ลงมือสู้โกง : เยาวชนสู่พลเมืองผู้ตื่นรู้ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วม

“เด็กคืออนาคตของชาติ?” เชื่อว่าใครหลายๆ คนคงได้ยินประโยคที่ว่า “Asgard is not a place, it’s a people.” แปลว่า “แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่ แต่คือประชาชน” ประโยคกินใจที่โอดินกล่าวกับธอร์ผู้เป็นลูกหลังจากที่สภาพของ แอสการ์ดถูกทำลายอย่างย่อยยับจนไม่สามารถฟื้นคืนได้ดังเก่า ในภาพยนตร์เรื่อง “Thor: Ragnarok” (2017) แสดงให้เห็นว่าหัวใจของเมืองก็คือ “ประชาชนในเมือง” อันประกอบด้วยผู้คนจากต่างที่ต่างถิ่น ต่างอายุ ต่างศาสนาต่างมุมมอง ต่างอาชีพ เชื่อมโยงกันให้เกิดพลังขับเคลื่อนสู่ความเจริญรุ่งเรืองตามที่สังคมหนึ่งๆ คาดหวัง ถึงแม้เมืองจะประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลายแต่มีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้กำหนดชะตาของเมืองอันเกี่ยวพันโดยตรงกับชะตาชีวิตของประชาชนในเมืองนั้น

เป็นเพราะเราไม่ใช่ประชาชนในแอสการ์ดหรือเปล่าเราถึงไม่เป็นส่วนสำคัญของเมือง? คำตอบคือ “ไม่ใช่” อย่างแน่นอน หากเปรียบเมืองเสมือนเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง เราถือเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำให้เมืองขับเคลื่อนไปได้ และสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเมืองไม่แยแสเรา คือ “ระบบ” ที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนของฟันเฟืองต่างหาก เมื่อระบบไม่ดีคงเป็นการยากที่ฟันเฟืองจะทำหน้าที่ตัวเองได้อย่างสุดความสามารถ ฉะนั้นแล้วเมืองทุกเมืองสามารถเป็นแอสการ์ดสาขา 2 ได้เสมอ เมื่อสามารถมีระบบที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในเมืองได้

เด็กและเยาวชนเป็นคนกลุ่มหนึ่งของเมืองที่กำลังเรียนรู้ แสวงหาโอกาส และมีพลังขับเคลื่อนจากภายใน ความสวยงามของช่วงวัยนี้ คือ การค้นหา ทดลอง และเติบโต เพื่อที่จะเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ มีพลังของความคิดสร้างสรรค์และความอยากเปลี่ยนแปลง แต่คุณภาพชีวิตที่ไม่ดี สภาพแวดล้อมไม่เอื้อและอคติระหว่างช่วงวัยเป็นตัวฉุดรั้งความสวยงามของช่วงวัยนี้ไป จากเวทีระดมสมอง “ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ในวันที่ 26 มีนาคม 2565 ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาและรักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ให้ข้อมูลว่า ครอบครัวนักเรียนยากจนในกทม.มีรายได้ 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศและเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์กำหนดไว้ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน (บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล, 2565) สะท้อนอย่างเด่นชัดว่าคุณภาพชีวิตของเยาวชนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องเผชิญคุณภาพชีวิตที่ยากลำบาก สภาพสังคมแร้นแค้นที่มีอยู่ทั่วไปนี้ส่งผลให้เยาวชนตื่นตัวต่อการรับรู้สิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และอยากมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองที่อาศัยอยู่ให้ดีกว่า

ทำไมเด็กรุ่นนี้ถึงก้าวร้าว? จริงๆ แล้วคำถามนี้ควรเปลี่ยนเป็น “ทำไมเด็กรุ่นนี้ถึงตื่นตัว?” จึงจะเหมาะสมมากกว่า ท่ามกลางสภาพทางสังคมที่กดทับและกดดันให้เยาวชนอยู่แค่เพียงในพื้นที่ถูกจำกัดโดยผู้ใหญ่ สะท้อนจากระบบการศึกษาที่ออกแบบมาให้ครูได้ตัดสินความถูกต้องหรืออะไรแบบไหนที่เรียกว่าดี ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ระเบียบด้านการแต่งกาย ทรงผม หรือระเบียบวินัยต่างๆ ที่เป็นกระบวนการคิดของการมองในมุมผู้ใหญ่ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้กำลังบอกว่าระเบียบเหล่านี้ “ไม่ดี” แต่เป็นระเบียบที่ไม่คำนึงถึงข้อคิดเห็นของนักเรียนทั้งที่เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงและต้องทำตามระเบียบนั้นๆ ในขณะเดียวกันมีความพยายามพัฒนาระบบการศึกษาให้นักเรียนสามารถคิดเชิงวิพากษ์และนักเรียนต้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง เพื่อเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รู้จักปฏิบัติตามระเบียบของสังคม จารีตประเพณี เป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย (ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์, 2565) แต่วิชานี้ก็ยังไม่มีตัวชี้วัดที่จะนำไปสู่การสร้างการตระหนักและการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการแสดงออกถึงความต้องการและมีส่วนในการตัดสินใจระดับนโยบายของโรงเรียนได้

จะดีขึ้นกว่านี้ได้อีกหรือเปล่า? ในความเป็นจริงประเทศไทยมีโครงสร้างที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก ทำกิจกรรม และเรียนรู้กระบวนการของพลเมืองผู้ตื่นรู้ หากเป็นในระดับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมีสภานักเรียน คณะกรรมการนักเรียน องค์การนักศึกษา หรือสภานักศึกษา ขึ้นอยู่กับรูปแบบของแต่ละที่ ในขณะที่ในระดับโครงสร้างทางสังคมก็มีกลุ่มสภาเด็กและเยาวชนตามกลไกที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และหากมองภาพการมีส่วนร่วมของเยาวชนต่อการพัฒนาเมืองที่ตนอาศัยอยู่นั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวว่ารัฐไม่สนใจหรือไม่ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง แต่กล่าวได้ว่ารัฐไม่เข้าใจความต้องการของเยาวชนโดยเฉพาะรัฐระดับท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของเยาวชนในเมืองนั้นๆ หากศึกษาการใช้งบประมาณในแต่ละเมืองจะพบว่ามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอย่างแน่นอน แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเคยถามความต้องการของเยาวชนก่อนหรือไม่? ก่อนตัดสินใจยื่นข้อเสนอโครงการนั้นๆ เพื่อของบประมาณ ประโยชน์ที่ได้จะส่งผลลัพธ์คุ้มค่าตามงบประมาณที่ต้องใช้หรือเปล่า? ทั้งๆ ที่กระบวนการส่วนนี้เยาวชนควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น เป็นห้องเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองได้ดีที่สุด แต่กลายเป็นว่าเยาวชนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมสำเร็จรูปเพื่อให้บรรลุตาม KPI ที่รัฐตั้งไว้

เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจ เยาวชนมีเพื่อนร่วมคิดร่วมทำและมีทรัพยากรสนับสนุนพร้อม เยาวชนก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เติมเต็มเมืองให้มีช่วงชีวิตของวัยหนุ่มสาวได้ หน่วยงานรัฐท้องถิ่นควรมีธรรมาภิบาลในการดำเนินงานเพราะยังไม่บรรลุในหลักความคุ้มค่า ที่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสิ่งเสริมศักยภาพเยาวชน แต่เยาวชนกลับเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งให้บรรลุตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ และหลักของการมีส่วนร่วมที่เห็นได้ชัดว่าผู้บริหารระดับเมืองไม่เปิดพื้นที่ให้เข้าถึงได้อย่างมากพอ รวมถึงกระบวนการจัดสรรด้านงบประมาณที่หลับหูหลับตาเสนอโครงการที่เยาวชนไม่สนใจ จากที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุม EU-Thai Urban Youth Forum พบว่าในกลุ่มประเทศยุโรปเยาวชนสามารถร่วมพูดคุย เสนอความเห็นและขอการสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ จากกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นได้อย่างสะดวก โดยนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐไม่กลัวที่จะโดนวิจารณ์หรือการตรวจสอบ นั่นอาจหมายความว่ากระบวนการทางการเมืองและการดำเนินงานของรัฐในประเทศเหล่านั้นมี ธรรมาภิบาลในมากกว่าหรือไม่? จากข่าวที่ถูกนำเสนอออกมาเราคงคิดเล่นๆ ได้ว่าเป็นเพราะองค์กรของรัฐไม่มีความโปร่งใสมากพอที่จะกระทำแบบนั้นได้ เช่น การทุจริตอาหารโรงเรียน การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนอีกมากมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงยากที่ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจจะให้กลุ่มเยาวชนที่ตื่นรู้สิทธิของตัวเองอย่างเต็มที่เข้ามาทำลายโอกาสผลประโยชน์จากส่วนรวมของตน และยังหมายรวมถึงความไม่มีประสิทธิภาพในระบบราชการที่มีขั้นตอนและงานเอกสารที่มากเกินไป รวมถึงบางแห่งมีทรัพยากรบุคคลจำนวนมากแต่ไม่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะดำเนินงานด้านการพัฒนาเยาวชน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสามารถส่งเสริมให้เยาวชนเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ได้ ดังนี้

  1. มีโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนให้ชัดเจนและยืดหยุ่น ถึงแม้ปัจจุบันมีกฎหมายและแนวทางที่สถาบันการศึกษาอยู่แล้ว แต่ระบบโครงสร้างไม่ชัดเจนในเจตนารมณ์ในการมีอยู่สภาเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถส่งเสียงหรือสร้างการรับรู้ในการเป็นพลเมือง ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เมืองเบอร์ลินระบบโครงสร้างที่น่าสนใจซึ่งมีการจัดตั้งหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐที่ดูแลกิจการของเยาวชนโดยเฉพาะ เป็นตัวกลางระหว่างเทศบาลและเยาวชนรวมถึงอำนวยความสะดวกในส่วนที่เป็นกระบวนการ ขั้นตอนหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐ จึงทำให้เยาวชนสามารถดำเนินกิจกรรมหรือโครงการได้เต็มที่และสามารถออกความคิดได้มากขึ้น การมีหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะนี้ทำให้การดูแลเยาวชนเป็นไปอย่างเต็มที่ ต่างจากของไทยที่หน่วยงานท้องถิ่นต้องดูแลหลายๆ เรื่อง ในขณะเดียวกันก็ต้องให้อิสระให้เยาวชนทำกิจกรรมหรือโครงการตามความสนใจ ดังนั้น โครงสร้างด้านกิจการเยาวชนควรชัดเจนแต่ก็ยืดหยุ่นให้เยาวชนร่วมคิดร่วมทำ โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนทรัพยากรต่างๆ
  2. มีพื้นที่ให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนหรือแสดงออกด้วยกัน พื้นที่ในที่นี้หมายรวมทั้งในเชิงกายภาพ เช่น ลานกิจกรรม ตึก อาคาร หรือสถานที่ต่างๆ และที่ไม่ใช่เชิงกายภาพ เช่น ช่องทางออนไลน์ การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ หรือแม้แต่การเปิดในรับฟังของกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งประเทศไทยยังขาดอยู่มากโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่พร้อมเปิดใจรับฟัง เรามีพื้นที่น้อยมากๆ ที่เยาวชนคนหนึ่งจะสามารถสื่อสารต่อผู้ใหญ่เพื่อให้ความเห็นทั้งในเชิงความนโยบายและความต้องการ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้พบปะ แลกเปลี่ยนและลงมือทำบางสิ่งที่สนใจร่วมกัน ดังนั้นการมีพื้นที่จึงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมต่อเยาวชนต่อการพัฒนาเมืองได้
  3. เพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เมื่อศึกษาการจัดงบประมาณในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ พบว่ามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อกลุ่มเยาวชนต้องการงบประมาณหรือทรัพยากรต่างๆ เพื่อทำโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบที่ดีต่อสังคมกลับไม่มีทรัพยากรมาสนับสนุน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งเป็นเรื่องจริงในแง่ที่ว่าไม่มีงบประมาณที่ถูกจัดสรรเพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมของเยาวชน แต่ก็ผิดในแง่ที่ว่า “ไม่มีงบประมาณ” เพราะงบประมาณมีแต่ถูกจัดสรรไม่ตรงตามความต้องการของเยาวชน ดังนั้น เยาวชนได้มีส่วนร่วมหรือให้ข้อคิดเห็นตั้งแต่ต้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะสามารถจัดโครงการ งบประมาณ หรือให้การสนับสนุนที่ตรงความต้องการของเยาวชนมากขึ้นได้
การที่จะพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพเป็นพลเมืองผู้ตื่นรู้ได้นั้น ระบบการศึกษาไม่ควรติดกรอบที่แยกชัดระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เพราะวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของเรา คือ การเคารพผู้ใหญ่และเด็กดีเป็นเด็กที่อยู่ภายใต้โอวาทหรือว่านอนสอนง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในการที่จะเคารพผู้อาวุโสกว่า แต่บางครั้งก็เป็นการปิดมุมมองใหม่ๆ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองระหว่างเด็กและผู้ใหญ่เป็นเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน มีวุฒิภาวะและประพฤติตนถูกกาลเทศะ อาจทำให้เด็กและเยาวชนสามารถมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคมและเป็นผู้ตรวจสอบกระบวนการของรัฐที่ไม่ถูกต้องได้ผ่านเครื่องมือที่ถูกพัฒนาให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น ACT Ai เพจต้องแฉ หรือเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เป็นต้น นี่คงเป็นวิชาหน้าที่พลเมืองที่ทุกคนควรได้เรียนเป็นพื้นฐาน เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ดังนั้น หากผู้ใหญ่ในปัจจุบันเตรียมพร้อมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้กระบวนการมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้วจึงจะสร้างผู้ใหญ่ที่เป็นพลเมืองดีผู้ตื่นรู้ในวันหน้าได้
ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

จิรศักดิ์ แก้วเจริญ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น