แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : ลู่วิ่งเทวดา 7 แสนบาท

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาผู้อ่านหลายท่านน่าจะได้ยินข่าวลู่วิ่งราคา 7 แสนของ กทม. และอาจจะได้เห็นภาพผม (ต่อภัสสร์) ไปร่วมแถลงข่าวกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในเรื่องนี้ด้วย บางท่านทักมาถามส่วนตัวว่า เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร และผมไปเกี่ยวข้องอะไรกับ กทม. บางท่านถึงกับต่อว่า ว่าผมไปปกป้องผู้ว่าฯ

ในบทความวันนี้ผมจึงขอมาเล่าเรื่องลู่วิ่งราคา 7 แสนนี้ และ ทำไมผมถึงไปนั่งกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในวันนั้นครับ

เรื่องนี้เป็นข่าวดังขึ้นมาครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมิถุนายน เมื่อ facebook page ชมรมSTRONG ต้านทุจริตประเทศไทย โพสต์ว่าพบความผิดปกติในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ส่อแพงเกินจริง ภายในศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศรวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท พร้อมแจกแจงรายละเอียดเครื่องออกกำลังกายแต่ละชิ้นที่ กทม. จัดซื้อ เมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้ว แตกต่างกันสูงมากจนน่าตกใจ เช่น อุปกรณ์ลู่วิ่งไฟฟ้า ที่ราคาตลาดประมาณ 1 แสนบาทแต่ กทม. จัดซื้อมา 759,000 บาท หรือ เก้าอี้ฝึกดัมเบลแบบปรับระดับได้ ราคาตลาดเกรดดี ไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ กทม. จัดซื้อ 96,000 บาท

ต่อมา facebook page ต้องแฉ ก็ได้ใช้ ACT Ai ในการค้นหาข้อมูลต่อเนื่อง ระบบพบว่าโครงการจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายในลักษณะที่แปลกประหลาดนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ แต่มีมาก่อนหน้าแล้วด้วย โดยในปีงบประมาณ 66-67 กทม. จัดซื้อไปทั้งหมด 7 โครงการ วงเงินรวมกว่า 77 ล้านบาท! และพบข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าทั้ง 7 โครงการ เปิดให้มีการแข่งขันราคาด้วยวิธี e-bidding แต่ทั้ง 7 โครงการจะมีผู้เข้าเสนอราคาเพียง 2 รายเท่านั้น และมี 4 โครงการ ที่มีบริษัทเอกชนเพียง 1 รายที่เสนอเท่ากับราคากลางเป๊ะๆ ทำให้ ACT Ai ขึ้นแสดงสัญลักษณ์เครื่องหมายตกใจสีเหลือง ส่งสัญญาณว่าพบความผิดปกติตั้งแต่แรก และนี่จึงเป็นความเชื่อมโยงมาถึงผมในฐานะผู้ร่วมพัฒนา ACT Ai

เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะความต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาที่ กทม. จัดซื้อที่สูงลิ่วนี้ ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานชัดเจน มีเอกสารการจัดซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร มีลายเซ็นผู้อนุมัติออกมาด้วย อย่างที่หน่วยงานไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย ทำให้ผู้บริหาร กทม. ตั้งแต่ผู้ว่าฯรองผู้ว่าฯ ปลัดฯ รองปลัดฯ และ ผอ.ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมาแถลงข่าวร่วมกันอย่างเร่งด่วน

วันก่อนวันแถลงข่าว ผมได้รับการติดต่อจาก กทม. ว่าผู้บริหารรับทราบเรื่องความผิดปกตินี้แล้ว และจะดำเนินการในกรณีนี้อย่างตรงไปตรงมา แต่เรื่องสำคัญกว่าที่ กทม. อยากขอคำปรึกษาผมในฐานะนักวิชาการที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่อย่างนั้นก็คงจะต้องมาเปิดโต๊ะนั่งแถลงข่าวกันเรื่อยๆ เมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติ ไม่ได้ทำงานกันพอดี

ผมจึงไปเล่าเรื่องระบบ ACT Ai (ระบบเก็บข้อมูลและชี้จุดทุจริตขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน)ที่ผมมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น ไปชี้แจงให้ฟังตามข้อมูลที่ชี้แจงไปข้างบนว่า ที่จริงแล้วระบบ ACT Ai ตรวจพบความผิดปกติในการเสนอราคาตั้งนานแล้วถึง 3 จุดด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง ทั้ง 7 โครงการจะมีผู้เข้าเสนอราคาเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งเปิดโอกาสความเสี่ยงต่อการฮั้วประมูลกันได้

สอง มี 4 โครงการ ที่มีเอกชน 1 ราย ที่เสนอเท่ากับราคากลางเป๊ะๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเอกชนรายนี้ไม่ได้ต้องการจะแข่งขันเสนอราคาเลย เพราะถ้าอยากชนะประมูลจริง ก็ต้องเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง เพื่อให้ชนะผู้เข้าแข่งขันรายอื่น และ

สาม ในหลายโครงการ ราคาที่ผู้เข้าประมูลแต่ละรายเสนอห่างกันไม่ถึง 1% ยิ่งตอกย้ำความเสี่ยง การฮั้วประมูล เพราะแสดงให้เห็นว่ามีโอกาสที่ผู้เข้าร่วมประมูลจะตกลงราคากันมาก่อน ไม่ต้องมาตัดราคากัน เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินของรัฐให้ได้มากที่สุด

ผมได้บอกผู้บริหาร กทม. ต่อไปว่า ถ้ากทม. จริงใจในการป้องกันการคอร์รัปชันจริงๆ แล้วจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของหน่วยงานผ่าน ACT Ai ตั้งแต่แรกหรือ ชักชวนให้ประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบโครงการใกล้บ้าน หรือ โครงการที่ตนเองสนใจผ่านระบบก็อาจจะพบความผิดปกติตั้งนานแล้ว สามารถดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกได้เอง โดยไม่ต้องรอให้สังคมมากดดันแบบนี้

ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่ผมไปร่วมแถลงข่าวกรณีซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายราคาแสนแพงของ กทม. ร่วมกับทีมผู้บริหาร กทม. ในฐานะภาคประชาชนที่ร่วมตรวจสอบการใช้งบประมาณรัฐด้วยเครื่องมือ ACT Ai เพื่อเสนอแนะให้ กทม. ตรวจสอบการทำงานภายในหน่วยงานด้วยเครื่องมือนี้ และเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันจับตาการทำงานของหน่วยงานรัฐทั้งหมดด้วย ACT Ai นี้ด้วยครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “รังนก” ก็โกงได้ : ตรวจสอบช่องโหว่กลไกการให้สัมปทานรังนกไทย

ส่องกลไกสัมปทาน เมื่อการทุจริตรังนกอาจทำให้งบรั่วไหล หากไม่มีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ แล้วเราจะป้องกันปัญหานี้ได้อย่างไร ? โดย KRAC สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการและการตรวจสอบการให้สัมปทานรังนกในภาคใต้ของประเทศไทย” (2562)

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | คอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงไทย : ปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และภาพลักษณ์ประเทศ

จะแก้อย่างไรถ้าอุตสาหกรรมประมงไทยคอร์รัปชัน ? ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมงระดับโลกของไทยอีกด้วย โดย KRAC สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชันขบวนการเครือข่ายนายหน้าแรงงานข้ามชาติเมียนมาในอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องของประเทศไทย” (2562)

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เบื้องหลังการทุจริตภาษีศุลกากร: เมื่อบริษัทปลอมกลายเป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษี

บริษัทปลอม vs ศุลกากร : หนีภาษีเขาทำกันอย่างไร ? วิธีป้องกันบริษัทปลอม แหล่งหนีภาษาศุลกากรหลักหมื่นล้าน !! กระบวนการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ? แต่ละตัวละครทำหน้าที่อะไร สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย” (2561)