ลงมือสู้โกง : เด็ก ดี (เพรส) : ปัญหาภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าในเด็กพิการ

“ภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้า” อาจไม่ใช่คำใหม่ในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ กลุ่มคนวัยเรียนและวัยทำงานเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้นมีทั้งจิตแพทย์และผู้ที่มีประสบการณ์การรักษามาแบ่งปันความรู้ แนวทางการสังเกตตัวเอง แนะนำวิธีป้องกันอย่างที่เราอาจเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างเพราะต่างก็ทราบกันดีว่าความเจ็บป่วยทางจิตใจถึงแม้จะไม่ได้ก็ให้เกิดการสูญเสียโดยตรง แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและพรากความสุขไปจากผู้ป่วยได้ 

ทว่าเมื่อมองจากมุมของเด็กที่มีความพิการแล้วภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้ากลับกลายเป็นเรื่องที่แสงแห่งความสนใจแทบจะไม่เคยส่องไปถึงเลย จากสถิติตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปลายปี 2565 ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการรวมทั้งสิ้นกว่า 2.1 ล้านคนนับจากผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ในจำนวนนั้นมีเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา 1.3 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 63แต่ที่น่าเป็นห่วงคือในจำนวนเด็กนับล้านนี้มีเด็กจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอยู่ ความเป็นจริงอันน่าเศร้านี้ถูกสะท้อนด้วยข้อมูลจากการศึกษาการสำรวจภาวะซึมเศร้าในเด็กพิการทางการมองเห็น อายุ 12-17 ปี ในโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดนครราชสีมา) และกรุงเทพฯ จำนวน 215 คน พบว่าร้อยละ 22.2 มีภาวะซึมเศร้า และต้องการความช่วยเหลือเรื่องการปรึกษาทางสุขภาพจิต (เบญจพร ปัญญายง, ตติยา ทุมเสน, 2545) และการศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้าและปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในนักเรียนพิการทางการได้ยินชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา พบความชุกของภาวะซึมเศร้าในกลุ่มนักเรียน พิการทางการได้ยินสูงถึงร้อยละ 57.3 โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (จตุรพร แสงกูล, กนกวรรณ โมสิกานนท์, 2559) อีกหนึ่งข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการศึกษาทั้งสองคือปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า พบว่า 1 ใน 3 อันดับแรกของทั้งสองการศึกษาเป็นเรื่องครอบครัว ทั้งพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัว และพ่อแม่ของเด็กจึงอาจอนุมานได้ว่านอกจากสถานศึกษาที่ควรมีนโยบายการดูแลจิตใจของเด็กแล้วสถาบันครอบครัวของเด็กพิการก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่รัฐควรให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลด้วย

การนำเสนอปัญหานี้ไม่ใช่การตราหน้าว่าเป็นความล้มเหลวของใครแต่เป็นเพราะเราต่างก็อยากเห็น สังคมที่ทุกคนถูกมองเห็นในฐานะมนุษย์เสมอกัน

เริ่มด้วยตัวชี้วัดผู้ป่วยที่ถูกกำหนดด้วย “ช่วงวัย”ผู้ป่วยเด็กหลายคนจึงไม่ถูกนับเข้าในสถิติ

ตามนิยามระบบคลังข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขนั้นผู้ป่วยซึมเศร้าคือประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โรคจิตเวชที่พบบ่อยในเด็กคือโรคสมาธิสั้น ภาวะการเรียนรู้บกพร่อง และพัฒนาการช้า ดังนั้น ตัวชี้วัดในกลุ่มเด็กจึงถูกกำหนดตามโรคเหล่านี้ ซึ่งในสภาพการณ์จริงอ้างอิงจากข้อมูลของสายด่วนกรมสุขภาพจิตพบว่าผู้เข้ารับบริการมีอายุเริ่มต้นที่ 10 ขวบเศษๆ อีกทั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราก็มักจะเห็นข่าวการสูญเสียในเด็กและเยาวชนจากปัญหาสุขภาพจิตโดยหลายกรณีมักมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าแต่เรากลับคว้าพวกเขาไว้ไม่ทัน คงจะดีหากมีการปรับตัวชี้วัดที่เดิมถูกคิดจากจิตแพทย์ผู้ใหญ่มาเป็นตัวชี้วัดที่ถูกกำหนดผ่านการมีส่วนร่วมของจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาอื่นด้วย

เมื่อตัวชี้วัดดังกล่าวยังไม่มีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์และตัวเลขจริง เด็กไทยหลายคนไม่ถูกจัดเข้ากลุ่มผู้ป่วย คงไม่ต้องพูดถึงกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กพิการทั้งเด็กพิการที่เข้าศึกษาในโรงเรียนทั่วไปและโรงเรียนเพื่อผู้พิการ ท้ายที่สุดเมื่อประเด็นนี้แทบไม่ถูกรับรู้ถึงการมีอยู่ตั้งแต่แรก จึงนำมาสู่ความท้าทายอีกข้อคืองานวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าในเด็กพิการ

การศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าในเด็กพิการมีจำนวนจำกัด

จากความพยายามในการค้นคว้างานวิจัยหรือบทความที่มีประเด็นการศึกษาในเรื่องภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าในเด็กพิการในไทย พบว่า มีจำนวนไม่มากนัก อาจจะด้วยเงื่อนไขความอ่อนไหวของประเด็นและกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ความเข้มงวดของกระบวนการพิจารณา และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้นักวิจัยในบ้านเราไม่สามารถลงไปศึกษาประเด็นนี้ได้อย่างกว้างขวาง

ส่วนในต่างประเทศได้มีการศึกษาประเด็นโรคทางจิตเวชในเด็กและวัยรุ่นทั้งที่มีและไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disability) ในประเทศอังกฤษ สกอตแลนด์ และ เวลส์ ด้วยวัตถุประสงค์ที่ว่าการศึกษาในประเด็นนี้ยังมีน้อยโดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างเด็กที่มีและไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเกี่ยวกับความชุกของโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่นๆ และผลสรุปยังกล่าวอีกว่าเด็ก และวัยรุ่นที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อโรคจิตเวช การพิจารณาถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบครัวของเด็กเผชิญอยู่เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่าการสนับสนุนต่างๆ จะตรงกับความต้องการของทั้งเด็กและครอบครัวเอง (Emerson, Square, 2540) ผลการศึกษานี้ยังเป็นเครื่องเน้นย้ำชั้นดีว่าเมื่อโรคซึมเศร้าไม่ได้เลือกผู้ป่วย ทั้งเด็กที่มีและไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญาต่างก็กลายเป็นผู้ป่วยได้ดังนั้นการป้องกันและเยียวยาก็ไม่ควรถูกแบ่งแยกเช่นเดียวกัน

การศึกษาเปรียบเทียบในลักษณะนี้ก็เป็นอีกประเด็นหัวข้อที่น่าสนใจและการทำวิจัยในแง่มุมที่หลากหลายภายใต้ร่มภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าในเด็กพิการก็ถือเป็นแนวทางที่หวังว่าจะได้เห็นจากนักวิจัยไทยในอนาคต

การทำงานของกระทรวงศึกษาธิการด้านสุขภาพจิต

หากจะพูดถึงเด็กประถมศึกษาแต่ไม่พูดถึงโรงเรียนก็คงเป็นไปไม่ได้ และหากจะพูดถึงโรงเรียนก็คงต้องพูดถึงกระทรวงศึกษาธิการด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ การสำรวจสุขภาพจิตของเด็กนักเรียนไทยโดยรวม พบว่ามีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อย ๆ กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เริ่มมีการนำแอปพลิเคชัน School Health HERO เข้ามาใช้ในโรงเรียนเพื่อช่วยเฝ้าระวังและส่งต่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่เพียงแค่ครูเท่านั้นที่ใช้ได้แต่ผู้ปกครองที่สังเกตเห็นอาการของเด็กก็สามารถใช้เช่นกัน ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2565 มีนักเรียนที่ได้รับการเฝ้าระวังแล้ว 432,668 คน จากจำนวนนักเรียนทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน มีการขอรับการปรึกษามาแล้ว 4,962 ราย อยู่ระหว่างการดูแลช่วยเหลือ นอกจากความช่วยเหลือจากครูและผู้ใกล้ชิดนักเรียนสามารถเข้าใช้งานระบบ Mental Health Check-in ได้ทาง www.วัดใจ.com เพื่อประเมินสุขภาพจิตตนเอง และขอรับการปรึกษาจากบุคลากรด้านสุขภาพจิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตามเราสามารถวางใจว่าประเด็นนี้ได้รับการแก้ไขแล้วก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก เมื่อยังไม่ทราบว่าในจำนวนสี่แสนกว่าคนนั้นรวม
นักเรียนที่มีความพิการเข้าไปแล้วหรือยัง คุณครูในโรงเรียนเฉพาะความพิการได้รับรู้เรื่องนี้หรือไม่ และเว็บไซต์ www.วัดใจ.com เองก็เหมือนจะไม่ได้รองรับการใช้งานจากนักเรียนที่เป็นคนพิการด้วย เป็นที่น่าสงสัยว่านี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่หากไม่ได้สนับสนุนผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

ทั้งหมดทั้งมวลที่ได้กล่าวมานี้อาจเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของปมปัญหาที่ถูกมองข้ามมาอย่างยาวนาน เราไม่ได้ต้องการเรียกร้องความสงสารให้แก่เด็กกลุ่มนี้เพราะพวกเขาต่างก็มีสิทธิ เกียรติและศักดิ์ศรีเสมอกับเราทุกคน ปัญหาและความทุกข์ใดก็ตามที่เกิดขึ้นกับเขาไม่ใช่เรื่องเล็ก นอกจากการทบทวนตัวชี้วัดผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องได้รับปรับปรุง และเครื่องมือด้านการสอดส่องดูแลสุขภาพจิตที่ต้องปรับให้รองรับผู้ใช้งานทุกกลุ่มก็ยังมีก้าวใหม่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการโดยเร็วอีกเช่นกัน

นั่นก็คือการสนับสนุนให้เกิดสำรวจสุขภาพจิตในเด็กพิการทุกประเภทและจัดทำสรุปเป็นข้อมูลเปิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หน่วยงานเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ ก็จะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาโครงการ กิจกรรมหรือนวัตกรรมที่จะเข้ามาเสริมกลไกการแก้ไขปัญหาได้และอาจเกิดเป็นความร่วมมือกันเพื่อขยายผลได้ ภาครัฐเองควรเปิดพื้นที่รับฟังปัญหาในประเด็นภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าในเด็กพิการโดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนมาพูดคุยและหาทางออกร่วมกันก่อนนำมาสังเคราะห์เป็นนโยบายเพื่อบังคับใช้ต่อไปเพราะเมื่อใดก็ตามที่นโยบายถูกออกแบบจากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องจริงเมื่อนั้นมันจะทำงานได้อย่างแท้จริง สุดท้ายเมื่อมีข้อมูลเปิด มีนโยบายจากการมีส่วนร่วม ก็ควรมีการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรทางการศึกษาที่ทำงานกับเด็กพิการโดยตรงเพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการสอดส่องดูแลและเป็นหน่วยช่วยเหลือที่ไวและใกล้ที่สุดเมื่อเด็กต้องการ นี่เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นจากการเห็นปัญหาในระดับสายตาของพลเมืองเท่านั้น เชื่อว่าหากมองจากมุมอื่นๆ ก็คงจะทางออกที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

ทวิตียา บูรณเกียรติศักดิ์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น