ลงมือสู้โกง : เราจะทำตามสัญญา…ได้สักเรื่องไหมนะ?

ยังไม่ทันผ่านพ้นเดือนแรกของปีใหม่ ท่ามกลางปัญหาราคาของกินของใช้ที่แพงขึ้น ไม่ว่าจะเนื้อหมู ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม และอีกหลายอย่าง ขนาดยังไม่ถึงเทศกาลตรุษจีน ไม่รู้ว่าพอถึงช่วงนั้นราคาสินค้าต่างๆ จะขึ้นไปอีกเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมูที่เป็นมหากาพย์เถียงกันไปมาหลายสัปดาห์ว่า สรุปแล้วโรคระบาดเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เกิดขึ้นนานแค่ไหน และเป็นสาเหตุที่ทำให้หมูแพงหรือเปล่า การเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวค่อนข้างลำบากเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามบ่ายเบี่ยงเลี่ยงการตอบคำถามสื่อ จนมีนักข่าวไปสอบถามนายกรัฐมนตรีว่าจะแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงอย่างไรได้บ้าง ควรมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ คำตอบของนายกรัฐมนตรีคือ “จะเอาเงินมาจากไหน เธอพูดก็ได้หมด แต่เธอก็ต้องหาเงินมาให้ได้ก่อน รัฐบาลจะต้องมีเงินก่อน” (17 ม.ค. 2565)

พอได้ยินแบบนี้แล้ว เลยอยากจะชวนท่านผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 รวมถึงทวนความจำให้กับท่านนายกฯ ที่วันนั้นบนถนนทุกสายทั่วประเทศ เราต่างเห็นป้ายหาเสียงของหลายพรรคการเมือง ที่นอกจากจะมีรูปผู้สมัคร หัวหน้าพรรคไปจนถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้วยังเห็นการประชันนโยบาย ที่หลายพรรคนำเสนอเพื่อพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตและจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคแกนนำรัฐบาลที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เคยนำเสนอนโยบายต่างๆ ไว้ เช่น

“ดันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท” “เงินเดือน ป.ตรี 2 หมื่น อาชีวะ 1.8 หมื่น”.

“เด็กจบใหม่ยกเว้นภาษี 5 ปี” “ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้า ออนไลน์ 2 ปี” “ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10%”

แต่จนถึงวันนี้ผ่านเวลาไป 2 ปีกับอีกเกือบ 200 วันสิ่งที่เห็นเดินหน้าคือ “เลือกความสงบจบที่ลุง”เพราะจนวันนี้สงบเงียบไปหลายนโยบายที่พรรคแกนนำรัฐบาลหาเสียงไว้ ที่เห็นจะไม่เงียบและเสียงดังมีความเคลื่อนไหวอยู่ 2 อย่าง คือ เสียงของท่านนายกฯ และเสียงของ สส. พรรครัฐบาลที่ทะเลาะกันเอง จนเปลี่ยนหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลไปสองครั้ง เปลี่ยนที่ทำการพรรคไปสองหน มาถึงเลขาธิการพรรคคนล่าสุดโดนพรรคตัวเองขับออก หัวหน้าพรรคชุดแรกไปตั้งพรรคใหม่อีกรอบแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นเลยคือ นโยบายที่ได้นำเสนอไว้กับพี่น้องประชาชนได้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ซ้ำร้ายกลับโดนถามกลับจากผู้นำรัฐบาลว่า “จะเอาเงินจากไหน” ในขณะที่หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า (11 ม.ค. 2565)คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ กรอบงบประมาณปี 2566 ให้กองทัพอากาศ พิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีของกองทัพอากาศ เพื่อทดแทนเครื่องบิน F16งบประมาณ 13,800 ล้านบาท

แต่จะว่าพรรครัฐบาลทุกพรรคก็ไม่ได้ เพราะก็มีบางพรรคที่พยายามทำตามนโยบายหาเสียงไว้ทั้งที่เห็นชัดๆ ก็คงจะเป็นเรื่องการผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมาย (ที่วันนี้ยังเถียงกันอยู่ว่าปลูกได้หรือปลูกไม่ได้)และนโยบายประกันรายได้เกษตรกร (แต่ก็ยังแก้ปัญหาราคาสินค้าแพงไม่ได้) ผ่านการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรู้ด้วยการใช้งบประมาณของกระทรวงมาทำสื่อโฆษณาโปรโมทนโยบาย จัดงานอีเว้นท์ใส่รูปรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงติดไปทั่วทุกหนแห่ง

แม้ว่ามีกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ระบุไว้ใน มาตรา 57 ว่า “การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึง… วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย” ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าแท้จริงแล้วก่อนการเลือกตั้งพรรคแกนนำรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรา 57 ไว้อย่างไร และทำไมในวันนี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคถึงบอกว่า “จะเอาเงินจากไหน”

เอาเป็นว่าเราจะไม่ตั้งความหวังว่าแต่ละพรรคจะออกมาโปรโมทว่าตัวเองทำอะไรไปบ้างอยู่ฝ่ายเดียวแต่เราทุกคนในฐานะประชาชนควรจะสามารถติดตาม-ตรวจสอบได้ว่าการผลักดันนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้นำเสนอไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีการดำเนินการไปแล้วบ้างหรือไม่ ทำแล้วกี่ข้อจากทุกเรื่องที่หาเสียงไว้ เป็นข้อมูลเผื่อไว้ประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งในครั้งต่อไป

ในต่างประเทศมีแนวคิดเรื่อง Promise Tracker(การติดตามคำสัญญา) ในการนำเทคโนโลยีมาช่วยประชาชน ในกระบวนการติดตามสัญญาของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงไว้ และยังเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบของ “ผู้แทนราษฎร” ให้รู้ว่าประชาชนที่มอบอำนาจให้เขาไปทำหน้าที่แทนนั้นจับตาการทำงานของเขาอยู่ว่าทำตามที่สัญญาเอาไว้หรือไม่ ผ่านการใช้และรวบรวมข้อมูลที่เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือของคนในแต่ละชุมชน สังคม หรือประเทศ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและสร้างบทสนทนาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งในระดับต่างๆ ทั้งท้องถิ่นและระดับประเทศเพื่อสร้างการพัฒนา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ promisetracker.org/en/about และ thematter.co/thinkers/120-promise-tracker)

ตัวอย่างเครื่องมือ Promise Tracker ที่ภาคประชาชนในต่างประเทศสร้างขึ้น เช่น polimeter.org สำหรับติดตามการทำงานของนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด และนักการเมืองในประเทศแคนาดา นำเสนอข้อมูลจำนวนคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ และเปรียบเทียบสถานะคำสัญญานั้นๆ ในรูปแบบกราฟว่าเรื่องใดดำเนินการแล้วหรือไม่ หรือ Biden Promise Trackerของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ที่ได้พูด สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ นำมารวบรวมโดยสำนักข่าว PolitiFact (www.politifact.com/truth-o-meter/promises/biden-promise-tracker) และนำเสนอข้อมูลว่ามีเรื่องใดบ้าง กี่เรื่องที่ได้ดำเนินการแล้ว กี่เรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ กี่เรื่องที่ยังไม่คืบหน้า

แต่อย่างพึ่งหมดหวังครับ เพราะเร็วๆ นี้ ประเทศไทยของเราก็กำลังจะมี Promise Tracker ที่พัฒนาโดยภาคประชาชน “ทีม #WeVisDemo กำลังทำโปรเจกท์
“Promise Tracker ติดตามคำสัญญาตอนหาเสียง”อยู่ หากใครอึดอัดใจกับการใช้คำพูดเปลืองของพรรค/นักการเมืองไทย เรายังหาคนมาช่วยกันทำข้อมูล +develop เว็บ” (ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/wevisdemo/) ใครที่สนใจก็เข้าไปร่วมไม้ร่วมมือกันได้นะครับ อย่างน้อยก็จะได้ทำให้เรามีฐานข้อมูลเอาไว้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นอีกชุดหนึ่ง นักการเมืองเองก็จะได้รู้ว่าที่หาเสียงไปมีคนติดตามอยู่ และเราเองก็จะได้ไม่เผลอเลือกนักการเมืองที่พูดแล้วไม่ทำครับ

แต่ก็ไม่แน่ใจว่าวันที่เครื่องมือพัฒนาเสร็จ รัฐบาลนี้จะยังอยู่ไหมนะครับ !

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

ณัฐภัทร เนียวกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล