แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ตำรวจ อาชีพยอดนิยม บอกอะไร ?

ตำรวจ อาชีพยอดนิยม บอกอะไร? ต้องไปหาคำตอบจากหนังอินเดียยอดฮิตตอนนี้ที่ชื่อ ความล้มเหลวครั้งที่ 12 (12th Fail) สามารถดูได้ทาง Netflix ภาพยนตร์นี้เป็นเรื่องจริงเส้นทางยากลำบากแสนเข็ญสู่การเป็นตำรวจในประเทศอินเดีย ที่ในทุกๆ ปี คนหนุ่มสาวอินเดียจำนวนนับล้านคน ที่จบปริญญาตรีแล้ว จะไปสมัครสอบเข้าไปเป็นตำรวจ IPS (Indian Police Service) ซึ่งรับบรรจุเพียงปีละ 100-150 คนเท่านั้น เรียกว่ายากกว่าสอบเข้าเรียนแพทย์หรือวิศวะที่ประเทศไทยเสียอีก

ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความหวังของคนอินเดียจำนวนมาก ที่มีโอกาสจะได้ขยับชนชั้น เพื่อหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในสังคมอินเดีย ทำให้แม้จะมีโอกาสน้อยมาก ไม่ถึง 0.1% ที่จะสอบผ่านข้อเขียนเข้าไป คนที่สอบจึงมักต้องสอบซ้ำใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าไปสวมเครื่องแบบตำรวจ ที่มีศักดิ์ศรีสูงในภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณย่าของมาโนส (พระเอก) มอบเงินที่สะสมไว้ทั้งหมดให้หลานชาย เพื่อออกเดินทางไปสอบที่เมืองใหญ่ เมืองเดลลี และบอกว่าจะรอหลานชายกลับมาในเครื่องแบบตำรวจ

หลังจากที่มาโนสทำงานหนักหาเงินจ่ายค่าเรียนติวหนังสือ และอ่านหนังสืออย่างหนักทุกคืน เขาก็สอบผ่านข้อเขียนจนได้เข้าสอบสัมภาษณ์ในที่สุด ในวันสอบสัมภาษณ์ กรรมการถามเขาว่า ทำไมถึงอยากเป็นตำรวจ และคิดอยากจะมาทำอะไร เขาก็ตอบไปจากสุดขั้วหัวใจของเขาว่า เขารักที่จะเป็นตำรวจ อยากจะเป็นตำรวจที่ซื่อตรง ช่วยเหลือคนที่เคยถูกตำรวจที่ทุจริตข่มเหง คำตอบของเขาทำให้ประธานกรรมการสัมภาษณ์ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก ถึงกับไล่ให้เขาออกจากห้องสอบไปเลย เพราะโกรธที่มากล่าวหาว่ามีตำรวจที่ทุจริต อย่างไรก็ตาม มีกรรมการอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้หญิง ขอให้มาโนสออกไปนั่งรอข้างนอกก่อน แล้วเธอก็เสนอกรรมการคนอื่นๆ ว่าควรรับคนแบบนี้เข้าไป เพื่อเป็นตัวอย่างดีๆ ของวงการตำรวจบ้าง

ส่วนตอนจบเป็นอย่างไร มาโนส จะโดนไล่กลับไปบ้าน หลังจากทุ่มเททุกอย่างในชีวิตแล้ว หรือจะประสบความสำเร็จ ได้สวมใส่เครื่องแบบตำรวจอันทรงเกียรติ ต้องติดตามกันเองนะครับ ผมจะไม่สปอยเรื่อง แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีพูดถึงเรื่องการทุจริตการสอบเข้า หรือต้องจ่ายเงินเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สอบผ่านใดๆ ทั้งสิ้น โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่า ความพยายามและมุ่งมั่นเท่านั้น ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ (ในประเทศอินเดีย)

ภาพยนตร์ 12th Fail นี้ เมื่อออกฉาย ในปลายปี 2566 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั่วโลก และสามารถทำเงินได้กว่า 300 ล้านบาท อีกทั้งยังได้รับรางวัลสุดยอดภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม ในงาน 69th Filmfare Awards ซึ่งเป็นงานมอบรางวัลใหญ่ของประเทศอินเดีย พอผมดูภาพยนตร์เรื่องนี้จบ ก็หวนกลับมามองสังคมไทย แล้วก็เห็นความคล้ายคลึงบางประการว่า ตำรวจก็เป็นหนึ่งในอาชีพคนขวนขวายอยากจะเป็นกันมาก และกระบวนการรับเข้าเป็นตำรวจก็มีการแข่งขันกันมากเช่นกัน ถ้าจะเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร ก็ต้องไปสมัครสอบแข่งขันเข้าตั้งแต่มัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมทหาร พอเรียน 3 ปี แล้วจะแยกย้ายไปเรียนต่อในโรงเรียนนายร้อยต่างๆ 4 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือทหารอากาศ และตำรวจ ในยุคสมัยผมนั้นโรงเรียนเตรียมทหารเป็นที่นิยมมาก ใฝ่ฝันของเด็กผู้ชาย ที่เรียนเก่ง ต้องไปสมัครสอบเข้า ผมจำได้ว่าเพื่อนๆ ในรุ่นของผมสมัยมัธยม คนที่สอบได้ที่ 1 และที่ต้นๆ ของชั้นเรียน ก็เลือกไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารกันหมด และมักจะเลือกไปเข้าเรียนต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารเหล่าต่างๆ มากกว่าตำรวจ

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ แนวความนิยมนี้ได้เปลี่ยนไปมาก คนรุ่นใหม่ที่จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร กลับสนใจเลือกเรียนต่อในโรงเรียนนายร้อยตำรวจมากขึ้น และแม้แต่โรงเรียนนายสิบตำรวจ ก็เป็นที่ปรารถนาของนักเรียนที่จบมัธยมปลายเพิ่มขึ้นมาก ดูจากตัวเลขคนที่สอบเข้านักเรียนนายสิบตำรวจในปีที่ผ่านๆ มานับแสนรายต่อปี ในขณะที่รับเข้าเรียนเพียง 5,000 กว่าตำแหน่งเท่านั้น ความนิยมของ โรงเรียนนายสิบตำรวจนี้ เห็นได้จากข่าวที่ผู้ปกครองบอกให้ลูกสละสิทธิ์สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อไปเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจดีกว่า โดยให้เหตุผลว่า เป็นตำรวจ จะมีอำนาจ บารมี มาปกป้อง เป็นที่พึ่งของญาติพี่น้องได้

ผมลองค้นดูต่อก็พบเรื่องน่าสนใจว่า มีคนเขียนไปถามในพันทิพดอทคอม ว่าเป็นตำรวจมันดียังไง แล้วมีตำรวจที่สอบผ่านเข้าโรงเรียนนายสิบคนหนึ่ง มาตอบมาว่า “…นอกจากได้สวัสดิการข้าราชการแล้ว ยังมีโอกาสในรายได้อื่นๆ ที่บอกไม่ได้…” จากความนิยมในการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจเพิ่มขึ้นมากนี้ ทำให้เกิดมีกระแสข่าวว่า มีการวิ่งเต้น จ่ายเงินฝากเด็ก และมีการทุจริตการสอบ จนบางปีต้องระงับการสอบไป เพื่อสอบสวนผู้ที่สอบผ่านว่ามีใครทุจริตโกงสอบเข้ามาเลยทีเดียว

พอได้สะท้อนภาพสถานการณ์ที่น่ากังวลอย่างยิ่งในประเทศไทยแล้ว เลยนึกขึ้นว่า น่าจะมีคนทำภาพยนตร์แนวนี้บ้าง ในอดีตเคยมีภาพยนตร์ฮิต เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง : Bad Genius ที่พูดถึงการโกงสอบเข้ามหาวิทยาลัย (เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี 2560) สำเร็จมาแล้ว ผมเลยขอเสนอว่า น่าจะมีใครลองทำหนัง เผยการโกง การสอบเข้าเป็นข้าราชการ การสอบเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งมีคนประเมินว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนที่สอบผ่านได้เองจริงมีไม่ถึงครึ่ง ส่วนใหญ่เป็นเส้นสายผู้ใหญ่ และคนที่จ่ายเงินก้อนใหญ่ซื้อตำแหน่งมา ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริงก็น่าจะทำให้มีคนที่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความยุติธรรมเช่นนี้ หลายล้านคนมาติดตามชมแน่นอนครับ!

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!

จากการที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ผลในปีนี้ไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน ซึ่งหากเทียบกับผลในปี 2022 ที่ไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 ก็จะเห็นได้ว่าคะแนน CPI ไม่ดีขึ้นเลย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อำนาจที่ประชาชนเลือกมอบให้ใครก็ได้ ทำยังไงไม่ให้ไปตกอยู่กับคนโกง

ทุกคนรู้ไหมว่า ถ้าเราช่วยกันสอดส่อง ผู้แทนที่เราเลือกก็จะทุจริตได้ยากขึ้น จากกรณีกำนันนกที่เป็นข่าวดังเมื่อเดือนก่อนถือเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นในทางที่ผิด เพราะหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นกำนัน เขาได้รับโครงการก่อสร้างจากงบประมาณเกือบทั้งหมดที่ส่งมาพัฒนาจังหวัดทำให้สามารถใช้เงินซื้ออำนาจรัฐที่เอื้อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ แถมยังทำให้ตำรวจบางคนมาอยู่ใต้อำนาจ และอยู่เหนือกฎหมายได้

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น