ลงมือสู้โกง : Bully เพราะไม่ตั้งใจ จึงอยากให้เข้าใจผ่านมุมมองธรรมาภิบาล

“นี้เธอ อ้วนเป็นหมูเชียว” อาจเป็นประโยคพูดเล่นกับเพื่อนที่คิดว่าใครหลายคนต้องเคยแซวหยอกล้อด้วยความสนุกสนานกันเป็นปกติโดยไม่ได้คิดอะไร แต่ใครจะรู้ว่าการกระทำที่เคยชินเช่นนี้ คือที่มาของการสร้างวัฒนธรรมการรังแกกันในสังคมไทยที่ฝังรากลึกด้วยคำว่า “ไม่ได้ตั้งใจ” แต่ผลกระทบทางความรู้สึกของผู้ที่ได้ฟังนั้นกลับรุนแรงและบาดลึกเกินใครจะคาดถึง ผู้เขียนเองก็ต้องยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่เคยบูลลี่ (bully) คนอื่นด้วยการใช้คำพูดล้อเล่น ล้อเลียนเพื่อนด้วยเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกหรือเรื่องปมด้อยของเพื่อนเช่นกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่จำได้ดีคือ เราไม่ได้มีเจตนาตั้งใจทำร้ายจิตใจหรืออยากให้เพื่อนเสียใจ แต่ที่ทำไปเพราะรู้สึกสนุกและคิดว่ามันเป็นเรื่องตลก

การบูลลี่ (bully) เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย ใครหลาย ๆ คนจึงยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากนัก จากการศึกษา “โครงการวิจัยการแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดย ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ ในปี 2561 ได้อธิบายเกี่ยวกับการบูลลี่ไว้ว่า การแกล้งกันในสังคมไทยมักถูกมองว่าเป็นรูปแบบการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนอย่างหนึ่งด้วยการหยอกล้อ หรือแซวเล่นกันตามประสามากกว่าเป็นการแสดงออกในเชิงเจตนาทำร้ายรังแกให้รู้สึกไม่ดี เช่น การเรียกเพื่อนสนิทด้วยชื่อพ่อแม่ หรือ การเรียกเพื่อนด้วยลักษณะรูปลักษณ์ หน้าตา เช่น “ไอ้ดำ” “ไอ้แว่น” เป็นต้น จากการศึกษายังพบว่านักเรียนส่วนมากกว่า 91% เคยถูกเพื่อนแกล้งถึงขั้นที่ทำให้ตนเองเสียใจ ไม่พอใจ หรือเสียความรู้สึก โดยการกลั่นแกล้งกันด้วยวาจาเป็นวิธีการแกล้งกันของเด็กนักเรียนที่พบมากที่สุด

ประเด็นที่น่าสนใจจากผลการศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าการแกล้งกันของเด็กนักเรียนไทยไม่ได้มีแค่ในชีวิตจริง แต่ยังมีความเชื่อมโยงไปถึงการแกล้งกันในโลกออนไลน์หรือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์(Cyberbullying) แตกต่างจากในต่างประเทศที่การแกล้งกันในโลกออนไลน์มักจะเกิดจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กนักเรียนหลายคนถึงประสบการณ์ Cyberbullying ที่เคยเจอ เกือบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขามักจะโดนเพื่อนทั้งที่สนิทและไม่สนิทแกล้งในโลกออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียฮอตฮิตอย่าง Facebook Instagram Twitter และTiktok โดยส่วนใหญ่บอกว่าถูกแกล้งด้วยวิธีการพิมพ์ข้อความแสดงความคิดเห็น (comment) เชิงลบต่อโพสต์ต่างๆ เช่น เพื่อนห้องเดียวกันมาแสดงความคิดเห็นต่อรูปของตนใน Facebook หรือตอบกลับใน Instagram Story ว่า “แต่งกี่แอป” “ขาใหญ่จัง” “ดำ” เป็นต้น พวกเขาเล่าให้ฟังว่ารู้สึกไม่ดี ไม่มั่นใจ และกังวลทุกครั้งที่เห็นคอมเมนต์จากเพื่อนในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ หน้าตา หรือผิวพรรณ (body shaming) ในบางรายเปิดเผยว่า เมื่อตนถูกแกล้งในโลกออนไลน์ด้วยลักษณะการถูกวิจารณ์เปรียบเทียบหรือ พูดล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกบ่อยครั้งส่งผลให้ตนรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตนไม่สวย กลายเป็นคนหวาดระแวง วิตกกังวลและไม่กล้าที่จะโพสต์รูปตัวเองในโลกออนไลน์อีก จุดที่น่าสนใจคือเด็กนักเรียนที่เคยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ มากกว่าครึ่งยอมรับว่าตนเองก็เคยเป็นผู้ที่บูลลี่คนอื่นในโลกออนไลน์โดยไม่ได้ตั้งใจและตั้งใจเช่นกัน

บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งจากบทความ “มองปัญหาการ“บูลลี่” แบบไทยๆ กับ ธานี ชัยวัฒน์ โดย The 101 World ได้นำเสนอเอาไว้ว่าการบูลลี่ในสังคมไทยสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ไม่ต้องรับผิดชอบ(unaccountability) ผู้ที่ถูกแกล้งไม่สามารถหาความชอบธรรม(fairness) จากการโดนกระทำให้เจ็บช้ำน้ำใจหรือทำให้เสียความรู้สึกได้ ในขณะเดียวกันการแกล้งกันแบบคนไทยที่มองว่า “ไม่ตั้งใจ ไม่ผิด” ปัดความรับผิดชอบต่อผลของการกระทำที่ตนก่อ ค่านิยมที่เกิดจากคนหมู่มากรังแกคนกลุ่มน้อย และการตั้งบรรทัดฐานอันหนึ่งอันเดียวเพื่อใช้เป็นไม้บรรทัดวัดผู้อื่นที่แตกต่างหลากหลายในสังคม เช่น แนวคิดเรื่องความงามที่มองว่าผู้หญิงผอมคือคนสวยผู้หญิงผิวคล้ำคือคนไม่สวย ค่านิยมเหล่านี้หล่อหลอมให้คนในสังคมไทยเติบโตมากับความเคยชินว่าการบูลลี่คนอื่นเป็นเรื่องปกติ ยิ่งเห็นได้ชัดจากกรณีการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ เด็กนักเรียนที่ผู้เขียนได้ร่วมพูดคุยต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าการถูกแกล้งในโลกออนไลน์โดยคนที่ไม่รู้จัก สืบหาไม่ได้ว่าเป็นใครมาจากไหน และไม่รู้ที่มาที่ไปของสาเหตุในการแกล้ง เหมือนกับ “มีคนมาขี้ทิ้งไว้ แล้วก็ไป”เกิดเป็นความรู้สึกตกค้างในใจที่ส่งผลรุนแรงกว่าการโดนแกล้งในชีวิตจริง

การบูลลี่เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นอย่างชัดเจน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นเพียงการแกล้งกันด้วยคำพูด ด้วยร่างกาย หรือด้วยสื่อโซเชียลออนไลน์ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกกระทำคือสิ่งที่เราในฐานะผู้กระทำไม่สามารถปฏิเสธและหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการฝึกให้เด็กได้เรียนรู้ความเป็นพลเมือง (civic education) และเข้าใจวิถีการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างสามารถเริ่มต้นได้จากในรั้วโรงเรียนด้วยการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการปรับใช้หลักธรรมาภิบาล การหยิบเอาหลักความรับผิดชอบ (accountability) หลักความยุติธรรม (fairness) และหลักการมีส่วนร่วม (participation) มาใช้เป็นแนวทางให้เยาวชนได้ฝึกรู้จักการรับผิดชอบ เรียนรู้ที่จะยอมรับต่อผลของการกระทำทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ รู้จักเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลายของคนในสังคม ไม่ยกเอาบรรทัดฐานส่วนตนใช้ตัดสินผู้อื่น ช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน ซึ่งผลสุดท้ายพวกเขาจะสามารถตกผลึกได้ว่าการแก้ไขสถานการณ์การบูลลี่ในสังคมไทยสามารถเริ่มต้นได้จากตนเอง

ในฐานะของคณะทำงานโครงการ We The Students ที่พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ wethestudents.co ให้เป็นเสมือนพื้นที่สำหรับนักเรียนได้ร่วมกันสร้างเกณฑ์มาตรฐานที่ดีในโรงเรียน ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประเมินคุณภาพ และพัฒนาสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนร่วมกับคุณครูหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากโครงการนี้เอง ทำให้ผู้เขียนเห็นถึงแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์การบูลลี่ของเด็กนักเรียนได้ด้วยการส่งเสริมให้พวกเขามีพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยน และร่วมกันสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับสังคม หรือ Code of conduct ที่สนับสนุนการยอมรับความเเตกต่าง ไม่มองข้ามเเม้เพียงการกระทำที่เล็กน้อยของตนเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมภายใต้กระบวนการเรียนรู้ธรรมาภิบาลผ่านการปฏิบัติจริงอันจะปลูกฝังให้พวกเขามีความรับผิดชอบต่อสังคมมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงเเก้ไขสถานการณ์ Bully และCyberbullying ให้ดีขึ้นได้โดยเริ่มจากพวกเขาเอง

หากท่านผู้อ่านสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ We The Students สามารถรับชมวีดีโอนำเสนอโครงการได้ที่ Youtube ช่อง We The Students Thailand และติดตามข่าวสารการดำเนินโครงการ We The Students ได้ที่เฟซบุ๊คเพจ We The Students Thailand

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

KRAC Hot News I ปลดล็อกรังนกจากถ้ำสู่บ้านอย่างไร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต

การส่งออกรังนกไทยมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจรังนกจึงสร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่หากขาดการกำกับดูแลให้โปร่งใส อาจจะก่อให้เกิดผลเสียมหาศาลกับธุรกิจไทยได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้