แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ผล

ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงจุดที่ต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาคส่วนในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของไทย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในสังคม

จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบโครงสร้างของเครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันบนพื้นฐานของพันธกิจและสภาพแวดล้อมของเครือข่ายที่องค์กรต่าง ๆ ดำเนินงานกันอยู่ในปัจจุบัน พบว่า อุปสรรคในการทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือของเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ภายใต้กรอบทฤษฎี Inter-Organizational Collaborative Capacity Model ได้แก่ ด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล ซึ่งมีรายละเอียดของอุปสรรคที่แยกย่อยไปในแต่ละหมวดหมู่ที่เกิดขึ้นบ่อยและมีร่วมกันมากที่สุด 11 ประเด็นย่อย ประกอบด้วย

หนึ่ง ด้านกลยุทธ์ โดยพบอุปสรรคที่เกิดขึ้น ได้แก่ (1) การขาดการมีเป้าหมายร่วมกัน ที่ถึงแม้ว่าองค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันต่าง ๆ จะมีปลายทางเดียวกัน คือการลดปัญหาคอร์รัปชัน แต่ในลักษณะการทำงานที่ผ่านมา จะเป็นการนำเป้าหมายของทุกองค์กรมารวมกัน แล้วแยกย้ายกันทำงานของตนเองมากกว่าจะร่วมกันตั้งเป้าหมายเพื่อการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน โดยเฉพาะในองค์กรภาครัฐที่ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวด และทำให้การปรับเป้าหมายบางส่วนเพื่อให้เข้ากับเป้าหมายขององค์กรอื่นทำได้ยาก และ (2) การขาดความตั้งใจจริงที่จะร่วมมือ ซึ่งเกิดจากการที่หลายองค์กรไม่มีการส่งผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจไปเข้าร่วม เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกัน ทำให้ขาดพันธสัญญา (Commitment) อย่างเป็นทางการ และทำให้การสร้างความร่วมมือไม่ประสบความสำเร็จ

สอง ด้านโครงสร้าง โดยพบอุปสรรคที่เกิดขึ้น ได้แก่ (1) การขาดความเข้าใจระบบ ซึ่งเกิดจากการไม่เข้าใจกระบวนการทำงานขององค์กรอื่น โดยเฉพาะเมื่อเป็นความร่วมระหว่างองค์กรที่อยู่คนละภาคส่วน ทำให้ไม่สามารถออกแบบวิธีการทำงานระหว่างกันได้อย่างเหมาะสม และนำไปสู่การล้มเลิกความพยายามในการร่วมงานกัน (2) การขาดความชัดเจนในขอบเขตงานรับผิดชอบ ซึ่งเกิดจากการยึดตัวจำนวนโครงการเป็นหลักมากกว่าวิสัยทัศน์ในการทำงาน จึงทำให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละองค์กรต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากงานเดิม (3) ระบบการดำเนินงานของหลายองค์กรไม่อำนวยให้การร่วมมือเป็นไปได้ง่าย เช่น กระบวนการขออนุญาตเข้าถึงเอกสาร หรือกระบวนการอนุมัติงานที่ซับซ้อน ที่ทำให้ระบบการทำงานไม่เอื้อต่อการสร้างความร่วมมือ และ (4) การขาดความพร้อมและความตั้งใจที่จะลงทุนด้านทรัพยากร ซึ่งมักจะพบปัญหานี้ในการทำงานของภาคประชาสังคม ที่ขาดทรัพยากรทางการเงินและทรัพยากรบุคคลมาสนับสนุนการรวบรวมองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศ

สาม ด้านแรงจูงใจ โดยพบอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ การขาดแรงจูงใจในการสร้างความร่วมมือ ที่ขาดการการเสนอการตอบแทนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ทำงานมีแรงจูงใจในการทำงานด้านเครือข่ายมากขึ้น และส่งผลให้ดึงดูดทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมาร่วมงานได้ยาก รวมถึงการขาดทรัพยากรทางการเงินก็ทำให้การสร้างความร่วมมือที่กำลังเกิดขึ้นหยุดชะงัก ไม่สามารถพัฒนาต่อได้

สี่ ด้านกลไกระหว่างองค์กร โดยพบอุปสรรคที่เกิดขึ้น ได้แก่ (1) การมีความเห็นไม่ตรงกัน หรือมีความขัดแย้งกันเรื่องระบบการทำงาน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในระดับองค์กร เช่น เรื่องระบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นไม่เท่ากัน หรือข้อบังคับและค่านิยมขององค์กรหนึ่ง ๆ ที่ทำให้องค์กรอื่นไม่สามารถเข้ามาใช้ทรัพยากรขององค์กรนั้น ๆ ในทางที่มีประโยชน์ได้ (2) การขาดพื้นที่หรือบุคคลที่เป็นตัวกลางในการแนะนำเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการผลักดันโครงการในระยะยาวที่ไม่มีระบบสนับสนุนความร่วมมือ และเกิดการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันได้ง่ายระหว่างองค์กร และ (3) การขาดความเป็นที่รู้จัก ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กร และเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจในระบบและพันธกิจหรืองานขององค์กรนั้น ๆ

ห้า ด้านบุคคล โดยพบอุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ ทัศนคติของคนในองค์กร ที่บางองค์กรไม่สนใจที่จะทำงานด้านการสร้างความร่วมมือ เพราะมีทรัพยากรที่ครบถ้วนสม่ำเสมอ ทำให้ไม่มีแรงกดดัน หรือกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางาน หรือแบ่งปันทรัพยากรร่วมกับองค์กรอื่น รวมไปถึงทัศนคติด้านความกลัวที่จะสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และทำให้เป็นอุปสรรคต่อการริเริ่มสร้างความร่วมมือตั้งแต่ต้น

จะเห็นได้ว่า ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือของเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงจุดที่ควรพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาคส่วนในการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันของไทย ซึ่งการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลในสังคม

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้การร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันในไทยไม่ได้ผล

ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านกลยุทธ์ ด้านโครงสร้าง ด้านแรงจูงใจ ด้านกลไกระหว่างองค์กร และด้านบุคคล …

แล้วที่ผ่านมาเราต่อต้านคอร์รัปชันกันยังไง

“คอร์รัปชัน” และ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” ได้ถูกศึกษาและอธิบายถึงลักษณะและความหมายในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านประเด็นและมุมมองที่มีต่อปัญหาผ่านแนวคิดที่หลากหลาย …

ออกแบบเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชันให้เท่าทันการโกง

ในการพัฒนาและออกแบบเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หลักการมีส่วนร่วม หลักความโปร่งใส และหลักความรับผิดชอบ …

You might also like...

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต

บทความวิจัย : การพัฒนารูปแบบป้องกันการทุจริตเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของประชาชน ในอำเภอเมือง จังหวัดเลย

การพัฒนารูปแบบการป้องกันการทุจริตอย่างยั่งยืน ควรการสร้างค่านิยมด้านจริยธรรมวิชาชีพร่วมกันของพนักงาน โดยการจัดสวัสดิการอย่างเท่าเทียม และยึดหลักความโปร่งใสและความสามารถของพนักงาน เพื่อให้ภาครัฐและประชาชนสามารถตรวจสอบได้ รวมถึงมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักธรรมาภิบาล