“ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มีแผนสองในการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกที่สองที่เป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว” แถลงของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในการประชุมผู้นำระดับสูงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของการประชุมโลกร้อนสหประชาชาติ ครั้งที่ 26 หรือ COP 26 ที่ได้แสดงเจตนารมณ์อันแรงกล้าที่จะนำไทยไปสู่ประเทศเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutral) ในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NDCs) จากแผนเดิม 20% เป็น 40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า นี่คือคำมั่นสัญญาของประเทศไทยต่อประชาคมโลก ว่าเรามุ่งมั่นที่จะให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วท่านคิดว่า เป้าหมายนี้จะสำเร็จหรือไม่ครับ?
ยิ่งโลกแปรปรวนเพียงใดความปรวนแปรทางใจของมนุษยชาติก็ยิ่งทวีคูณเท่านั้น เนื่องจากมีข้อมูลที่สอดคล้องกับสภาพความโหดร้ายทางธรรมชาติอยู่เนืองๆ โดยเหตุการณ์ตอกย้ำความเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกได้เห็นพ้องกันถึงความโหดร้ายทางธรรมชาติคือ มหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ของปากีสถานในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา กินพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศ สาเหตุหลักๆ มาจากการละลายของธารน้ำแข็งที่ไหลลงทะเลสาบ และมรสุมที่กระหน่ำปากีสถานในช่วงก่อนหน้านี้กระทบประชากรกว่า 33 ล้านคน โดยเฉพาะในรัฐบาลูจิสถานและรัฐสินธ์ ที่อยู่ทางภาคใต้ ที่เป็นพื้นที่รับน้ำทั้งหมด โดยมีหลายพื้นที่จมอยู่ใต้บาดาล สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างน้ำประปา ไฟฟ้า และการคมนาคมพังพินาศโดยสิ้นเชิง จากรายงานพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ราว 1,500 คน และสามารถตีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 3.5 แสนล้านบาท (BBC NEWS ไทย, 2565)
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งที่ประเทศปากีสถานปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาทั้งโลก แต่ได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนทางภูมิอากาศที่ร้ายแรงมาก ซึ่งจากรายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลกปี 2021 โดย Germanwatch ปากีสถานเป็นประเทศอันดับ 8 ที่มีความเสี่ยงในการเผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวน ที่น่าตกใจอย่างมากคือ ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของรายงานดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำให้เป้าหมายที่พล.อ.ประยุทธ์แถลงข้างต้นเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรทำให้สำเร็จในเร็ววัน
จะเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะทำตามคำมั่นสัญญาไม่สำเร็จ? เป็นคำถามที่เมื่อท่านตรึกตรองแล้วคงตอบได้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ หากตัดเรื่องของระบบราชการที่ค่อนข้างอืดอาดตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ก็มีอีกสารพัดปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงฝันในช่วงเวลาที่ต้องการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นตัวฉุดรั้งประเทศเราให้ก้าวตามไม่ทันโลก
จากงานศึกษาที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า “The limits of democracy in tackling climate change” (Povitkina, 2018) บอกว่าการคอร์รัปชันทำให้ประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวนลดลง จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณของข้อมูลการคอร์รัปชัน และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยจะสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดีเมื่อเกิดคอร์รัปชันที่ต่ำ และหากเกิดคอร์รัปชันสูง ระบอบประชาธิปไตยก็อาจให้ผลลัพธ์ของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต่างจากประเทศที่ปกครองโดยเผด็จการหรืออำนาจนิยม เช่น ประเทศที่ใช้ปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่เกิดการคอร์รัปชันสูงอย่าง จาไมกา กับประเทศเผด็จการอย่างอาเซอร์ไบจาน ที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากพอๆ กัน และดูเหมือนว่าผลกระทบของการคอร์รัปชันจะส่งผลต่อประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างมากจนประเทศไหนที่มีคอร์รัปชันหนักๆ ก็ทำให้ระบบทางการเมืองดูจะไม่ได้ส่งผลลัพธ์ที่แตกต่างกันนัก ดังนั้น การคอร์รัปชันจึงเปรียบเสมือนมะเร็งร้าย ยาที่ชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ก็ไม่อาจรักษาให้ได้ผลลัพธ์ที่สังคมมุ่งหวังได้ การลดการคอร์รัปชันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำสิ่งแวดล้อมไปสู่เป้าหมายได้
เมื่อย้อนมามองประเทศไทยที่ติดรั้งท้ายคะแนนความโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่อง ท่านคิดว่าระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบของเราจะมีประสิทธิภาพเพียงพอแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือครับ? โดยจากข้อมูลดัชนีรับรู้การทุจริต (CPI) ที่จัดทำโดย Transparency International ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยถูกประเมินได้ 35 คะแนนอยู่ที่อันดับ 110 จาก 180 ประเทศ ซึ่งหลายสิบปีที่ผ่านมาคะแนนและอันดับก็ไม่ต่างจากนี้เท่าไรนัก นั่นหมายความว่าเราสามารถเห็นการทุจริตคอร์รัปชันได้โดยทั่วไป เมื่อเป็นแบบนี้แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าประเทศเราจะสามารถบรรลุตามคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาคมโลกไว้ได้
สำหรับแนวทางการทำให้การจัดการสิ่งแวดล้อมดีขึ้น นั่นก็คือการทำให้การจัดการสิ่งแวดล้อมของไทยมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนนั่นเองครับ เพราะการมีส่วนร่วมจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการคอร์รัปชันได้ ผ่านประชาชนที่เข้าร่วมกระบวนการจัดการ และตรวจสอบนอกเหนือจากองค์กรของรัฐที่อาจจะเข้าไม่ถึงในเชิงพื้นที่ โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมในไทย เช่น การขับเคลื่อนป่าชุมชนของรีคอฟ (RECOFTC ประเทศไทย) ที่เชื่อว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ คนสามารถปกป้องป่าจากกลุ่มนายทุนหรือผู้หวังผลประโยชน์ที่จะกระทำการคอร์รัปชันร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการรักษาผลตอบแทนจากที่ป่ามอบให้กับคนในพื้นที่ในลักษณะมีอยู่ มีกินเพราะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยไม่แบ่งแยก จนเกิดเป็น Living Landscape (ภูมิทัศน์ชีวิต) ขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดทำให้การอนุรักษ์ป่ามีความยั่งยืน เกิดจิตสำนึกต่อคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมปกป้องป่าจากภายใน แตกต่างจากกระบวนการของรัฐที่รื้อ ไล่ บังคับออก โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังและศักยภาพของกลุ่มคน
อย่างไรก็ตามธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในไทยยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก ทั้งที่เป็นร่มใหญ่ของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่เป้าหมายของประเทศที่วางไว้ได้ หลายๆ ครั้งที่ถึงแม้จะมีกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นแต่กลับติดอำนาจรัฐ และผู้มีอิทธิพล ที่ใช้กฎหมายในทางไม่ชอบเพื่อหวังผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงฐานทรัพยากร และคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงการออกกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงก็ถูกตีตกไป โดยไม่ได้ชี้แจงเหตุผลอันสมควร
สุดท้ายนี้ คอร์รัปชันยังคงเป็นตัวการฉุดรั้งหลายๆ โอกาสที่เราจะสามารถพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมและสมควรแก่เวลาแล้วหรือไม่ที่เราจะมาตัดเนื้อร้ายเหล่านั้นทิ้งไป ด้วยการผลักดันธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศไม่ใช่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพราะเราไม่มี “แผนสอง” อีกต่อไป เรามีแค่แผนหนึ่งที่ต้องทำให้ดีเท่านั้นครับ
จิรศักดิ์ แก้วเจริญ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”