ลงมือสู้โกง : บรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืน (SDGs) และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย ‘การลดคอร์รัปชัน’

ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ จนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เป็นช่วงเวลาสำคัญประจำปีของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระดับโลก โดยหลายประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development) หรือ HLPF ที่มีเป้าหมายเพื่อติดตามและทบทวนความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 โดยในที่ประชุมจะร่วมกันพิจารณาความท้าทายใหม่ๆ และแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมีเวทีที่เท่าเทียมกับภาครัฐในการตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาต่อแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายต่างๆ ทำให้ข้อเสนอแนะที่ได้จากเวที HLPF มีความสดใหม่ สอดรับกับสถานการณ์ท้าทายที่นานาประเทศต้องเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในปี 2030 โดยแต่ละปีจะมีธีมและประเด็นเป้าหมายที่มุ่งเน้นแตกต่างกันไป ในปีนี้ดำเนินการภายใต้หัวข้อ“การฟื้นฟูศักยภาพให้กลับมาเข้มแข็งจากโควิด-19 และผลักดันการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ไปสู่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030”

ผู้เขียนในฐานะนักวิจัยที่ติดตามการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยมาตลอด รู้สึกตื่นเต้นกับการประชุม HLPF ในทุกๆ ปี เพราะเราจะได้เห็นความก้าวหน้าในการผลักดันเป้าหมายและตัวอย่างความสำเร็จของแต่ละประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถนำมาเป็นBest Practice ให้กับประเทศไทยได้ อย่างไรก็ดี ในบทความนี้คงจะไม่ได้รายงานผลของเวที HLPF 2565 เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการประชุม แต่ประเด็นในปีนี้ยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่องจากปี 2564 ที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงขอชวนผู้อ่านทุกท่าน มาร่วมกันทบทวนประเด็นสำคัญจากข้อเสนอแนะของเวที HLPF ในปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวแทนจากทั่วโลกได้ส่งสัญญาณสำคัญเพื่อเร่งฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ไว้หลายเรื่อง เช่นยุติความยากจนและความหิวโหย ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น โดยประเด็นเร่งด่วนเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 คือ เป้าหมายที่ 16 ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ ถึงแม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญมากต่อภาพรวมการดำเนินงานแต่ก็มีความยากในการนำไปปฏิบัติจริง เพราะเป้าประสงค์ภายใต้เป้าหมายที่ 16 มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับระบบการเมือง รูปแบบการปกครองและการบริหารงานของรัฐบาล เห็นได้จากผลสำรวจของสาธารณชนในหลายประเทศ พบว่าประชาชนไม่ได้ตระหนักถึงบทบาทของเป้าหมายเท่าที่ควร ซึ่งอาจมาจากการที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญด้วย ทำให้ขาดกลไกภาคประชาชนในการติดตามเป้าหมาย รวมถึงในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา องค์กร Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้ประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศ พบว่าเป้าหมายที่ 16 ในภาพรวมของทุกภูมิภาคอยู่ในสถานะท้าทายมาก และไม่มีความคืบหน้า

ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอวิสัยทัศน์ของเป้าหมายที่ 16 ซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายอื่นๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน และต้องเกิดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิผล ผ่านสถาบันของรัฐที่มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น เป้าหมายดังกล่าวจึงเป็นรากฐานของความสำเร็จที่ยั่งยืนของทุกเป้าหมาย และถูกยกเป็นประเด็นสำคัญเฉพาะด้านที่ต้องเร่งดำเนินการบนเวที HLPF อีกด้วย โดยได้เรียกร้องให้นานาประเทศร่วมกันสร้างสังคมที่มีสันติสุข มีความเท่าเทียม และมีความครอบคลุมมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้มีการเชื่อมโยงเป้าหมาย 4 ด้านนี้ไว้ด้วยกัน ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) เป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) เป้าหมายที่ 16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง) และเป้าหมายที่ 17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) เพราะการบรรลุเป้าหมายที่ 16 นั้นหมายถึง การที่แต่ละประเทศมีกลไกตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน และมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม การสร้างหลักประกันด้านสุขภาพ และการคุ้มครองทางสังคมกับทุกคนอย่างทั่วถึง เพราะสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันภายใต้สถานการณ์ของโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้มีอัตราการติดต่อโรคที่สูงขึ้นอันมาจากการผูกขาดยาและวัคซีน และการขาดหลักประกันสุขภาพในการเข้าถึงการรักษาของประชากรกลุ่มเปราะบาง

สอดคล้องกับที่ Ghada Waly ผู้อำนวยการบริหารสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานสหประชาชาติ (UN) ได้เน้นย้ำถึงผลกระทบของการทุจริตในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลที่สามารถนำไปสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้กับประชาชน ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรคที่จำเป็นและบริการทางสังคมหรือความช่วยเหลือจากรัฐในช่วงวิกฤต โดยได้คาดการณ์ว่าการทุจริต การติดสินบน การหลีกเลี่ยงภาษี และการเงินที่ผิดกฎหมาย
ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสูญเสียรายได้ประมาณ 1.26 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สามารถพัฒนาประเทศได้เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี นอกจากนี้ การทุจริตคอร์รัปชันยังส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายอื่นๆ เช่น การทุจริตในโรงพยาบาลส่งผลต่อเป้าหมายที่ 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) การทุจริตในภาคการศึกษาส่งผลต่อเป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) รวมถึงยังส่งผลต่อเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการที่ดำเนินการโดยรัฐ เช่น น้ำสะอาด หรือแหล่งพลังงานราคาถูกอีกด้วย

จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้นำที่ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างเห็นตรงกันว่าการทุจริตคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่องบประมาณโดยรวมของประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง ที่สำคัญยังเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 เช่น เกิดความไม่มั่นคงภายในประเทศ ประชาชนเผชิญกับความยากจนและความหิวโหย ขาดโอกาสในการมีความเป็นอยู่ที่ดี มีการจ้างงานที่น้อยลง ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งเสริมธรรมาภิบาล และการลดการทุจริตคอร์รัปชันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการภายใต้เป้าหมายที่ 16 โดยกำหนดเป้าหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไว้ในเป้าประสงค์ที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ผ่านตัวชี้วัดที่ 16.5.1 สัดส่วนของบุคคลที่เคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีการให้สินบนหรือถูกเรียกสินบน และตัวชี้วัดที่ 16.5.2 สัดส่วนขององค์กรธุรกิจที่เคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีการให้สินบน หรือถูกเรียกสินบน โดยใช้ตัวชี้วัดจากการประเมินของ UNODC และ World Bank อย่างไรก็ตาม Matthew Jenkins นักวิจัยจากองค์กรโปร่งใสนานาชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการติดตามความคืบหน้าในการลดปัญหาการคอร์รัปชันภายใต้เป้าประสงค์ที่ 16.5 ซึ่งระบุเป้าหมายเพื่อลดการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ แต่ตัวชี้วัดกลับมุ่งเน้นไปที่การติดสินบนในภาคราชการเท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมการทุจริตทางการเมือง การฟอกเงินและการล็อบบี้ ซึ่งเป็นปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศและประชาชน ทำให้การใช้ตัวชี้วัดดังกล่าวอาจไม่สะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์ในประเทศ

ในประเด็นนี้ สหประชาชาติและองค์กรโปร่งใสนานาชาติเองก็ได้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ปรับปรุงตัวชี้วัดให้มีความครอบคลุม เฉพาะเจาะจง เพื่อให้การรวบรวมข้อมูลและการกำกับดูแลเป้าหมายสะท้อนถึงข้อกังวลและสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ รวมถึงสนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล เพื่อสร้างความโปร่งใสและสร้างความไว้วางใจในการได้มาซึ่งข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการประเมินเชิงลึกที่นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหรือมาตรการในการแก้ปัญหาได้ทันที อันจะเป็นประโยชน์ต่อการวัดผลความคืบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและเทียบเคียงกับตัวชี้วัดระดับโลกได้ เช่น ประเทศอินโดนีเซียได้เพิ่มตัวชี้วัดที่จัดทำขึ้นในประเทศเพื่อติดตามเป้าประสงค์ที่ 16.5 เช่น ดัชนีประเมินพฤติกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ดัชนีประสบการณ์การทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะในภาคท้องถิ่น ดัชนีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริต และประเทศอังกฤษได้เพิ่มตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานการทุจริต เช่น สัดส่วนของเจ้าหน้าที่อาวุโสและสมาชิกรัฐสภาที่เปิดเผยผลประโยชน์ทางการเงิน สัดส่วนของผู้รายงานเรื่องสินบน และการมีกลไกแจ้งความคดีทุจริตสำหรับประชาชนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ประเทศไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดสถานการณ์คอร์รัปชันให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้

นอกจากนี้ องค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้มีข้อเสนอแนะให้นานาประเทศขับเคลื่อนเป้าประสงค์ 4 ด้านภายใต้เป้าหมายที่ 16 ไปพร้อมๆ กัน ในลักษณะของการบูรณาการตัวชี้วัดย่อยที่มีเป้าหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้แก่ เป้าประสงค์ที่ 16.4 ลดการลักลอบค้าอาวุธ ฟอกเงิน และต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรม เป้าประสงค์ที่ 16.5 ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ เป้าประสงค์ที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป้าประสงค์ที่ 16.10 การเข้าถึงข้อมูลและการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป้าประสงค์เหล่านี้เปรียบเหมือนภาพในฝันของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศที่บรรลุเป้าหมายที่ 16 ได้สำเร็จ ดังนั้น การทำภาพฝันนี้ให้เป็นจริง จึงไม่สามารถชี้วัดได้ด้วยเป้าประสงค์ที่ 16.5 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนในเป้าหมายอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะการลดการคอร์รัปชันต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ คือการมีสถาบันที่เข้มแข็ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ การมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการภาครัฐ การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน และการมีกลไกภาคประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งทั้งหมดสะท้อนอยู่ในเป้าประสงค์ 4 ข้อที่ระบุไว้ข้างต้น

สำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาความท้าทายที่เกิดขึ้นในการขับเคลื่อนเป้าประสงค์ที่ 16 ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเป้าหมายยังคงอยู่ในสถานะความท้าทายมากและไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะมียุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และมีหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชนและประชาสังคมที่ทำงานเรื่องเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันอยู่มากแล้ว แต่ยังขาดการสนับสนุนอย่างเป็นระบบในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยที่ผ่านมา มุ่งเน้นไปที่การลดการทุจริตในระดับเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าการพัฒนาระบบธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสถาบันหลัก อีกทั้ง ยังขาดความร่วมมือและประสานข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการที่ภาครัฐยังไม่มีฐานข้อมูลหรือตัวชี้วัดที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะใช้ประเมินแต่ละเป้าประสงค์ตามเป้าหมายที่ 16 รวมถึงขาดตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันในประเทศไทย และการสร้างช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมประเมินความเสี่ยง

ดังนั้น ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า หากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 จำเป็นต้องขับเคลื่อนเป้าหมายในลักษณะของการเชื่อมโยงตัวชี้วัดย่อย ที่เกื้อกูลกัน (Synergy) ระหว่างเป้าหมายการลดทุจริตคอร์รัปชันและองค์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ การสร้างหลักประกันการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน การเคารพสิทธิมนุษยชน การมีหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิผลในทุกระดับ การมีสถาบันที่โปร่งใสมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และการเข้าถึงข้อมูลเปิดที่สำคัญของประชาชน อันเป็นแนวทางที่มีประสิทธิผลในการต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน และส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายอื่นๆ ให้บรรลุผลสำเร็จได้ในคราวเดียวกันโดยไม่ทิ้งประเด็นสำคัญ หรือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชันไว้ข้างหลัง

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

สุภัจจา อังค์สุวรรณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

You might also like...

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล