ออกแบบเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันให้เท่าทันการโกง

ในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบ รวมไปถึงการศึกษาข้อจำกัดของเครื่องมือแต่ละประเภท เพื่อนำมาบูรณาการและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของแต่ละสังคม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2563 ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้มีความพยายามในการสร้างเครื่องมือเพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชันในสังคม ซึ่งจากการศึกษาและรวบรวมเครื่องมือจำนวนกว่า 30 ชิ้น พบข้อสังเกตว่ากลไกการดำเนินงานของเครื่องมือต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีหลักการที่สำคัญร่วมกันอยู่ 3 ประการ ได้เเก่ หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักความโปร่งใส (Transparency) และหลักความรับผิดชอบ (Accountability) โดยมีรายละเอียดในแต่ละประการ ดังนี้

หนึ่ง หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การออกแบบเครื่องมือเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำเสนอความคิดเห็น การประเมินความพึงพอใจ การร้องเรียนปัญหา และการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำนโยบาย โดยจะเป็นการพัฒนาให้เครื่องมือสามารถช่วยให้การรายงานคอร์รัปชันมีความปลอดภัย และลดความเสี่ยงของผู้ใช้งาน ช่วยวิเคราะห์ผลและนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ที่จะช่วยเสริมพลังให้กับผู้ใช้งานในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งตัวอย่างของเครื่องมือในประเภทแรก ได้แก่ เพจต้องแฉ (Must Share) ACT Ai ประเทศไทย และเครื่องมือติดตามสถานการณ์คอร์รัปชันภาคประชาชน (Corruption Watch)

สอง หลักความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และนำไปใช้กำกับติดตามการทำงานของรัฐบาล รวมถึงเปิดเผยข้อร้องเรียนสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ โดยในการพัฒนาเครื่องมือจะต้องช่วยให้การนำข้อมูลเปิดของภาครัฐมาเผยแพร่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการสืบค้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้โดยสะดวก รวมถึงการสร้างมาตรฐานในการจัดการชุดข้อมูลเปิด เพื่อให้ง่ายต่อการเชื่อมโยงข้อมูลกลับไปยังหน่วยงานภาครัฐได้ ซึ่งตัวอย่างของเครื่องมือในประเภทที่สองนี้ ได้แก่ เครื่องมือการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณ เช่น “gov” ประเทศสหรัฐอเมริกา “OpenSpending” ประเทศอังกฤษ และ “Jawnylublin.pl” ประเทศโปแลนด์

สาม หลักความรับผิดชอบ (Accountability) หมายถึง การมุ่งกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการข้อร้องเรียนหรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการและนำข้อมูลที่ได้จากประชาชนไปใช้ปรับปรุงการทำงานของหน่วยงาน โดยในการพัฒนาเครื่องมือจะต้องคำนึงถึงการออกแบบกลไกกำกับติดตามข้อร้องเรียนที่ได้รับจากผู้ใช้งาน และการมีส่วนร่วมของภาครัฐอย่างแข็งขัน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคสื่อมวลชน เพื่อติดตามและตรวจสอบการตอบสนองข้อร้องเรียนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของการใช้งานเครื่องมือในระยะยาว ซึ่งตัวอย่างของเครื่องมือในประเภทสามนี้ ได้แก่ เครื่องมือ “LAPOR!” ของประเทศอินโดนีเซีย ที่เป็นช่องทางการร้องเรียนระดับชาติแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Complaint-Handling) และเพจต้องแฉ (Must Share) ของประเทศไทยที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักข่าวอิศรา ในการแจ้งเบาะแสและส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเกาะติดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชัน

ดังนั้น การที่จะพัฒนาและออกแบบเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสนับสนุน เพื่อพัฒนาระบบการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิผล จึงควรที่จะต้องคำนึงถึงหลักการทั้งหมดตามที่กล่าวถึงในข้างต้น รวมไปถึงการศึกษาข้อจำกัดของแต่ละเครื่องมือ เพื่อนำมาบูรณาการและประยุกต์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ผล

ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล …

แล้วที่ผ่านมาเราต่อต้านคอร์รัปชันกันยังไง

“คอร์รัปชัน” และ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” ได้ถูกศึกษาและอธิบายถึงลักษณะและความหมายในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านประเด็นและมุมมองที่มีต่อปัญหาผ่านแนวคิดที่หลากหลาย …

ออกแบบเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันให้เท่าทันการโกง

ในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบ …

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น