แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

ถ้าพูดถึงเรื่องคอร์รัปชันในช่วงนี้ จะไม่พูดถึงเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์ทางหลวงคงไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ได้กลายมาเป็นปมร้อนระอุ ตั้งแต่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแฉประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Wiroj Lakkhanaadisorn เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นรูปสติ๊กเกอร์การ์ตูนรูปพระอาทิตย์สีฟ้า-ขาว พร้อมข้อความว่า “เห็นสติ๊กเกอร์ Easy Pass แบบใหม่ ติดตามรถบรรทุก อยากบอกว่า เบาได้เบาเลิกได้เลิก นะครับ”

ต่อมา วิโรจน์ ได้โพสต์เพิ่มเติมพร้อมรูปภาพสติ๊กเกอร์อีกหลายแบบ โดยอธิบายว่า “มีคนให้ข้อมูลกับผมว่า Easy Pass พิสดาร นี่มีหลายรูปแบบมาก มีคนร่ำลือกันว่า ต่อให้บรรทุกเป็น 100 ตัน ก็ขับผ่านฉลุย แถมไม่ต้องเสียเวลาชั่ง

กลไกคือ จะมีองค์กรลึกลับไปไล่เคลียร์ แล้วเหมาจ่ายไปก่อน จากนั้นก็จะผลิตสติ๊กเกอร์ Easy Pass พิสดาร (ที่ไม่เกี่ยวกับการทางพิเศษ) ออกมา แล้วนำมาจำหน่ายให้กับรถบรรทุกต่างๆ ในราคาหลักพันบาทต่อเดือน ตามระยะทาง และจำนวนด่าน อย่างเช่น สติ๊กเกอร์ Easy Passรุ่นกระต่ายน้อยคอยรัก แบบนี้ดวงละ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือนครับ สติ๊กเกอร์ Easy Pass พิสดารแบบนี้ ไม่มีกลไกอิเล็กทรอนิกส์อะไร ใช้แค่ตาสังเกต เห็นปุ๊บ เป็นอันว่ารู้กัน ไม่ต้องเลิ่กลั่ก แต่รับรองผ่านฉลุย ลุยไม่ยั้ง ไม่ต้องชั่งให้เสียเวลา

เรื่องราวไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อวิโรจน์ได้ระดมโพสต์รูปสติ๊กเกอร์แบบต่างๆ อีกมากมาย พร้อมคำอธิบายคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น บางสติ๊กเกอร์ใช้ได้เฉพาะสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น เมื่อกระแสแรงไม่หยุดขนาดนี้ จึงส่งผลให้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สั่งเด้ง พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเดิม และ ได้ส่ง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการจับกุมปราบปรามการทุจริตของหลายหน่วยงานให้มารักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง

ล่าสุด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ให้สัมภาษณ์ว่า “ยอมรับตรงๆ ว่า ที่ตรวจสอบเบื้องต้นตามข่าวพบว่ามีส่วยสติ๊กเกอร์จริง…” ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่คิดว่าจะได้ยินจากปากของ ผบ.ตร. เลย นี่นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจ เพราะที่ผ่านมา เราแทบจะไม่เคยได้ยินการยอมรับผิดหรือยอมรับว่ามีการคอร์รัปชันภายในวงการตำรวจโดยผู้นำองค์กรนี้เลย

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่า ทำไมเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องใหญ่ หรือ ถ้าเราไม่ได้ขับรถบรรทุก ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตัวเราหรือไม่ ซึ่งผมขอตอบทันทีเลยว่า ไม่ใช่ครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ส่งผลกระทบต่อทุกคน และรุนแรงมากด้วย ที่ผมตอบแบบนี้ เพราะผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์ขับรถผ่านถนนผุพัง เป็นหลุมบ่อ ซ่อมแล้วซ่อมอีก ซ่อมตลอดมาและดูเหมือนจะตลอดไป ทำให้รถติด รถเสีย เกิดอุบัติเหตุ อันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิต นำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติอย่างมหาศาล

แม้ในประเทศไทย ยังไม่มีการทำการศึกษาในเรื่องนี้โดยตรง แต่ในต่างประเทศมีการศึกษาผลกระทบของคอร์รัปชันบนท้องถนน และความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการจ่ายสินบนบนถนน กับการเสื่อมสภาพ สึกหรอ ผุพังของถนนอย่างชัดเจน ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่โด่งดังมากโดยศาสตราจารย์ Benjamin Olken แห่ง MIT และ Parick Barron ชื่อ The simple economics of extortion: evidence from trucking in Aceh ที่ศึกษาการพฤติกรรมและผลกระทบของสินบนที่ผู้ขับขี่รถบรรทุกต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ในอินโดนีเซีย โดยเขาให้ผู้ช่วยวิจัย นั่งไปกับคนขับรถบรรทุก ในฐานะผู้ช่วยคนขับ เพื่อบันทึกว่าตลอดเส้นทางมีการต้องจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่กี่ครั้ง เท่าไหร่บ้าง และพฤติกรรมเป็นอย่างไร โดยจากการบันทึกการเดินทาง 304 เที่ยว งานวิจัยพบว่ามีการจ่ายสินบนผิดกฎหมายเช่นนี้มากกว่า 6,000 ครั้งเลยทีเดียว

เมื่อเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ งานวิจัยพบว่า ค่าสินบนนี้ คิดเป็นถึง 13% ของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับเดินทางเลยทีเดียว ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าจ้างของคนขับและผู้ช่วยคนขับที่คิดเป็นแค่ 10%หรือ ค่าอาหารและที่พักในระหว่างการเดินทางที่เป็นแค่ 5% เท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าแก้ไขปัญหานี้ได้ จะสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้มหาศาล เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าของประเทศได้ทันที

อีกข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัยนี้คือ แม้ว่ารถบรรทุกเกือบทั้งหมดคือประมาณ 84% บรรทุกสินค้าน้ำหนักเกินพิกัด ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งบรรทุกน้ำหนักเกินถึง 50% ของพิกัด แต่กลับมีรถเพียงแค่ 3% เท่านั้นที่ได้รับใบสั่งจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน นั่นหมายความว่า มันมีช่องทางให้รถที่บรรทุกของเกินพิกัด สามารถหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับและลงโทษได้ (หรือนี่จะคล้าย ๆ กับสติ๊กเกอร์ส่วยของไทย) และเมื่อนำข้อมูลที่ผู้ช่วยวิจัยบันทึกพฤติกรรมการจ่ายสินบนของคนขับรถมาเทียบ งานวิจัยพบว่า มีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกันกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ยิ่งช่วงการเดินทางไหนมีบันทึกว่ามีการจ่ายสินบนมาก รถบรรทุกที่วิ่งผ่านในช่วงนั้น ยิ่งมีการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดมาก

แล้วปรากฏการณ์นี้เกี่ยวกับสภาพถนนที่ผุพัง เป็นหลุมเป็นบ่ออย่างไร? ในทางวิศวกรรมมีการคำนวณไว้ว่า ถ้ารถบรรทุกมีน้ำหนักมากขึ้น ถนนก็จะถูกทำลายมากขึ้นไปในอัตรายกกำลัง 4 นั่นหมายความว่า ถ้าคุณเพิ่มน้ำหนักของรถบรรทุกสองเท่า ความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้น 16 เท่า (เพราะสองยกกำลังสี่เท่ากับ 16) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง Measuring corruption in infrastructure: Evidence from transition and developing countries ของ Charls Kenny แห่ง Center for Global Development ในปี 2009 ที่พบว่าการคอร์รัปชันทำให้เกิดความย่อหย่อนในการควบคุมงานก่อสร้าง นำไปสู่การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานและการทำงานก่อสร้างถนนที่ดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดถนนที่สภาพไม่ดีและต้องซ่อมบำรุงบ่อยครั้ง และทำให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเพิ่มขึ้น

ที่หนักไปกว่านั้นคือข้อค้นพบจากงานวิจัยเรื่อง Buildingconnections: Political corruption and road construction in India ของ Lehne, Shapiro, และ Vanden Eynde ในปี 2018 ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคอร์รัปชันและโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการสำรวจการก่อสร้างถนนในอินเดีย พบว่า ถนนเส้นไหนที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน นอกจากจะผุพังเร็วแล้ว บางเส้นเป็นถนนทิพย์เลยก็มี! หมายความว่า มีการลงบันทึกในแผนที่ว่ามีถนน แต่พอไปถึงแล้วกลับไม่มีถนนอยู่จริง!

กลับมาที่ประเทศไทย ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน ไม่ใช่แค่สติ๊กเกอร์ส่วยเท่านั้น แต่เคยมีนักการเมืองระดับตำแหน่งระดับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย สั่งให้วิศวกรผู้รับผิดชอบดูแลซ่อมบำรุงถนนเพิ่มน้ำหนักบรรทุกขึ้น จาก 21 ตันไปเรื่อย ๆ จนถึง 30 ตันเลยทีเดียว โดยไม่สนใจหลักวิศวกรรมว่าจะทำลายพื้นถนนรวดเร็วแค่ไหน

แล้วเมื่อถนนพัง ก็โทษว่า วิศวกรออกแบบถนนไม่ดี มาบัดนี้ ความจริงก็ได้ปรากฏแล้วว่า ที่ถนนพังนั้นไม่ใช่เพราะวิศวกร แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลาย ไม่สามารถควบคุมการบรรทุกน้ำหนักได้อย่างจริงจัง แถมยังไปร่วมสร้างระบบเก็บส่วยซ้อนกฎหมาย หาประโยชน์กันเป็นหมื่นล้านบาทในแต่ละปี ดังนั้น ถ้าใช้คนคุมไม่ได้ ก็ควรให้เลิกใช้คนเฝ้าตรวจรถน้ำหนักเกินแล้วให้ใช้หุ่นยนต์มาเฝ้าแทนไปเลย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่จริงแล้ว เป็นระบบที่มีชื่อว่า WIM (Weight In Motion system) ที่สามารถชั่งน้ำหนักรถบรรทุกวิ่งผ่าน แล้วแจ้งเข้าระบบข้อมูลสาธารณะได้ทันที !

ทราบมาว่า ในปัจจุบันในประเทศไทยก็ได้มีการนำมาทดลองใช้ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือที่เรียกกันว่า มอเตอร์เวย์ ในสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี แต่ก็ใช้แค่เป็นระบบตรวจคัดกรองรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำมาตรวจซ้ำด้วยเครื่องชั่งน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งที่สถานีแบบจอดชั่งแบบดั้งเดิมเท่านั้น ซึ่งก็อาจทำให้กลับมาเจอปัญหาแบบดั้งเดิมเช่นกัน ดังนั้น ทางที่ดีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแบบนี้ โดยลดการใช้อำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ แล้วปล่อยให้ระบบคอมพิวเตอร์ตรวจสอบด้วยข้อเท็จจริงไปเลย อาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ว่า น่าจะพิจารณาลงทุนนำมาใช้ในถนนหลวงทุกเส้นทางต่อไปครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!

จากการที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ผลในปีนี้ไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน ซึ่งหากเทียบกับผลในปี 2022 ที่ไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 ก็จะเห็นได้ว่าคะแนน CPI ไม่ดีขึ้นเลย

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น