คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : ข้ออ้างภาครัฐ ข้อจำกัดความโปร่งใส

เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เมื่อสัปดาห์ก่อน ศาลปกครองกลางสั่งปรับ สำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.รวม 10,000 บาท กรณีไม่เปิดเผยข้อมูลเอกสาร คดี “นาฬิกายืมเพื่อน” ของ พล.อ.ประวิตร และให้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 3 รายการ ให้ถูกต้องครบถ้วน แบบไม่มีหน้ากระดาษเปล่า หรือเซ็นเซอร์บางข้อมูล ได้แก่ รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด, ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

ต้นสายปลายเหตุเกิดจากช่วงปลายปี 2560 ระหว่างที่ “ครม.ประยุทธ์ 3” ได้ร่วมกันถ่ายภาพหมู่ พล.อ.ประวิตร ยกมือขึ้นเพื่อบังแดดนาฬิกาหรูบนข้อมือได้โผล่ออกมาจากแขนเสื้อ ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ไม่ปรากฎข้อมูลในการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ตอนเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ในปี 2557 และเกิดเป็นกระแสในการขุดคุ้ยภาพถ่าย พล.อ.ประวิตร ในหลายสถานที่และเหตุการณ์จนพบว่ามีนาฬิกาหรูที่ พล.อ.ประวิตร ใส่อีกไม่ต่ำกว่า 20 เรือน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้ชี้แจงว่า “ยืมเพื่อนมา” นำไปสู่การส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ แต่กลายเป็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก “ยกคำร้อง” โดยอธิบายเหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวคือ “การยืมใช้คงรูป” ??? และเพื่อให้ได้มาซึ่งเหตุและผลของการยกคำร้อง ทำให้สื่อมวลชน รวมถึงนายวีระ สมความคิดในฐานะเครือข่ายประชาชน ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลในการไต่สวนคดีดังกล่าว ซึ่งตลอดช่วงเวลากว่า 9 ปีนับแต่เกิดเรื่อง ป.ป.ช. เองก็สู้คดีมาโดยตลอดซึ่งจนถึงวินาทีนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อใดที่สำนักงาน ป.ป.ช. จะเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วนตามคำสั่งของศาลฯ

นี่ไม่ใช่กรณีเดียวที่ ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบ อ้างว่ามี “ข้อจำกัด” ในการเปิดเผยข้อมูล อันเป็นสาเหตุมาจากข้อจำกัดของ “กฎหมาย” เช่นเดียวกับ กรณีการเปิดข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สส. สว. และผู้มีหน้าที่ต้องเปิดเผยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด จากเรื่องร้อนที่ดูไม่ค่อยเป็นกระแสเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กรณียึดถือครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส.2 หรือใบจอง ในโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่แปลงป่าดงพะทาย ท้องที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม จำนวน 40 แปลง เนื้อที่ 220 ไร่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่นายศุภชัยได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2551 2552 และ 2562 ตามลำดับ แต่หากวันนี้ผมต้องการจะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบออนไลน์ก็ไม่สามารถทำได้แล้ว ทำได้เพียงแค่เดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ที่สนามบินน้ำเพื่อขอเข้าดูเอกสารเท่านั้น

แม้ว่าในรัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และเป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่แล้วเมื่อ ป.ป.ช. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนและวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีการจำกัดระยะเวลาการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลาเพียง 180 วันเท่านั้น การกำหนดเวลาการเปิดเผยสามารถกระทำได้ แต่ไม่ควรขัดแย้งกับหลักการสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้เกิดการติดตามตรวจสอบ เปรียบเทียบระหว่างก่อนเข้ารับตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่งว่ามีความเปลี่ยนแปลงในทรัพย์สิน-หนี้สินมากน้อยเพียงใด หรือมีการเพิ่มขึ้น-ลดลงอย่างผิดปกติหรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นปัญหาใหม่ของการเข้าเว็บไซต์เพื่อไปดูข้อมูลดังกล่าว คือ ประชาชนสามารถเข้าดูข้อมูลได้แต่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลเก็บไว้ได้ โดยทางผู้เขียนเคยได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่อนุญาตให้บันทึกข้อมูล ทางเจ้าหน้าที่อ้างเหตุผลว่า “กฎหมายระบุให้เป็นการเปิดเผย ไม่ใช่การเผยแพร่”การปล่อยให้มีการดาวน์โหลดข้อมูลไปได้เท่ากับเป็นการเผยแพร่ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำได้ ขณะเดียวกันการเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ยังไม่ได้ครอบคลุมการเปิดเผยสำเนา “เอกสารประกอบ” การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แต่ข้อมูลดังกล่าวไปเปิดเผยไว้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. แบบออฟไลน์ โดยมีระยะเวลาประกาศเปิดเผยเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นข้อจำกัดและเป็นการเพิ่มต้นทุนในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามตรวจสอบเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. ควรทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตัวอย่างในการเปิดเผยข้อมูลเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส แต่กลับสร้างข้อจำกัดมากมายเสียเอง แม้องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้แนะนำว่าการใช้เครื่องมือตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีความสำคัญเนื่องจากสามารถช่วยป้องกันประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) และทำให้สามารถเจอความผิดฐานความร่ำรวยผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประสิทธิภาพก็ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของการบังคับใช้เครื่องมือและการกำหนดบทลงโทษด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าจากทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีของ “การอ้างข้อจำกัด” ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่จะนำไปสู่การไม่ส่งเสริมความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับอีกหลายชุดข้อมูลของภาครัฐในแทบจะทุกหน่วยงาน อาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะมีการกำหนดชุดข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อการส่งเสริมความโปร่งใสที่ชัดเจนว่าควรประกอบด้วยชุดข้อมูลใดบ้าง มีรายละเอียดอย่างไร ทำอย่างไรให้ข้อมูลที่เปิดนั้นมีคุณภาพข้อมูล สร้างประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และควรมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของภาครัฐให้เป็นข้อมูลสาธารณะบนหลักการ “เปิดเป็นหลักปกปิดเป็นข้อยกเว้น” เสียที

เพราะไม่อย่างนั้นแล้วหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ไม่อยากจะโปร่งใสก็คงเอา ป.ป.ช. เป็นตัวอย่างในการใช้กฎหมายมาเป็น“ข้ออ้าง” เพื่อจะไม่โปร่งใสเลียนแบบ ป.ป.ช. แน่นอนนน…

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ณัฐภัทร เนียวกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อ ‘งบก่อสร้าง’ ไม่ได้สร้างแค่ถนน แต่สร้างรายได้พิเศษให้บางคนด้วย

จากที่ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในนามนักวิชาการอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ผมถือว่าหน้าที่นี้คือโอกาสสำคัญที่จะได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

You might also like...

ยุุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชน

จากการวิเคราะห์ TOWS Matrix 4 ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐ สามารถพัฒนาเป็นโมเดลยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชนได้

KRAC Extract | LGBTQI+ กับคอร์รัปชัน: เมื่อศักดิ์ศรีถูกลดค่าในสังคมที่ไม่เท่าเทียม

ชวนเจาะลึกรายงาน “The Impacts of Corruption on LGBTQI+ Rights” ที่เผยให้เห็นว่า การคอร์รัปชันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่มันกระทบต่อชีวิต ศักดิ์ศรี และสิทธิของผู้คน มาร่วมเรียนรู้ว่า เราจะสร้างนโยบายต้านคอร์รัปชันที่เห็นหัวใจของความเป็นมนุษย์ได้อย่าง

KRAC Update เล่าข่าวต้านคอร์รัปชัน I หน่วยงานต้านโกงฮังการีตั้งเป้าหมาย เริ่มพัฒนา AI ต่อสู้คอร์รัปชันในอนาคต

ฮังการีรายงานผลการทำงานปีที่ผ่านมาพร้อมประกาศเริ่มพัฒนา AI แก้ปัญหาคอร์รัปชัน เพื่อเปิดทางตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างแบบเรียลไทม์