ลงมือสู้โกง : อยากโปร่งใสแต่ไม่อยากเปิดเผย

“แก้โกง” เป็นสิ่งที่หลายรัฐบาลพยายามจะทำ ไม่ว่าจะเป็นตอนประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง แถลงเป็นนโยบายก่อนจะเข้ารับตำแหน่ง หรือแม้แต่เป็นข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจของบางรัฐบาล และการ “แก้โกง” จะเป็นประเด็น “ฮิต”บนพื้นที่ข่าวทันที! เมื่อองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศคะแนน CPI ของประเทศไทย ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยดีหลายปีติดต่อกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตต้องกระโดดขึ้นมาเอาจริงเอาจังกันเป็นครั้งๆ

เราเห็นหลายวิธีถูกนำมาใช้ในการ “แก้โกง” ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย เพิ่มองค์กรตรวจสอบ กำหนดบทลงโทษ สร้างหลักสูตรปลูกฝังจริยธรรม-สร้าง “คนดี” แต่อีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ “การสร้างความโปร่งใส” ด้วยการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย เพราะเมื่อประชาชนมีข้อมูลก็จะสามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงรับรู้ความเคลื่อนไหวในการดำเนินนโยบายต่างๆ ภาครัฐเองก็ได้รับประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลเพราะจะเป็นหลักประกันในการดำเนินการแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้และสามารถตอบข้อสงสัยต่างๆ ด้วยข้อมูลที่ภาครัฐเปิดเผยอย่างกว้างขวาง

รัฐธรรมนูญให้การรับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารของรัฐเอาไว้ ประกอบกับการมีกฎหมายที่สำคัญ คือ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่เป็นทั้งช่องทางให้ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ (แม้ว่าจะไม่ค่อยสะดวกบ้างในบางครั้ง) และเป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ แต่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้มากว่า 20 ปี ประกอบกับมีกฎหมายระดับเดียวกันฉบับอื่นๆที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลบางชุด เช่น กรณี ป.ป.ช.ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน “ท่านนายกฯ ประยุทธ์-ท่านรองฯ วิษณุ” โดยอ้างว่ากฎหมาย ป.ป.ช. ไม่ให้เปิด รวมถึงมีข้อเสนอจากหลายภาคที่ต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวให้มีความทันสมัยมากขึ้นและสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล

แต่เจตนาดีในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน-เพิ่มคะแนน CPI ของท่านนายกฯ กลับกลายเป็นว่าเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 23 มีนาคม 2564 เห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฉบับใหม่ ที่เมื่อรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ปรากฏบนโลกออนไลน์ก็เกิดกระแส#ไม่เอาพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ขึ้นทันที 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลักการสำคัญที่มีการแก้ไขนั้นกลายเป็นว่ากฎหมายเอื้อให้การ “ปกปิด(ข้อมูล)เป็นหลักเปิด(ข้อมูล)เป็นข้อยกเว้น” โดยมีแนวโน้มจะทำให้การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ เป็นไปได้ยากขึ้น เข้าถึงชุดข้อมูลได้น้อยลง และจำเป็นต้องมี “ร้องขอ” ข้อมูลที่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเปิด ซึ่งขัดกับหลักการสากลเรื่องการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐว่าต้อง “เปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” เพราะมีการ “เพิ่มจำนวน” ชุดข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผยจากกฎหมายเดิม เช่น ข้อมูลด้านการทหารที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์เป็นข้อมูลที่ไม่ต้องเปิดเผย แม้ว่ากฎหมายใหม่จะยังเป็นแค่ร่างแต่ในปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวก็ทำได้ยากมากอยู่แล้ว หลายท่านคงบอกว่าเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงควรจะเป็นความลับ ผมเห็นด้วยครับว่าเรื่องความมั่นคงเช่น ที่ตั้งทางการทหาร ที่ตั้งหรือคลังของอาวุธเหล่านั้นควรจะเป็นความลับ แต่รายละเอียดโครงการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธและงบประมาณที่ถูกจ่ายไปนั้นควรจะเปิดให้ประชาชนได้ทราบ เพราะการเปิดโอกาสให้สามารถ “ปิดบัง” ข้อมูลได้ จะแลกมาด้วยความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตตามมา 

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การเอื้อให้หน่วยงาน “มีดุลยพินิจมากขึ้น” ในการเลือกที่จะเปิดหรือไม่เปิดเผยข้อมูล ในม.13/1 ของร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการฉบับใหม่นั้นบัญญัติว่า ข้อมูลข่าวสารราชการที่หากเปิดเผยแล้ว “อาจมีการนำข้อมูลไปใช้ก่อให้เกิดความเสียหาย” ต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย (ต่างจาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติเพียงว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะเปิดเผยมิได้”) การเอื้อให้หน่วยงานสามารถมีดุลยพินิจ ในทางหนึ่งนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามในการสร้างความโปร่งใสในประเด็นต่างๆ เพราะเมื่อกฎหมายบัญญัติให้หน่วยงานต้อง “คาดเดาผล” จากการใช้ข้อมูล นั่นย่อมทำให้หน่วยงานกังวลถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในทางเลวร้ายที่สุดและก็อาจจะไม่มีข้อมูลใดถูกเปิดเผยออกมา แม้ว่าข้อมูลนั้นจะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ ก็ตาม อีกทั้งด้วยบทกำหนดโทษที่เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมมีเฉพาะผู้ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้เท่านั้นที่มีโทษ แต่ร่างกฎหมายใหม่เพิ่มบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืน “เปิดเผยข้อมูลที่ห้ามเปิด” โดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

หรือแม้แต่การให้หน่วยงาน “ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูล” ให้กับผู้ร้องขอข้อมูล เมื่อหน่วยงาน “คิด” ว่าการร้องขอนั้นมีเจตนาไม่สุจริต ขอข้อมูลจำนวนมาก บ่อยครั้งเกินไป หรือมีลักษณะเป็นการก่อกวนสร้างภาระให้หน่วยงานของรัฐ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงต้องถามกลับว่า แบบใดถึงเรียกว่ามาก หรือแบบใดเรียกว่าสร้างภาระ? ใครเป็นคนกำหนดเกณฑ์ แต่ผมขอเสนอวิธีที่ง่ายและสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คือหน่วยงานภาครัฐก็ควรจะเปิดเผยข้อมูลให้เยอะและครอบคลุมมากที่สุด อีกทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างมีมาตรฐานในช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก เพียงเท่านี้ก็คงจะไม่มี “คนปกติ” คนไหนอยากจะไป “สร้างภาระ” ให้กับท่านๆ ทั้งหลาย

ในความเป็นจริงแล้ว พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการควรเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้โดยง่ายด้วยวิธีการและช่องทางที่หลากหลาย เพิ่มชุดข้อมูลเปิดภาครัฐให้มากขึ้น เพราะข้อมูลภาครัฐควรเป็นข้อมูลสาธารณะเพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของสังคม ข้อมูลจะเป็นตัวช่วยสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ให้เกิดกิจกรรมทางการเมืองบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งควรแยกการบังคับใช้บทลงโทษกับผู้ที่ใช้ข้อมูลในทางที่ผิดและก่อให้เกิดความเสียหายจากการใช้ข้อมูลด้วยกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว จะมีประสิทธิภาพมากกว่าและไม่เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความโปร่งใสของภาครัฐ

ท้ายที่สุดนี้ ผมเชื่อว่าท่านนายกฯ และคณะรัฐมนตรีก็คงอยากจะเห็นประเทศไทยมีความโปร่งใสมากขึ้น การทุจริตลดน้อยลง มีคะแนน CPI เพิ่มขึ้นตามแผนปฏิรูปประเทศที่ท่านทั้งหลายอุตส่าห์วางแนวทางและเป้าหมายไว้ การแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภายังคงเป็นความหวังที่ไม่ไกลเกินเอื้อมในการยึดมั่นในหลักการ“เปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ไม่เช่นนั้นแล้วท่านๆ ทั้งหลายคงจะได้พาประเทศไทย ขึ้นไทม์แมชชีนเดินถอยหลังเรื่องการส่งเสริมความโปร่งใสเป็นแน่

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

ณัฐภัทร เนียวกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น