ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ได้รับของขวัญชิ้นใหญ่ มูลค่ากว่า 980 ล้านบาท จากผู้ว่าฯกทม.ในรูปแบบ“โครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” สวนสาธารณะคลองแห่งแรกของไทยที่พลิกฟื้นคลองจากเดิมที่ทำหน้าที่ระบายน้ำเพียงอย่างเดียวให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งเพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้ใช้พักผ่อนหย่อนใจและยังช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียในระยะยาวอีกด้วย โดยหน่วยงานกทม. ได้เปิดพื้นที่ช่วงที่ 2 บริเวณถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7รวมระยะทาง 200 เมตร จากทั้งหมด 5 ช่วงให้ประชาชนได้ทดลองใช้งานเมื่อปลายปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนของคนกรุงเทพฯ จำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ที่ตั้งคำถามกับความคุ้มค่าของโครงการในหลายแง่มุม ซึ่งทางเพจเฟซบุ๊ค The Qallout (https://www.facebook.com/TheQallout/) ได้ทำการรวบรวมประเด็นที่หลายฝ่ายได้ตั้งคำถามไว้ในโพสต์ “คลองช่องนนทรี 980 ล้านบาทของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนไม่ได้เลือก” สรุปสั้นๆ ได้ว่าส่วนใหญ่ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการใช้งบประมาณของโครงการ เนื่องจากมีการนำเงินงบกลางของหน่วยงานกทม. (เงินสำรองจ่ายทั่วไป) มาใช้พัฒนาโครงการจึงอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการโดยละเอียด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบความคุ้มค่าของงบประมาณที่ตั้งไว้เปรียบเทียบกับประโยชน์ที่คนกรุงเทพฯ จะได้รับจริง รวมถึงข้อสงสัยต่อกระบวนการ EIA และการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ซึ่งคนในพื้นที่สะท้อนว่าส่วนใหญ่ได้แค่รับรู้แต่ไม่ได้มีส่วนร่วม เป็นต้น
จากการติดตามประเด็นนี้มาตลอด ผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้คนกรุงเทพฯ จับตามองโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณจำนวนมากจากภาษีของคนกรุงเทพฯ แต่การเปิดเผยข้อมูลโครงการต่อสาธารณชนยังทำได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดความสงสัยในที่มาที่ไปของโครงการว่ามีความโปร่งใสหรือไม่ ประกอบกับโครงการได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ทั้งที่คนกรุงเทพฯ ต่างรู้ดีว่ายังมีปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกมากที่ควรเร่งแก้ไข ซึ่งผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อมูลจากเว็บไซต์ Bangkok Budgeting ที่ให้คนกรุงเทพฯ ร่วมกันให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ โดยได้ผลสรุปว่าปัญหา 3 อันดับแรกที่คนกรุงเทพฯ อยากให้นำงบประมาณมาใช้เพื่อแก้ปัญหามากที่สุด ได้แก่ 1.) จัดการปัญหาทางเท้าทางข้าม 2.) จัดระเบียบผังเมืองให้เหมาะสม และ 3.) จัดการการจราจรติดขัด (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 2565) ประกอบกับข้อมูลโพสต์จากเพจเฟซบุ๊คของทีมพี่หมีเอก บางรักต้องก้าวไกล (https://www.facebook.com/Ekkarat.It/) ที่ชวนให้ผู้ติดตามช่วยกันจับตาดูการทำงานของโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีได้มีคนเข้ามาแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันว่าก่อนจะทำสวนสาธารณะคลองแห่งแรก ควรปรับปรุงเรื่องน้ำเสีย รถติด ปรับพื้นถนนให้เรียบตลอดจนแก้ปัญหาฟุตปาธ และทางเท้าก่อน จากข้อมูลนี้ สะท้อนให้เห็นว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณไปกับโครงการดังกล่าว และต้องการมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่คนกรุงเทพฯ เดือดร้อนจริงๆ
ด้วยเหตุนี้ หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจัดสรรงบประมาณจากภาษีของประชาชนร่วมกับรัฐบาล เราจึงได้เห็นการนำ “กระบวนการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting)” มาใช้ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สกอตแลนด์ บราซิล และชิลีเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการเข้าถึงทรัพยากร และมีส่วนตัดสินใจจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีทางตรงและทางอ้อม เพื่อพัฒนาโครงการในแบบที่ประชาชนต้องการ เพราะบางเรื่องฝ่ายบริหารที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องงบประมาณอาจไม่มีความเชี่ยวชาญเท่าคนในพื้นที่ ทำให้ไม่ทราบข้อดีและข้อเสียแบบที่คนในพื้นที่หรือในชุมชนรับรู้ ดังนั้น การทำงานควบคู่กันไปในลักษณะของความร่วมมือจากบนลงล่าง (ภาครัฐนำ) และล่างขึ้นบน (ชุมชนนำ) จึงน่าจะช่วยปิดช่องว่างนี้ได้
โครงการที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม คือ “โครงการ ¡En mi Barrio, Yo decido! (In my neighbourhood, I decide!)” ของเมืองเพนาโลเลนประเทศชิลี โดยได้เปิดกว้างให้ผู้คนในเมืองมีส่วนร่วมจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่นร่วมกับเทศบาลผ่านการนำเสนอโครงการ และร่วมโหวตโครงการที่ถูกใจ เพื่อตัดสินใจว่าปีนี้เมืองควรเอาเงินไปลงทุนกับโครงการอะไร ส่งผลให้ท้องถิ่นสามารถปรับปรุงการให้บริการสาธารณะของเมืองและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยได้จริง โดยในปีพ.ศ. 2562 ได้มีการจัดกระบวนการงบประมาณแบบมีส่วนร่วมขึ้นสำหรับแผนพัฒนาปี พ.ศ. 2563-2564 ทำให้เทศบาลได้ข้อเสนอโครงการมากถึง 169 โครงการ และผ่านการร่วมหารืออย่างเข้มข้นในระดับชุมชนและการโหวตขั้นสุดท้ายร่วมกันจากผู้คนในเมือง จนเหลือเพียง 10 โครงการที่คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนมากที่สุด ซึ่งโครงการที่ผ่านการโหวตมุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่สาธารณะที่คำนึงถึงความปลอดภัย (Secure) การเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง(Inclusive) และส่งเสริมความหลากหลายในการใช้งาน (Diversity)ของผู้คนในเมือง ทำให้ไม่เกิดการกระจุกตัวของโครงการพัฒนาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เหมือนกับโครงการสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีที่มีคำถามถึงความเหมาะสมในการเลือกพื้นที่ย่านสาทรที่มีการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว และมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรสูงกว่าเขตอื่นในกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คนในเมืองเข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอโครงการ ย่อมทำให้เกิดความหลากหลายของโครงการพัฒนาที่ตอบสนองปัญหา หรือความต้องการของประชาชนได้ทั่วถึงมากกว่าโครงการที่จัดทำโดยท้องถิ่นฝ่ายเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระบวนการแบบสั่งการลงมาตามแผนหรือนโยบาย (ภาครัฐนำ) มากกว่าการระดมความเห็นผ่านแนวทางการพัฒนาจากล่างขึ้นบน (ชุมชนนำ)
อย่างไรก็ดี คนกรุงเทพฯ ยังมีข่าวดีให้ชื่นใจอยู่บ้าง เพราะถึงแม้เราจะยังไม่มีกระบวนการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม แต่เรายังมีกลุ่มพลเมืองดีที่ช่วยตั้งคำถาม และติดตามโครงการที่มาจากภาษีประชาชน เพื่อให้เม็ดเงินที่ถูกใช้ไปเป็นประโยชน์สูงสุด และยังมีกลุ่มพลเมืองดีที่ลงมือสร้างสวนสาธารณะให้กับคนกรุงเทพฯ ชื่อว่า “We!park” กลุ่มนี้ขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายภาคีพัฒนาเมือง ซึ่งมองว่านโยบายที่ผ่านมาของภาครัฐในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเน้นใช้ระบบบนลงล่าง (ภาครัฐนำ) ไม่ได้ผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นสนามกีฬาคอนกรีต หรือสวนที่ขาดการออกแบบเพื่อให้เกิดกิจกรรมการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งการปรับปรุงพื้นที่ในรูปแบบนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกใจคนกรุงเทพฯ และแน่นอนว่าอาจไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป จึงทำให้ We!park ดำเนินงานภายใต้ความเชื่อที่ว่า “พื้นที่สาธารณะสีเขียวต้องจับต้องได้ และตอบสนองความต้องการของทุกคนจริงๆ” สำหรับเป้าหมายและกระบวนการของ We!park มีความคล้ายคลึงกับโครงการ ¡En mi Barrio, Yo decido! ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนของการพัฒนาโครงการ โดยเริ่มจากการร่วมกันหาพื้นที่ว่างที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ใต้สะพานจนถึงพื้นที่รกร้างซึ่งเจ้าของพื้นที่ยินดีมอบให้เป็นสาธารณประโยชน์ หลังจากนั้น จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของพื้นที่กับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบ ภายใต้กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน (Participatory Design) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และสำรวจความต้องการของชุมชนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนกับโครงการ ซึ่งกว่าจะผ่านไปจนถึงขั้นของการก่อสร้างได้ ต้องมีการประชุมระดมความคิดเห็น และนำเสนอแบบต่อสาธารณะมากกว่าสิบครั้ง เพราะการก่อสร้างสวนสาธารณะนี้ไม่ได้ใช้เม็ดเงินจากภาษีประชาชนอย่างเดียว แต่เปิดให้ประชาชนร่วมระดมทุนเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสวนนี้ร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มเทใจดอทคอมด้วย (https://taejai.com/th/d/we-create-park/)
สวนสาธารณะที่ดำเนินการโดย We!park จึงมีจุดเด่นอยู่ที่“กระบวนการคิดและทำอย่างโปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนและเปิดเผยข้อมูลโครงการสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง” โดยสร้างการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมหาพื้นที่พัฒนา ร่วมคิดและออกแบบให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานจริง ร่วมทำผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ร่วมลงทุนผ่านการระดมทุนสนับสนุนโดยเทใจ และร่วมดูแลบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังพบว่า We!park ได้เปิดเผยข้อมูลโครงการผ่านเว็บไซต์ wepark.co (https://wepark.co/) โดยได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์พื้นที่ก่อนการพัฒนาโครงการ เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการสร้างสวนสาธารณะ และเปิดเผยข้อมูลกระบวนการทำงานอย่างโปร่งใสด้วยการระบุกิจกรรมการมีส่วนร่วมตลอดทั้งโครงการรวมถึงระบุแผนการใช้เงินโดยละเอียดเพื่อให้สามารถตรวจสอบงบประมาณได้ อันเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเงินบริจาคของประชาชน ผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการของ We!park ทำให้คนกรุงเทพฯเห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องรอการพัฒนาจากภาครัฐฝ่ายเดียว ปัจจุบัน มีสวนสาธารณะขนาดย่อมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 4 พื้นที่ โดยเปิดใช้งานไปแล้วหนึ่งแห่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2564ชื่อว่า “สวนชุมชนโชฎึก” ย่านตลาดน้อย ฝั่งติดคลองผดุงกรุงเกษม
จากการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่ม We!park ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงการให้คุณค่าต่อหลักการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ในการบริหารจัดการโครงการที่มาจากการใช้เงินภาษีและเงินบริจาคของประชาชน แม้ว่าเป็นเพียงโครงการสร้างสวนสาธารณะขนาดย่อมที่ใช้งบประมาณไม่ถึงร้อยล้านบาท แต่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการโครงการไม่ได้เล็กตามวงเงินเลย กลับเปิดโอกาสให้ประชาชนและคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนา จึงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับโครงการพัฒนาสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ในอนาคต ควรเปลี่ยนวิธีการมีส่วนร่วมใหม่เพื่อให้สวนสาธารณะถูกออกแบบจากความต้องการของคนในพื้นที่ และเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ความเห็น กำหนดพื้นที่ และประเภทของสวนสาธารณะที่อยากได้ก่อนที่จะมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นทางการ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่าและเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมกำกับ ติดตาม และร่วมลงมือพัฒนาโครงการกับหน่วยงานท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดด้วย
สำหรับโครงการสวนสาธารณะช่องนนทรี ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ผู้เขียนจึงคาดหวังให้ผู้รับผิดชอบโครงการทำหน้าที่ภายใต้หลักการพื้นฐานของการพัฒนาโครงการสาธารณะของภาครัฐที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความโปร่งใสตามหลักสากล (Open Contractingand Public Procurement: OGP) โดย หนึ่ง “ต้องเปิดเผยข้อมูลสัญญาโครงการ” สอง “ต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำกับติดตามการส่งมอบโครงการ” และสาม “ต้องส่งเสริมความรับผิดชอบในการดำเนินโครงการแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ” นั่นหมายถึงการออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อคลายความสงสัยของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนกรุงเทพฯ ว่าภาษีที่เสียไปนั้นถูกใช้อย่างคุ้มค่า โปร่งใส และปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน หากผู้อ่านท่านใดมีเวลา ก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมของขวัญชิ้นใหญ่จากผู้ว่าฯกทม. และช่วยกันติดตามความคืบหน้าของโครงการที่คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการทั้งโครงการได้ในเดือนส.ค. พ.ศ. 2565
สุภัจจา อังค์สุวรรณ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สรุปประเด็นเสวนาต้านโกงนานาชาติ
รวมแนวทางการแก้ปัญหาคอร์รัปชันจาก “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ KRAC Corruption ได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566
ลงมือสู้โกง : เส้นทางสู่สวนสาธารณะแห่งการมีส่วนร่วมของคนกรุงเทพฯ
ถ้าประชาชนมีส่วนร่วม “คลองช่องนนทรี” จะมีมูลค่าถึง 980 ล้านบาทไหม?