แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

ในช่วงห้าสัปดาห์ที่ผมได้เป็น Eisenhower Fellow ในสหรัฐอเมริกา เป็นการเดินทางที่น่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงแค่จากการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและนักปฏิบัติด้านการต่อต้านการคอร์รัปชันและข้อมูลเปิดจำนวนมาก แต่ยังจากประสบการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างการหาที่ซักผ้าในเมืองใหม่ ๆ ทุก ๆ สองสามวัน

ในการเดินทางไปประชุมตามเมืองต่างๆ ผมได้นำเสนอโครงการ ACT Ai ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และ HAND Social Enterprise ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลและใช้ AI ในการค้นหาโอกาสการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จคือเมื่อพลเมืองคนหนึ่งใช้ ACT Ai ในการเปิดโปงกรณีเสาไฟกินรีที่มีราคาแพงเกินจริง เรื่องนี้กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียและนำไปสู่การตรวจสอบอย่างเป็นทางการ จนล่าสุด ป.ป.ช. มีคำชี้มูลความผิดผู้รับผิดชอบโครงการนี้แล้ว

ผมเริ่มต้นการเดินทางด้วยคำถามในการแก้ไขหรือก้าวข้ามอุปสรรคที่มีอยู่มากมาย เช่น ความยากลำบากในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ ความไม่เต็มใจของผู้ถือข้อมูลในการเปิดฐานข้อมูล และการขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมากอย่างเป็นระบบ ด้วยความหวังว่าจะได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จที่ชัดเจนในสหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย

เพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ ผมได้ขอนัดพบผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนองค์กรกว่า 50 คนและหน่วยงานในกว่า 10 เมือง รอบสหรัฐฯ บางคนเป็นนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่ผมอ่านงานวิจัยมาตั้งแต่เริ่มศึกษาเรื่องคอร์รัปชัน บางคนเป็นประธานบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ บางคนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเรื่องการเปิดเผยและวิเคราะห์ข้อมูลสาธารณะ และอีกหลายคนเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวนที่ทำงานกับข้อมูลเชิงลึกในแต่ละเมืองผมมั่นใจมากว่าจะต้องได้คำตอบที่ชัดเจน จับต้องได้ ใช้งานได้ทันที

ในความเป็นจริง แม้ผมจะได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างมากจากการประชุมทั้งหมดนี้ แต่คำตอบสำคัญที่ผมได้รับสำหรับคำถามเหล่านี้ กลับไม่ใช่ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เลยในทันทีอย่างที่ผมคาดหวังไว้ บทเรียนนี้กลับมาจากแรงบันดาลใจที่ไม่คาดคิดจากความยากลำบากในการหาที่ซักผ้าในเมืองใหม่ๆ ทุกๆ สองสามวัน ใครจะคิดว่าการซักผ้าจะสอนเราได้มากมายขนาดนี้?

1. การเชื่อมโยงระหว่างการซักผ้าและข้อมูลเปิด

เราซักผ้าเพื่อล้างความสกปรกจากเสื้อผ้า เช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อล้างคอร์รัปชันจากประเทศ ทั้งสองกิจกรรมพาผมไปพบกับการเรียนรู้และตอกย้ำความเชื่อมั่นในความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล เริ่มจากที่เมืองฟิลาเดลเฟียซึ่งเป็นเมืองแรกที่ผมเดินทางไปถึงผมพบกับความท้าทายครั้งสำคัญในชีวิตเมื่อเสื้อผ้าสะอาดหมด ในการการหาร้านบริการซักผ้า ซึ่งนำไปสู่การตระหนักถึงศักยภาพของข้อมูลเปิด เช่นเดียวกับที่ Google Maps ช่วยในการค้นหาร้านซักผ้า ผมตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลที่มีการจัดระเบียบและเข้าถึงได้ในการเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบของรัฐบาล การทำแผนที่ข้อมูล การระบุข้อมูลที่จำเป็น และการทำให้ข้อมูลเหล่านั้นเข้าถึงได้อย่างง่ายดายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้

2. ความจำเป็นเร่งด่วนในการมาตรฐานข้อมูลเปิด

กว่าจะเชี่ยวชาญการใช้เครื่องซักผ้าที่ร้านในเมืองฟิลาเดลเฟียแล้ว ก็ถึงเวลาต้องย้ายไปเมืองอื่นต่อ ซึ่งก็ต้องเรียนรู้การใช้เครื่องซักผ้าใหม่ๆ ด้วย เพราะแต่ละร้าน ก็ใช้เครื่องคนละรุ่น คนละยี่ห้อกัน ถึงแม้ระบบทั่วไปจะคล้ายกัน แต่ปุ่มกดและช่องใส่น้ำยาซักผ้าและน้ำยาปรับผ้านุ่มก็ไม่เหมือนกัน สิ่งนี้เน้นให้เห็นถึงความท้าทายพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ การขาดมาตรฐานทำให้การทำงานประจำวันซับซ้อนขึ้น เช่นเดียวกับการซักผ้าที่ต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับเครื่องซักผ้าต่างๆ ที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ความไม่สอดคล้องนี้ยังลดประสิทธิภาพของข้อมูลเปิดในการเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบของรัฐบาล การพัฒนามาตรฐานข้อมูลเปิดจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ผู้ใช้ เช่น นักข่าว และเจ้าหน้าที่ สามารถใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การเพิ่มข้อมูลเปิดผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ที่มีเป้าหมาย

ครั้งหนึ่ง ผมได้ใช้บริการร้านซักผ้าในนิวออร์ลีนส์ที่มีธีมสำหรับคนรักแจ๊ซ มีทั้งข้อมูลประวัติศาสตร์แจ๊ซให้อ่าน เคล้าบรรยากาศเพลงแจ๊ซ บนถนนเบอร์เบินที่เต็มไปด้วยร้านดนตรี ทำให้การซักผ้าของคนรักเพลงแจ๊ซไม่น่าเบื่ออีกต่อไป สิ่งนี้สะท้อนความสำคัญของการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน ร้านซักผ้าที่มีธีมพิเศษสามารถดึงดูดคนรักแจ๊ซให้มาซักผ้าได้ เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดที่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของชุมชนสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการใช้ข้อมูลในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สิ่งนี้ทำให้ผมมองกลับมาที่งานต่อต้านคอร์รัปชันว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับฝั่งอุปทาน (supply) เช่น เปิดข้อมูลอะไรบ้าง เชื่อมข้อมูลกันอย่างไรมากจนลืมฝั่งอุปสงค์ (demand) หรือความต้องการและความสนใจที่แท้จริงของประชาชนหรือไม่ นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์การเปิดเผยข้อมูลเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันเลยทีเดียว

4. การใช้ข้อเสนอแนะและการเสริมสร้างการปกป้องผู้ร้องเรียน

ระหว่างที่กำลังหาร้านซักผ้าในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ผมสังเกตว่าร้านซักผ้าไหนที่มี QR code สำหรับการรวบรวมข้อเสนอแนะจากลูกค้า มักจะมีจำนวนลูกค้ามากกว่าร้านอื่น นั่นเพราะวิธีนี้ไม่เพียงแต่ให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์สำหรับการปรับปรุงบริการแต่ยังเน้นถึงความสำคัญของการตอบสนองต่อข้อกังวลของผู้ใช้ด้วย ถ้าหันกลับมามองที่แพลตฟอร์มเปิดเผยข้อมูล ACT Ai ในปัจจุบันเราอาจจะยังรับฟังความเห็นจากผู้ใช้ไม่เพียงพอ สะท้อนข้อสังเกตที่ผ่านมาว่า เราต้องให้ความสำคัญกับผู้ใช้มากกว่านี้ นอกจากนี้ผมยังอยากสะท้อนไปที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ด้วยว่า การเปิดให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อเสนอแนะและร้องเรียนได้อย่างง่ายได้และปลอดภัย ก็จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานรัฐผู้ให้บริการเองด้วยดังเช่นที่เกิดขึ้นกับร้านซักผ้าเหล่านี้

5. การเสริมสร้างการต่อต้านการทุจริตด้วยเทคโนโลยีและกลไกทางการตลาด

ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นที่เมืองซีแอทเทิล เมื่อรอบๆ โรงแรมที่ผมพักไม่มีร้านซักผ้าเลย ผมเลยต้องค้นหาทางเลือกใหม่ จนได้มาพบกับนวัตกรรมล้ำหน้าแอปพลิเคชั่นส่งผ้าซัก ชื่อ Poplin ซึ่งสามารถเรียกพนักงานมารับเสื้อผ้าที่ล็อบบี้โรงแรมเลย และเขาจะส่งผ้าซักพร้อมพับอย่างเรียบร้อยกลับมาภายในวันเดียวกันเลย แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถทำให้การทำงานประจำวันง่ายขึ้นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงนี้เน้นให้เห็นถึงศักยภาพที่กว้างขึ้นของเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีในการต่อต้านการทุจริตสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับและป้องกันการทุจริตได้ ที่สำคัญแม้ว่าค่าบริการจากแอปพลิเคชั่นนี้จะสูงกว่าการไปร้านซักผ้าแบบดั้งเดิมกว่า 2 เท่า แต่ก็มีลูกค้าจำนวนมากยินดีที่จะจ่าย แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบให้มีความสะดวก ปลอดภัยมากขึ้นแล้ว นอกจากจะสามารถหาผู้ใช้บริการได้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถสร้างความยั่งยืนทางการเงินให้กับงานของเราได้อีกด้วย

6. ผลกระทบของมิตรภาพและความร่วมมือ

จากการพูดคุยและประชุมกว่า 50 นัดในช่วง Eisenhower Fellowships ผมได้เรียนรู้ว่า ทุกที่มีปัญหาคอร์รัปชัน แม้จะมากน้อยและรูปแบบแตกต่างกัน แต่ก็มีปัญหานี้กันทั้งนั้น และที่สำคัญคอร์รัปชันเป็นปัญหาไร้พรมแดน เราเคยได้ยินกรณีนักการเมืองและข้าราชการชาวไทย ร่วมมือกับนักธุรกิจมาเลเซีย เพื่อทำการคอร์รัปชัน และเอาทรัพย์สินไปซื้อบ้านในลอนดอนแล้ว สิ่งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก จากการประชุมนัดหนึ่ง ผมได้รับทราบว่ารัฐเซาท์ ดาโกต้า มีกฎหมายพิเศษที่อนุญาตให้ใครก็ได้สามารถเปิดบัญชีกองทุน โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อตัวเองและไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้ให้รัฐด้วย ทำให้มีข่าวออกมาว่ามีนักการเมืองจากทั่วโลกเอาเงินไปลงทุนในรัฐนี้ มากกว่ามหานครนิวยอร์กเสียอีก เรียกว่าเป็นแหล่งรวมเงินคอร์รัปชันจากทั่วโลกเลยทีเดียว นี่ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สหรัฐฯ เองก็ปวดหัวอยู่เช่นกัน

สิ่งนี้จึงเน้นย้ำความสำคัญของมิตรภาพและความร่วมมือ ไม่เพียงแต่ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การซักผ้า แต่ยังในด้านการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อต่อต้านคอร์รัปชันด้วย การสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนากลยุทธ์ต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ

บทสรุป : การทำความสะอาดประเทศด้วยบทเรียนจากการซักผ้า การสะท้อนประสบการณ์ Eisenhower Fellowships งานซักผ้าธรรมดากลายเป็นบทเรียนสำคัญการทำความสะอาดการประเทศจากคอร์รัปชันผ่านข้อมูลเปิด เพื่อพัฒนากลยุทธ์ในการเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบของรัฐบาล ผมเชื่อว่าบทเรียนเหล่านี้ พร้อมกับความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นในช่วง Eisenhower Fellowships จะเป็นรากฐานสำหรับโครงการต่อต้านการคอร์รัปชันที่แข็งแกร่งในประเทศไทยต่อไป

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น