากรดั้งเดิมในเวลาต่อมา

ช่วงที่สอง คือ ยุคหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งบทบาทของทหารนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทย โดยเริ่มต้นตั้งแต่ในยุคของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงของการสร้างความเป็นชาติ ทำให้มีแนวการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยม และส่งผลให้รูปแบบของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นไปในลักษณะของการประพฤติผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่ไม่ใช่คนไทย เช่น การข่มขู่และปล้นโดยตำรวจ การเพิกถอนสัญญาเช่าหรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และการยึดเงินทุนและทรัพย์สิน ทำให้เจ้าของธุรกิจต่างชาติต้องมีการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อขอรับการคุ้มครองและการสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพล จนมาถึงในยุคของรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจชาวไทย และชาวต่างชาติอื่น ๆ ในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายได้ผลประโยชน์ตอบแทนกัน และทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครอง และได้รับการเอื้อประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นอย่างมาก รวมถึงนักธุรกิจที่อยู่ในท้องถิ่นต่างจังหวัด ก็ได้มีการสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองในลักษณะระบบอุปถัมภ์ ทำให้รูปแบบการคอร์รัปชันเป็นไปในลักษณะการเอื้อผลประโยชน์ในการทำธุรกิจให้กับนายทุนและนักธุรกิจผ่านโครงการของรัฐต่าง ๆ ตลอดจนการเกิดขึ้นของรัฐวิสาหกิจที่มีนายทหารจำนวนมากเข้าไปมีรายชื่อเป็นคณะกรรมการบริหาร และทำให้นายทหารชั้นสูงสามารถสะสมความมั่งคั่งได้จากการดำเนินงานของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจได้เป็นจำนวนมหาศาล

ช่วงที่สาม คือ ยุคของการเมืองแบบเปิด (พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2554) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักการเมืองต้องอาศัยเงินทุนจากกลุ่มธุรกิจและนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพล เพื่อคงไว้ซึ่งอิทธิพลและอำนาจของทางการเมือง และจากการขยายตัวของระบอบประชาธิปไตยที่มีการแข่งขันทางการเมืองในลักษณะการเลือกตั้งแบบมีหัวคะแนน จึงนำไปสู่รูปแบบของการคอร์รัปชันที่เป็นไปในลักษณะของการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจากประชาชน และเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบายผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องโดยการผูกขาดการประมูลกับภาครัฐ การขยายการมีส่วนร่วมทุนของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ และการแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานที่กำกับดูแลการตรวจสอบของรัฐบาล ซึ่งเปิดโอกาสให้นายทุนขนาดใหญ่สามารถตักตวงผลประโยชน์ได้เป็นจำนวนมาก

ช่วงที่สี่ คือ ยุคของการเมืองร่วมสมัย (พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นช่วงเวลาของวิกฤติทางการเมืองของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างขั้วต่าง ๆ อย่างรุนแรง รวมถึงการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำไปสู่การเข้าสู่อำนาจของทหารในทางการเมือง ซึ่งจากผลการสำรวจดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 พบว่า คนไทยมีความเห็นต่อความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37 สูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 โดยรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันในยุคนี้ จะอยู่ในรูปแบบของการออกกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างอิสระ การขาดความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบทางการเมือง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ต่อพวกพ้องเป็นสำคัญ และการคอร์รัปชันเริ่มมีการกระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วน เช่น หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งส่งผลให้การคอร์รัปชันในปัจจุบันมีรูปแบบที่ซับซ้อนและแยบยล และมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เกิดเพิ่มมากขึ้นจากในอดีต

จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของการคอร์รัปชันในประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความสลับซับซ้อนของรูปแบบวิธีการและตัวแสดงที่อยู่ในกระบวนการคอร์รัปชันเหล่านี้ เป็นความท้าทายที่สำคัญของงานด้านการต่อต้านการคอร์รัปชันของไทยว่าจะสามารถออกแบบนโยบายและกลไกอย่างไร เพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

พาย้อนดูคอร์รัปชันแบบไทย (แท้)

การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันในประเทศไทย ผ่านการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ของ 4 ช่วงเวลาสำคัญ ได้แก่ ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยุคหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ยุคของการเมืองแบบเปิด และยุคของการเมืองแบบร่วมสมัย …

คอร์รัปชันไทยภายใต้ร่มเงาของนักธุรกิจ-นักการเมือง

การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันในสังคมไทย ผ่านการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจและนักการเมือง ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองที่เข้าไปควบคุมกลไกของรัฐโดยตรง …

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น