คอร์รัปชันไทยภายใต้ร่มเงาของนักธุรกิจ-นักการเมือง

การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันในสังคมไทย ผ่านการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจและนักการเมือง ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองที่เข้าไปควบคุมกลไกของรัฐโดยตรง และการเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจที่สร้างความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ จะเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของการคอร์รัปชันที่มีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ และนำไปสู่การมองเห็นถึงพลวัตของการคอร์รัปชันที่ส่งผลกระทบกับผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างในปัจจุบัน

ในประเทศไทย ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและกลุ่มธุรกิจมีความซับซ้อนตั้งแต่ในอดีต โดยเริ่มตั้งแต่ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เกิดการปฏิบัติที่แตกต่างกันของเจ้าหน้าที่รัฐต่อธุรกิจที่ไม่ใช่ของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เป็นของชนกลุ่มน้อยชาวจีน จนนำไปสู่การที่เจ้าของธุรกิจต่างชาติต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อขอการคุ้มครองและการสนับสนุนจากนายทหารชั้นสูง ข้าราชการ และนักการเมืองที่มีอิทธิพล

จนเมื่อการปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลทหารใหม่ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับนักธุรกิจไทย ชาวจีน และชาวต่างชาติอื่น ๆ ภายใต้บริบทของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดดและการเติบโตของเมือง ซึ่งก่อให้เกิดการบูรณาการธุรกิจและการเมืองเข้าด้วยกัน และทำให้เกิดผู้เล่นกลุ่มใหม่ในการเมืองไทย ได้แก่ กลุ่มนักธุรกิจสมัยใหม่ในเมือง และกลุ่มนักธุรกิจใหม่ในต่างจังหวัด ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครอง อันส่งผลให้พวกเขาสามารถเข้าสู่สถานะของกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจที่สามารถเอื้อประโยชน์อย่างสูงต่อธุรกิจ และได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และข้อได้เปรียบในการดำเนินกิจกรรมผูกขาด

อีกทั้งยังมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนในปี พ.ศ. 2503 ที่ทำให้เกิดช่องทางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมของธุรกิจในเครือข่าย และกลุ่มนักธุรกิจใหม่ในต่างจังหวัด หรือกลุ่มบุคคลสำคัญในท้องถิ่นภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งก่อให้เกิดการเติบโตของกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และส่งผลให้กลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในยุคต่อมาที่พรรคการเมืองมีความจำเป็นต้องใช้คะแนนเสียงจากกลุ่มท้องถิ่นในการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่รัฐสภา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ผลการเลือกตั้งของพรรคชาติไทย ถือเป็นจุดสูงสุดของการเชื่อมต่อนักธุรกิจและการเมืองเข้าด้วยกัน เพราะพรรคชาติไทยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากกลุ่มธุรกิจทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จนได้รับเสียงข้างมาก โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2530-2534 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ที่เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมทุนของภาคเอกชนในรัฐวิสาหกิจ และการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้มีช่องทางในการคอร์รัปชันผ่านรูปแบบของค่านายหน้า และทำให้เกิดการกล่าวหาว่าโครงการเหล่านี้ มีส่วนช่วยให้นักธุรกิจการเมืองกอบโกยผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ และการให้สัมปทานที่รวมถึงเงินลงทุนและผลประโยชน์มหาศาล จนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 ที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของนักธุรกิจ-การเมือง และกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อ่อนแอลงและเริ่มหายไป ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2544 ในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ความสัมพันธ์ทางการเงิน และธุรกิจอันเป็นพื้นฐานของฝ่ายการเมืองได้กลับมาร้อยรัดเข้าด้วยกันอีกครั้ง และสร้างการเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นระหว่างกลุ่มธุรกิจ โดยที่ตัวแทนจากภาคธุรกิจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะรัฐมนตรี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าลักษณะและรูปแบบการทุจริตโดยนักธุรกิจ-นักการเมืองนั้น จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองที่เข้าไปควบคุมกลไกของรัฐโดยตรง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ โดยมีการสนับสนุนด้านนโยบาย ทรัพยากร และเงินทุนในการลงทุนของพวกพ้อง โดยการเกิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจเป็นการเพิ่มผู้แข่งขันรายใหม่ในเวทีการเมืองผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้โดยตรง และนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ผ่านการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา ซึ่งรูปแบบของการคอร์รัปชันในลักษณะดังกล่าว จะปรากฏชัดเจนขึ้นในระยะต่อมา ในลักษณะของพัฒนาการของการคอร์รัปชันที่มีความเกี่ยวโยงกับภาคเอกชน และกลายเป็นการคอร์รัปชันที่ส่งผลกระทบกับผู้คนในสังคมเป็นวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

พาย้อนดูคอร์รัปชันแบบไทย (แท้)

การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันในประเทศไทย ผ่านการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ของ 4 ช่วงเวลาสำคัญ ได้แก่ ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยุคหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ยุคของการเมืองแบบเปิด และยุคของการเมืองแบบร่วมสมัย …

คอร์รัปชันไทยภายใต้ร่มเงาของนักธุรกิจ-นักการเมือง

การทำความเข้าใจการคอร์รัปชันในสังคมไทย ผ่านการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจและนักการเมือง ในลักษณะที่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองที่เข้าไปควบคุมกลไกของรัฐโดยตรง …

You might also like...

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล

บทความวิจัย : กลไกป้องปรามการทุจริตของภาคประชาชนผ่านการสอดส่องและเสนอแนะ

การดำเนินกลไกป้องปรามการทุจริตผ่านคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ผู้บริหารในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินโครงการจะทำให้เกิดความโปร่งใสและความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ

บทความวิจัย : การเสริมสร้างเครือข่ายการต่อต้านการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรี

แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการต่อต้านทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสื่อสารระหว่างกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน การสร้างตัวอย่างที่ดี การสร้างสังคมหิริโอตัปปะ และการสนับสนุนระบบการร้องเรียน ความโปร่งใส การป้องกันการทุจริต รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้บริหาร