แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ทั้งโกง ทั้งกิน แล้วชาติจะอยู่ได้หรือ

เริ่มต้นจากขออธิบายที่มาของชื่อหัวข้อบทความตอนนี้ โดยเอาคำอยู่หน้าปกหนังสือ “สิ้นชาติ บันทึกของอดีตนายกรัฐมนตรีเหงียน เกา กี” ที่พิมพ์ออกมาเมื่อ 23 ปีมาแล้ว เพื่ออธิบายว่าทำไมเวียดนามใต้จึง “สิ้นชาติ” มาใช้กับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่กำลังผจญกับภัยคอร์รัปชันอย่างหนักหน่วงในขณะนี้

ผมต้องขอใช้คำแรงเช่นนี้ เพราะคิดว่าไทยมาถึงจุดวิกฤตแล้ว เมื่อผู้มีอำนาจและหน้าที่สำคัญในบ้านเมืองกลับทุจริตเสียเอง ไม่เพียงองค์กรใหญ่ๆ ในระบบยุติธรรม ซึ่งก็คือคือตำรวจและอัยการ เท่านั้น แต่ยังลามไปถึงสถาบันที่เคยเป็นที่พึ่ง ที่เคารพนับถือของประชาชน กล่าวคือ พระ ครูและอาจารย์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่แต่ก่อนเคยทำหน้าที่เป็นผู้นำท้องถิ่น ดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อมามีตำแหน่งกันเป็นผู้บริหาร อบต. อบจ. มีงบประมาณให้ใช้อย่างอิสระมากขึ้น กลับใช้จ่ายเงินกันอย่างทุจริต หวังเพื่อให้ได้เงินตอบแทนจากผู้ขายของ และผู้รับเหมา มากกว่าจะเห็นประโยชน์ของท้องถิ่นที่ตนดูแล ทำให้เกิดกรณีทุจริตต่างๆ เช่น จัดซื้อเสาไฟฟ้ากินรี ราคาแพงมาก เอาไปปักไปในท้องทุ่งและถนนที่ไม่มีคนสัญจร ที่สำคัญผู้กระทำการเรื่องนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายใดๆ สามารถนำตัวมาลงโทษได้

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Better ว่า “เมืองไทยต้องการธรรมาภิบาลมากกว่าประชาธิปไตย” เป็นการแสดงความหมดหวังในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่จริงในเมืองไทย ที่ผู้มีอำนาจจากการเลือกตั้งจำนวนมาก ใช้เงินและกลโกงทุกรูปแบบเพื่อจะได้มีอำนาจเข้ามาโกงกิน เกิดเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ล้มเหลวเพราะปราศจากธรรมาภิบาล

ครั้งนี้ดูเหมือนว่าคุณอานันท์ ในวัย 91 ปี จะพูดแรงกว่าเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ที่ประกาศว่า “ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมมีความห่วงใยเรื่องคอร์รัปชันในเมืองไทยมากที่สุดตั้งแต่เกิดมา…ปีนี้ผมอายุครบ 80 และเป็นปีแรกที่ผมขอสารภาพด้วยความจริงใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และไม่มีอคติว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมมีความห่วงใยเรื่องคอร์รัปชันในเมืองไทยมากที่สุดตั้งแต่เกิดมา” คุณอานันท์กล่าวต่อไปว่า “ในอดีตนั้นคอร์รัปชันเป็นเรื่องการให้น้ำชา การให้สินบน การให้ของชำร่วย การช่วยเหลือด้านต่างๆ ระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือระหว่างกลุ่มต่อกลุ่ม ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ความลึกลับของการคอร์รัปชันนั้นมีมากมาย ในเรื่องค่าน้ำชาก็ดี การให้สินบนก็ดี การให้ซองขาวก็ดี มันกลายเป็นเรื่องปกติไปอย่างง่ายๆ และเป็นเงินจำนวนไม่มากเท่าไร”

“ปัจจุบันมีผู้เฉลียวฉลาด ต้องเรียกว่า “ฉลาดแกมโกง” มากขึ้นอย่างมากมาย มีการวางยุทธศาสตร์ มีการวางแผนการ สำคัญสุดคือ อันนี้ขอยืมศัพท์ของท่านนายกฯ ที่ท่านใช้บ่อยคือ พวกคอร์รัปชันทั้งหลายเขา “บูรณาการ” กันพร้อมเพรียงหมดแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนต่อคน หรือกลุ่มต่อกลุ่มตอนนี้เป็นเครือข่ายหมด เครือข่ายกลุ่มนักการเมืองพ่อค้านักธุรกิจ สื่อ องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเป็นองค์กรตรวจสอบ สุดท้ายก็เป็นการยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งหมด”

“ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ทุกส่วน สมัยนี้ผมต้องใช้คำนี้ มันไม่ใช่เรื่องการโกงกิน ไม่ใช่เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงเท่านั้น สมัยนี้เขา “กินเมือง” กันครับ อะไรขวางหน้าซื้อหมด อำนาจเงินเป็นอำนาจที่เรียกว่า sovereign หรืออำนาจสูงสุดแล้ว คนไม่มีค่าแล้ว ถ้าจะมีค่าก็มีค่าว่า ซื้อเท่าไรจึงได้มา 1 แสน 2 แสน 5 ล้าน 100 ล้าน 1,000 ล้าน อันนั้นกลายเป็น “ค่าของคน” ไปแล้ว”

“ขณะที่ความมีจิตใจที่โปร่งใส ความมีจิตใจที่อิสระ ความมีจิตใจที่รักประเทศชาติ และถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติจางหายไปเกือบหมดแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับอำนาจผูกขาด อำนาจผูกขาดทางการเมือง ทางเศรษฐกิจทั้งระบบ อันนี้ที่ผมเรียกว่ากินเมือง” (คุณอานันท์ ปันยารชุน กล่าวเมื่อปี 2555)

เช่นนี้แล้วประเทศไทยเรา จะถึง “สิ้นชาติ” หรือไม่ ตามที่ เหงียน เกา กี อดีตนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของเวียดนามใต้ ก็เคยเล่าไว้ว่า เวียดนามใต้ ที่มีระบบปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องสูญสิ้นไปก็เพราะ “ทั้งโกง ทั้งกิน อย่างนั้น ชาติจะอยู่ได้หรือ”

อย่างไรก็ดี ผมอยากขอทิ้งท้ายไว้ว่า ประชาธิปไตย กับ ธรรมาภิบาลนั้น ไม่ใช่ปัจจัยที่อยู่ตรงข้ามกัน การที่เราต้องการเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้เข้มแข็งนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องลดทอนคุณภาพของประชาธิปไตยลงมาด้วย และทั้งการมีธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งและประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ จะเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับคอร์รัปชันได้ ดังนั้นทางออกในสถานการณ์ที่ทั้งโกง ทั้งกินของประเทศไทยนี้ น่าจะอยู่ที่การสร้างเสริมทั้งสองปัจจัยนี้ไปพร้อมๆ กันนะครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!

จากการที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ผลในปีนี้ไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน ซึ่งหากเทียบกับผลในปี 2022 ที่ไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 ก็จะเห็นได้ว่าคะแนน CPI ไม่ดีขึ้นเลย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ไปตกอยู่กับคนโกง

ทุกคนรู้ไหมว่า ถ้าเราช่วยกันสอดส่อง ผู้แทนที่เราเลือกก็จะทุจริตได้ยากขึ้น จากกรณีกำนันนกที่เป็นข่าวดังเมื่อเดือนก่อนถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นในทางที่ผิด เพราะหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน เขาได้รับโครงการก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาจังหวัดทำให้สามารถใช้เงินซื้ออำนาจรัฐที่เอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ แถมยังทำให้ตำรวจบางคนมาอยู่ใต้อำนาจ และอยู่เหนือกฎหมายได้

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น