มองการคอร์รัปชันที่เปลี่ยนไปในสังคมไทยปัจจุบัน

พลวัตทางปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของการคอร์รัปชันในสังคมไทยในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการคอร์รัปชันมีรูปแบบที่ซับซ้อนและแยบยลขึ้นกว่าในอดีต และมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้าสู่กระบวนการของการคอร์รัปชันทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การที่ประชาชนมีความตื่นรู้สู้โกง สามารถรู้เท่าทันการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ และเข้าใจว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดการต่อต้านการคอร์รัปชันจากภาคประชาชนที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในสังคมไทย

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาของวิกฤตการณ์ทางการเมือง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างขั้วต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสังคม และการกำหนดนโยบาย หรือกฎหมายที่อ้างถึงผลประโยชน์สาธารณะ โดยใช้กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจรับรู้ว่าเป็นการคอร์รัปชัน รวมไปถึงกฎหมายที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจสูง การขาดกระบวนการตรวจสอบทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมาย และกฎระเบียบที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยรูปแบบของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นบ่อย ได้แก่ การให้สินบน การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง การทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ประโยชน์ในภายหลัง

นอกจากนี้ ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการคอร์รัปชันเริ่มมีการกระจายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ ฝ่ายการเมือง การทหาร บริษัทเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สหกรณ์ออมทรัพย์ วัด และสถาบันการศึกษา เป็นต้น ดังที่เห็นจากหลายกรณีตัวอย่าง เช่น คดีฉ้อโกงงบโรงเรียนพระปริยัติธรรมปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 คดีฉ้อโกงสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และกรณีที่มีบุคลากรใช้ชื่อหน่วยงานรับงานบริการวิชาการให้กับบริษัทเอกชนอย่างบิดเบือนแลกกับผลประโยชน์ ซึ่งกรณีเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนปัญหาโครงสร้างของระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม-การเมืองไทย

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของการคอร์รัปชันในสังคมไทย ได้แสดงให้เห็นว่าการคอร์รัปชันในปัจจุบันมีรูปแบบที่ซับซ้อนและแยบยลขึ้นกว่าในอดีต และมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกยุคสมัย แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่เกิดการทุจริตที่รุนแรง ก็จะมีการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นเสมอ และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ดีขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ประชาชนจะต้องรู้เท่าทันการคอร์รัปชันรูปแบบต่าง ๆ และมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จนเกิดความตระหนักรู้ว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข และนำไปสู่การรวมกลุ่มของประชาชนที่มีความตื่นตัวต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการติดตามการทุจริตในฐานะที่เป็นพลเมืองตื่นรู้สู้โกง ที่จะทำให้การป้องกันการคอร์รัปชันจากภาคประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในยุคปัจจุบันที่การคอร์รัปชันถูกพัฒนาให้ซับซ้อนและเเนบเนียนมากขึ้นกว่าเดิม

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ