“ในเมื่อเราทำงานในสำนักงานที่มีปัญหาตั้งแต่ประธาน ก็ควรปล่อยผ่านเรื่องทุจริตแค่นี้ไปเหรอ” ประโยคคำถามที่น่าสนใจนี้มาจากซีรี่ส์ที่กำลังมาแรงเรื่อง อูยองอู ทนายอัจฉริยะ Extraordinary Attorney Woo ด้วยความแปลกใหม่ของบท“อูยองอู” นางเอกซึ่งมีภาวะแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม (Asperger’s Syndrome) โรคในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกับออทิสติก แต่มีความอัจฉริยะ ความจำดี เรียนจบเป็นอันดับหนึ่งของนิติ ม.โซล ซึ่งเป็นการนำเสนอภาพของผู้พิการในรูปแบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้อูยองอูกลายเป็นกระแสที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้น เรื่อยๆ ในทุกสัปดาห์ที่มีการออนแอร์ เพราะนอกเหนือจากการนำเสนอในมุมของผู้พิการให้เราเข้าใจมากขึ้นแล้ว ยังมีเนื้อหาการคลี่คลายปมคดีต่างๆ ให้เราได้ติดตามการแก้ปัญหา รวมไปถึงประเด็นทางสังคมที่แทรกเข้ามาในซีรี่ส์ให้ผู้ชมได้แอบคิดตามอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นการเข้าทำงานโดยทุจริตของอูยองอู จากการใช้เส้นสายความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องของพ่อยองอูกับประธานสำนักงานกฎหมายฮันบาดาที่ยองอูทำงานอยู่ ถึงแม้ยองอูจะไม่รับรู้และยินยอมให้เกิดการใช้เส้นสายขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งคนดูก็เกิดความรู้สึกเห็นใจเพราะยองอูเป็นเหยื่อจากการเลือกปฏิบัติในการคัดเลือกเข้าทำงานเพราะความเป็นผู้พิการ จึงอาจจะจำเป็นต้องใช้เส้นสายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการอย่างยองอูได้รับพิจารณา ประเด็นนี้ยังเป็นข้อสงสัยของผู้ชมหลายๆ ท่านว่า แล้วการใช้เส้นสายของยองอูในครั้งนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่
จากการตั้งคำถามของเพื่อนร่วมทีมของยองอูที่นอกจากจะรู้สึกไม่ยุติธรรมต่อการเข้าทำงานของยองอูแล้ว เขายังรู้สึกไม่ยุติธรรมตั้งแต่การมีผู้นำองค์กรที่ได้รับตำแหน่งประธานมาจากการสืบทอดในระบบเครือญาติ แล้วยังต้องพยายามทำเป็นนิ่งเฉยต่อเรื่องทุจริตอื่นๆ ในองค์กรเพราะทุกคนมองเป็นเรื่องเล็กน้อยน่าจะปล่อยผ่านได้ และประเด็นนี้เองทำให้ต้องมาย้อนคิดอีกครั้งว่าการใช้ระบบเส้นสาย หรือการสืบทอดอำนาจของเครือญาติในองค์กรภาคเอกชนนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะหากการสืบทอดนั้นได้บุคคลที่ไร้คุณภาพมาบริหารงาน สุดท้ายก็ส่งผลเสียต่อองค์กรได้อยู่ดีแต่ผลกระทบคงตกอยู่ภายในองค์กรซึ่งมีผลกระทบในวงแคบ แต่ถ้ามองปัญหาของระบบอุปถัมภ์หรือระบบเครือญาติในการบริหารงานของภาครัฐ ยิ่งมีคำตอบชัดเจนเลยว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน และผลกระทบของระบบเครือญาตินั้นสามารถส่งผลเสียเป็นวงกว้างต่อคนทั้งประเทศ เพราะการคัดเลือกบุคคลจากความใกล้ชิดคุ้นเคย ซึ่งหากมองในบางมุมนั่นคือการเลือกคนที่ไว้ใจได้เข้ามาทำงาน แต่ในทางกลับกันเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งหน้าที่เหล่านั้นเป็นบุคคลที่มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับ เพราะการเข้ามาทำหน้าที่ต่างๆ ในภาครัฐย่อมแลกมาด้วยการใช้ภาษีประชาชนเพื่อจ่ายค่าตอบแทนบุคคลเหล่านั้นทั้งสิ้น
กระแสของปัญหาระบบอุปถัมภ์ในภาคการเมืองของไทยที่ถูกพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ คือประเด็นที่ iLaw เปิดข้อมูลรายชื่อ สว. แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นผู้ช่วยมากถึง 50 คน จากทั้งหมด 1,830 คน รับค่าตอบแทนหลักหมื่นต่อเดือนและสวัสดิการอื่นๆ อีกมากมายรวมๆ แล้ว 3 ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณในการจ่ายค่าตอบแทนให้ สว. และคณะไปกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งมีทั้งแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยให้ตนเอง และ “ฝากเลี้ยง” หรือการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วย สว. ท่านอื่นแทน ประเด็นนี้อาจจะดูเหมือนเรื่องปกติในสังคมไทยเพราะเรามักจะได้ยินเรื่องสภาผัวเมีย หรือสภาพี่น้องกันมาอย่างยาวนาน แต่ในยุคที่การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสนั้นเป็นเรื่องสำคัญต่อการบริหารงานในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กรภาคเอกชน ระดับโรงเรียน ระดับชุมชนท้องถิ่น หรือการบริหารงานระดับประเทศ รวมทั้งยังเป็นยุคสมัยที่ประชาชนสามารถตั้งคำถามได้ แม้อาจจะไม่ปลอดภัยในบางครั้งแต่การตั้งคำถามก็นำไปสู่การตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศร่วมกัน
ระบบอุปถัมภ์ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการเสี่ยงที่จะได้บุคลากรที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาทำงานและผลาญงบประมาณแผ่นดินเป็นค่าตอบแทนแล้ว แต่ระบบอุปถัมภ์ หรือระบบเส้นสายเครือญาติ ยังถูกใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนของเจ้าหน้าที่รัฐได้ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรม คัดเลือกบริษัทเครือญาติเข้ามารับงานโดยอาจใช้งบประมาณที่สูงขึ้นเพราะมีส่วนที่ต้องมานำมาแบ่งรายได้กันนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการทำงานจริง รวมถึงเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด นั่นคือการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในการคัดเลือกบริษัทเครือญาติเข้ามารับงานแต่ได้ผลงานที่ไม่มีคุณภาพ ถนน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบนี้มักจะเสียหายก่อนเวลาอันควร และอาจจะเกิดอันตรายต่อประชาชนผู้ใช้งานได้
ดังนั้น หากประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันผลกระทบจากระบบอุปถัมภ์ได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย ด้วยการหาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรมผ่านการใช้เครื่องมือ ACTAi.co หรือ Covid19.actai.co ก็จะสามารถหาความผิดปกติของการใช้ระบบอุปถัมภ์ของเจ้าหน้าที่รัฐกับเครือญาติได้ และเมื่อพบความผิดปกติจากข้อมูลแล้วยังสามารถส่งข้อมูลนั้นให้เครือข่ายสื่อภาคประชาชนได้เกิดการร่วมกันตรวจสอบอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เพจต้องแฉ (Mustshare) หรือเพจชมรม Strong ต้านทุจริตประเทศไทย และสุดท้ายก็ต้องฝากความหวังไว้ที่หน่วยงานภาครัฐอย่าง ป.ป.ช. ให้เข้ามาตรวจสอบและดำเนินการลงโทษอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อไม่ให้ระบบอุปถัมภ์ได้มีโอกาสสร้างความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน และความสูญเสียต่อชีวิตประชาชน
สุดท้ายผู้ชมซีรี่ส์อย่างพวกเราอาจจะยังไม่ได้คำตอบว่าการใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการที่เก่งและอัจฉริยะอย่าง อูยองอู เข้ามาทำงานนั้นถูกต้องหรือไม่ คงต้องรอคำตอบจากซีรี่ส์ในตอนจบ แต่คำตอบของการใช้ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยในยุคของการบริหารงานด้วยข้อมูลที่เปิดเผย โปร่งใส และสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างปลอดภัย เราทุกคนคงสามารถหาคำตอบและร่วมแก้ปัญหาได้พร้อมกัน
นันท์วดี แดงอรุณ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!
จากการที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ผลในปีนี้ไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน ซึ่งหากเทียบกับผลในปี 2022 ที่ไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 ก็จะเห็นได้ว่าคะแนน CPI ไม่ดีขึ้นเลย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ไปตกอยู่กับคนโกง
ทุกคนรู้ไหมว่า ถ้าเราช่วยกันสอดส่อง ผู้แทนที่เราเลือกก็จะทุจริตได้ยากขึ้น จากกรณีกำนันนกที่เป็นข่าวดังเมื่อเดือนก่อนถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นในทางที่ผิด เพราะหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน เขาได้รับโครงการก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาจังหวัดทำให้สามารถใช้เงินซื้ออำนาจรัฐที่เอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ แถมยังทำให้ตำรวจบางคนมาอยู่ใต้อำนาจ และอยู่เหนือกฎหมายได้
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย